ไทยติดเชื้อโอมิครอน กลายพันธุ์ใหม่ 81 คน ชี้ระบาดหนักในยุโรป

โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 – BA.5

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เผยพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 กลายพันธุ์ ชี้กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในยุโรป และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในโปรตุเกส คาดอังกฤษคิวถัดไป หลังจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่ 4 วันเต็ม คนร่วมงานเมินใส่หน้ากากอนามัย

ระบุในไทยล่าสุดพบแล้ว 81 ราย เชื่อมีความเป็นไปได้สูงจะเข้ามาระบาดแทนที่สายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1 แถมหนามที่กลายพันธุ์จับกับเซลล์ปอดของมนุษย์ได้ดีขึ้น อันตรายถึงชีวิต

วันที่ 23 มิถุนายน 2565 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี รายงานว่า ขณะนี้โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 กำลังเกิดความกังวลไปทั่วโลก โดยล่าสุดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามเพื่อให้เข้าจับกับเซลล์ปอดของมนุษย์ได้ดีขึ้น เหมือนกับสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดและมีอาการติดเชื้อที่รุนแรงในอดีต ต่างจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 และ BA.2 ซึ่งไม่พบการกลายพันธุ์ในบริเวณดังกล่าว

ส่วนหนามของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 ที่เปลี่ยนแปลงไปสามารถเป็นตัวเชื่อมให้ผนังของหลายเซลล์หลอมรวมเป็นเซลล์เดียว (cell fusion หรือ syncytia formation) ดึงดูดให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อเข้ามาทำลายเกิดการอักเสบ (ของปอด) ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ (life-threating) (ภาพ 1)

"โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.4 – BA.5

สำหรับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ขณะนี้กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในยุโรป โดยเฉพาะในอังกฤษเกิดความตื่นตระหนกเป็นพิเศษในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสืบเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองใหญ่ 4 วันระหว่างวันที่ 2-5 มิถุนายน 2565 ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการพบปะสังสรรค์ใกล้ชิดโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน นำมาสู่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43 ในสัปดาห์ถัดมา (ภาพ 2)

"โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.4 – BA.5

นอกจากนี้ในทวีปอเมริกาเหนือ สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ดูเหมือนจะแพร่ระบาดได้ดีกว่า BA.2.12.1 และมีความเป็นไปได้สูงที่จะระบาดเข้าไปแทนที่ BA.2.12.1 ที่กำลังระบาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา (ภาพ 3)

ล่าสุด ประเทศในยุโรปที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตเนื่องจากการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 มากที่สุด คือประเทศโปรตุเกส ที่กำลังเผชิญกับระบาดของโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ระลอกใหม่

โดยจำนวนผู้ติดเชื้อต่อล้านคนมีค่าเฉลี่ย 7 วันอยู่ที่ 2,043 ราย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราผู้ป่วยรายใหม่สูงเป็นอันดับสองของโลก แม้ว่าจะลดลงบ้างจากระดับสูงสุดเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ 2,878 (ภาพ1) โดยมีผู้เสียเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ 178 คนในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 (ภาพ2)

"โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.4 – BA.5 กำลังระบาดในยุโรป

ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อ BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1 ที่ตรวจพบในประเทศไทย ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม และได้อัปโหลดข้อมูลรหัสพันธุกรรมขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” ปัจจุบัน (23/6/2565) มีจำนวน 32, 49, 25 ตามลำดับ (ภาพ 3) เฉพาะผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.4 – BA.5 มีจำนวน 81 ราย และเมื่อรวมสายพันธุ์ BA.2.12.1 เข้าไปด้วยจะมีจำนวนรวม 106 ราย

เมื่อวันที่ 22 มิ.. 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มอบหมายกระทรวงสาธารณสุข เฝ้าสังเกตสถานการณ์โควิด-19 ในยุโรป

โดยขอให้วางแผนรับมือล่วงหน้าในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาหลังไทยจะมีประกาศยกเว้นการลงทะเบียน Thailand Pass ของคนต่างชาติ หลังจากมีการพบไวรัสโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 เพิ่มขึ้นในยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ เช่น โปรตุเกส อังกฤษ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน

ซึ่งจากฐานข้อมูล (รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม) โควิดโลก “GISAID” ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1 ไปแล้วจำนวน 23, 26, และ 18 ราย ซึ่งยังเป็นจำนวนที่ไม่น่ากังวล อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ โดยสถานการณ์โควิด-19 ในไทยอยู่ในระดับทรงตัวและมีแนวโน้มดีขึ้น

อย่างไรก็ตามตัวเลขที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี รายงานวันนี้ (23 มิ..) ได้เพิ่มขึ้นเป็น 32,49 และ 25 รายแล้ว (กราฟิก 3 ด้านล่าง)

โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 ที่พบในไทย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 และผลกระทบได้จาก Center for Medical Genomics

………..