
ปกป้อง จันวิทย์ ตั้งข้อสังเกต มติรับทราบการควบรวม ทรู ดีแทค ของ กสทช. ชี้เรื่องที่สังคมไทยต้องการ กสทช. ที่สุด กลับไม่ทำหน้าที่รับผิดชอบที่ตัวเองพึงต้องทำที่สุด
วันที่ 21 ตุลาคม 2565 จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติรับทราบการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค เมื่อคืนที่ผ่านมานั้น ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และการตั้งคำถามจากนักวิชาการเป็นจำนวนมาก
- ราชกิจจาฯประกาศ อัตราผลประโยชน์เงินบำเหน็จชราภาพ ผู้ประกันตน ม.40
- แกร็บ บาลานซ์ 4 เสาธุรกิจ พลิกทำกำไรโฟกัสเติบโตยั่งยืน
- ทุนใหญ่ สารสิน-มหากิจศิริ เปิดสายการบินใหม่รับท่องเที่ยวฟื้น
ล่าสุด นายปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการอำนวยการ The101.world และบรรณาธิการอำนวยการสำนักพิมพ์ bookscape ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า อำนาจหน้าที่ของ กสทช. เขียนไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.กสทช. ตลอดจนประกาศของ กสทช. ที่ให้อำนาจกำกับดูแล โดยมีมาตรการป้องกันไม่ให้แสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม ตลอดจนป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน
ข้อกฎหมายระบุชัด กสทช. มีสิทธิห้ามควบรวมได้
นายปกป้องระบุว่า กฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่อย่างเป็นรูปธรรม คือประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ที่ระบุไว้ค่อนข้างชัดเจน 2 ข้อคือ
ข้อ 5 กำหนดให้การรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาต หรือผู้มีอำนาจควบคุมที่ก่อให้เกิดนิติบุคคลใหม่เช่นนี้ จะต้องรายงานต่อ กสทช.
ข้อ 9 การรายงานนั้นให้ถือเป็นการ ‘ขออนุญาต’ ตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549
เราเลยต้องตามต่อไปดูข้อ 8 ของประกาศฉบับ พ.ศ. 2549 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะในทางตรง ทางอ้อม หรือผ่านตัวแทน จะทำไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเสียก่อน ในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่าการถือครองธุรกิจนี้อาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม คณะกรรมการสามารถสั่งห้ามการถือครองกิจการได้
นอกจากนี้ ประกาศฉบับ พ.ศ. 2549 และประกาศฉบับ พ.ศ. 2561 ให้อำนาจ กสทช.ในการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะสำหรับการควบรวม โดยที่ประกาศ พ.ศ. 2561 ให้เกณฑ์ไว้ว่าสามารถทำได้เมื่อ
1) ดัชนีการกระจุกตัวหลังการควบรวมสูงกว่า 2,500 จุด
2) มีการเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 จุด
3) รายใหม่มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
4) มีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น กสทช.สามารถให้อนุญาตอย่างมีเงื่อนไข หรือไม่อนุญาตตามการพิจารณาผลกระทบต่อการแข่งขัน ไม่ได้เป็นแค่ผู้รับแจ้งรายงาน แต่มีอำนาจในการสั่งห้ามการควบรวมแน่นอน
รับทราบ Vs. ไม่อนุญาต
นอกจากนี้ นายปกป้องตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมในเรื่องการลงมติ ที่คณะกรรมการ กสทช.สองคนคือ ประธาน กสทช. และ กสทช. ต่อพงศ์ฯ ยืนยันว่า กสทช.ไม่มีอำนาจ ทำได้แค่รับทราบรายงาน ว่ามีช่องโหว่ตรงไหน โดยระบุว่า “ข้อ 8 ของประกาศฉบับ พ.ศ. 2549 ที่เนื้อความเขียนว่า
“การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะในทางตรง ทางอ้อม หรือผ่านตัวแทน จะทำไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเสียก่อนในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่าการถือครองธุรกิจนี้อาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม คณะกรรมการสามารถสั่งห้ามการถือครองกิจการได้”
ในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน กสทช. ที่ 51/2565 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ส่งให้สื่อมวลชนหลังประชุม เขียนว่า “ที่ประชุมเสียงข้างมาก (ประธาน กสทช. และ กสทช. ต่อพงศ์ฯ) มีมติเห็นว่าการรวมธุรกิจในกรณีนี้ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศฉบับปี 2549 … และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 โดยรับทราบการรวมธุรกิจ”
นั่นคือ ถ้าเป็นการเข้าถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน กสทช.มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมได้ แต่นี่ไม่ใช่การถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ดังนั้น กสทช.จึงทำได้แค่รับทราบเฉย ๆ
คำถามคือ ทรูกับดีแทคไม่ใช่ธุรกิจประเภทเดียวกันตรงไหน? ผมรออ่านความเห็นอย่างเป็นทางการของสอง กสทช. อย่างสรณและต่อพงศ์เลยครับ ว่าท่านจะให้เหตุผลอย่างไร ว่าการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทคไม่ใช่การถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน
ถ้าเราตั้งใจอ่านเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ที่สรุปมติ กสทช. เขาใช้ถ้อยคำแบบนี้ “จากนั้นที่ประชุม กสทช.จึงได้มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวมธุรกิจ … ส่วนเสียงข้างน้อยขอสงวนความเห็น ไม่อนุญาตการรวมธุรกิจ”
สังเกตจุดยืนที่แตกต่างกันของ กสทช. สองฝั่งนะครับ ฝั่งเสียงข้างมาก (สรณ ต่อพงศ์) ใช้คำว่า “รับทราบ” การควบรวมธุรกิจ แต่ฝั่งเสียงข้างน้อย (ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต และ ร.ศ.ดร.ศุภัช ศุภัชลาศัย) ใช้คำว่า “ไม่อนุญาต” การรวมธุรกิจ เพราะตีความเรื่องอำนาจ กสทช. ต่างกันอย่างสิ้นเชิง”
เรื่องที่คนไทยต้องการให้ทำหน้าที่มากที่สุด แต่กลับไม่ทำหน้าที่ของตนเอง
นายปกป้องระบุเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้หนักหนาสาหัสยิ่งกว่าการเห็นชอบให้ควบรวมด้วยซ้ำไป กสทช.สองคน คนหนึ่งเป็นประธานเสียด้วย กำลังสร้างหลักใหม่ว่า กสทช.ไม่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องสำคัญที่เป็นเหตุผลในการดำรงอยู่ของ กสทช.ด้วยซ้ำ
กสทช.กำลังตัดเขี้ยวเล็บตามกฎหมายของตัวเองในการปกป้องประโยชน์สาธารณะ ทำไปทำไม แล้วใครได้ประโยชน์ ประชาชน หรือกลุ่มทุนใหญ่?
คำถามคือ ถ้าอย่างนั้นจะมี กสทช.ไว้ทำไม ถ้าไม่สามารถจัดการอะไรกับกรณีการควบรวมบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาด จนผู้เล่นลดลงจาก 3 รายเหลือแค่ 2 รายได้
เรื่องที่สังคมไทยต้องการ กสทช.ที่สุด กสทช.กลับไม่ทำหน้าที่รับผิดชอบที่ตัวเองพึงต้องทำที่สุด ทั้งหมดนี้นำทีมโดยประธาน กสทช.เอง