“ก.ล.ต.” คุมเบ็ดเสร็จ สินทรัพย์ดิจิทัล-ICO ชงครม.ไฟเขียวด่วน

รัฐบาลเร่งเครื่องดันออก “พ.ร.ก.กำกับดูแลประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” หวังชง ครม.ให้ทัน 13 มี.ค.นี้ มอบอำนาจให้ “ก.ล.ต.” คุมเบ็ดเสร็จเรื่อง “สินทรัพย์ดิจิทัล” ทั้งบริษัทใน-นอกตลาด ที่ต้องการทำ ICO ต้องขึ้นทะเบียน พร้อมแจ้งธุรกรรม ปปง. เล็งผุด “ตลาดหลัก-ตลาดรอง” รองรับระดมทุน เผยยึดแนวทางกำกับ “หลักทรัพย์” ดูแลรายย่อย

ชง ครม. 13 มีนาฯ

แหล่งข่าวจากคณะทำงานเพื่อศึกษาและเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากการประชุมร่วมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางการกำกับดูแลเรื่องการระดมทุนด้วยเงินดิจิทัลหรือไอซีโอ (initial coin offering) รวมทั้งเรื่องเงินดิจิทัล (cryptocurrency) เมื่อช่วงเย็นวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. …เพื่อให้ทันเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 มี.ค.นี้

“เรื่องนี้จำเป็นเร่งด่วน เพราะมีบริษัทสนใจระดมทุนกันมาก ทำให้ต้องรีบดูแลนักลงทุนรายย่อย และเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ มีศัพท์ดิจิทัลใหม่ ๆ เกี่ยวข้องมาก จึงเห็นควรให้เสนอเป็น พ.ร.ก. เพราะสามารถใช้อำนาจรัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารประกาศบังคับใช้ได้เลย ไม่ต้องผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 3 วาระ ซึ่งต้องใช้เวลานาน 3-4 เดือนเป็นอย่างต่ำ” แหล่งข่าวกล่าว

ก.ล.ต.คุมทั้งบริษัทใน-นอกตลาด

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าไม่ต้องมีการตั้งองค์กรอิสระใหม่ขึ้นมากำกับดูแล แต่เห็นควรให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลตาม พ.ร.ก.นี้ เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ ก.ล.ต.ทำอยู่ โดย ก.ล.ต.จะต้องกำกับดูแลทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งเรื่องการระดมทุน ICO ที่มีการออกโทเคน, เงินเสมือน หรือสิ่งเสมือนเงิน และอื่น ๆ

“แนวทางคือ ทำเหมือนการออกหลักทรัพย์ทุกอย่าง ต่อไปใครที่จะออก ICO หรือสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ จะต้องจดทะเบียน โดยขออนุญาตจาก ก.ล.ต.ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนโดยบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือบริษัทที่อยู่นอกตลาดก็ตาม เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนรายย่อยที่เข้าไปลงทุนซื้อ จึงต้องมีหน่วยงานกำกับ เพื่อจะได้มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รู้ เหมือนกับการออกหลักทรัพย์ ซึ่งต้องมีตลาดหลักและตลาดรองด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับเกณฑ์ ICO ที่ ก.ล.ต.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนหน้านี้ ก็จะต้องมาอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉบับเดียวกันนี้ โดย ก.ล.ต.อาจจะออกเป็นระเบียบ หรือประกาศภายใต้

พ.ร.ก.ต่อไป ส่วนการดูแลนักลงทุนรายย่อย ก็จะใช้แนวทางเดียวกับที่ดูแลนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนในหลักทรัพย์อยู่ในปัจจุบัน

“สำหรับการระดมทุนที่ทำไปก่อนหน้าที่ พ.ร.ก.จะมีผลบังคับใช้ เมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว ก็ต้องเอามาเข้าระบบให้หมดด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ในเรื่องความกังวลเกี่ยวกับการฟอกเงินนั้น จะต้องมีการรายงานธุรกรรมให้แก่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ด้วย โดยจะมีการไปกำหนดรายละเอียดสินทรัพย์ และมูลค่าสินทรัพย์ที่ต้องรายงานอีกที

คุมเบ็ดเสร็จ “สินทรัพย์ดิจิทัล”

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า จากการประชุมระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อสรุปให้มีการออกกฎหมายพิเศษขึ้นมาครอบคลุมดูแลในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและไอซีโอ โดยจะมอบหมายให้ ก.ล.ต.เป็นผู้กำกับดูแล

กฎหมายพิเศษที่จะออกนี้จะครอบคลุมการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในทุกเรื่อง ทั้งไอซีโอ, คริปโตเคอเรนซี่ และโทเคนต่าง ๆ รวมทั้งวางหลักเกณฑ์สำหรับผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ที่จะระดมทุน ICO ตัวกลางซื้อขาย ผู้จะจัดทำแพลตฟอร์มตลาดรอง และคุณสมบัติผู้ลงทุน ซึ่งคณะกรรมการ ก.ล.ต.จะมีการประชุมเพื่อพิจารณารายละเอียดหลักเกณฑ์อีกครั้ง เมื่อร่างกฎหมายออกมา โดยคาดว่าคงใช้เวลาไม่นานเนื่องจากรัฐบาลกำหนดให้เป็นเรื่องเร่งด่วน

ธุรกิจรอลุ้นหลักเกณฑ์คุม ICO

นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) บริษัทย่อยของกลุ่มเจมาร์ท ถือเป็น บจ.รายแรกที่เปิดระดมทุน ICO โดยการขาย JFin Coin กล่าวว่า เรื่องของหลักเกณฑ์การกำกับสินทรัพย์ดิจิทัลและไอซีโอที่ภาครัฐกำลังทำนั้น หากออกมาชัดเจนแล้วบริษัทก็พร้อมจะร่วมมือและปฏิบัติตาม “ยอมรับว่ายังมีหลายเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน เช่นการทำบัญชีและการจัดเก็บภาษี ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทก็ได้ไปหารือกับกรมสรรพากรแล้ว เนื่องจากบริษัทเป็นรายแรก ๆ ที่ทำ หากมีการจัดเก็บภาษีที่โหดอาจทำให้ทุกคนหนีออกไปทำในต่างประเทศหมด” นายธนวัฒน์กล่าว