ทำความรู้จัก “ตู้บุญเติม” ธุรกิจให้บริการเติมเงินมือถือ-ชำระบิลสาธารณูปโภค-ฝากเงินเข้าธนาคาร พร้อมรายละเอียดสำหรับการลงทุน ลงทุนเท่าไร ผลตอบแทนมาจากไหน
จากประกาศยุติตู้เติมเงินของบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2567 นี้ อาจสร้างแรงสะเทือนให้กับวงการธุรกิจตู้เติมเงินอยู่ไม่น้อย จากที่เคยรุ่งเรืองและมีช่วงเวลาที่ขยายตู้เพื่อฟาดฟันกัน จนกลายเป็นสมรภูมิในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ด้วยปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นมาตอบสนองความสะดวกสบายของเรามากขึ้น การใช้บริการดิจิทัลบางอย่างสามารถทำได้แม้นอนอยู่บ้าน เป็นคำตอบให้การบริการบางอย่างจากตู้เติมเงินไม่ได้รับความนิยมจากการให้บริหารเหล่านี้อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม การหายไปของตู้เติมเงินของบริษัทเดียวก็ไม่ใช่ตอนจบของธุรกิจนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” พาไปทำความรู้จัก “ตู้บุญเติม” 1 ในตู้เติมเงินยอดฮิตที่ใคร ๆ ก็คุ้นตา
จุดเริ่มต้น
“ตู้บุญเติม” มีมาตั้งแต่ปี 2551 เริ่มต้นจากการให้บริการเติมเงินมือถือ จากนั้นก็พัฒนามาสู่การรับชำระบิล ต่อมาในปี 2560 ก็เริ่มขยายธุรกิจโดยการนำอุตสาหกรรมอื่นเข้ามารองรับ อย่างการเป็นตัวแทนของธนาคาร ทำหน้าที่เป็นตู้ CDM จนกลายมาเป็นแพลตฟอร์มในรูปแบบตู้เติมเงินอัตโนมัติ ให้บริการสินค้าดิจิทัลให้ผู้ใช้งานทำธุรกรรมต่าง ๆ อย่างหลากหลาย
อาทิ การชำระบิลค่าบริการตั้งแต่ค่าสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา หรือการชำระค่าสินเชื่อต่าง ๆ ทั้งสินเชื่อบัตรเครดิต และการกู้ยืมเงิน จากการหยอดเหรียญหรือธนบัตรด้วยตนเองได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นตู้รับฝากเงินจาก 6 ธนาคาร ได้แก่ กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงศรีฯ ออมสิน และ ธ.ก.ส.
ตู้บุญเติมเป็นธุรกิจที่ให้บริการตามชุมชนทั่วประเทศ ภายใต้การดูแลของบริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (Forth Smart Service Public Company Limited) ผ่านเครือข่ายตัวแทน และการดำเนินการร่วมกับพันธมิตรในการบริหารของโครงการต่าง ๆ อาทิ เซเว่นอีเลฟเว่น เทสโก้ โลตัส แฟมิลี่มาร์ท ท็อปส์ และรถไฟฟ้าบีทีเอส
ปัจจุบันมีตู้บุญเติมมากกว่า 120,391 ตู้ทั่วประเทศไทย และมีถึง 4 ประเภทด้วยกัน โดยแต่ละตู้จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ซึ่งมีพื้นฐานของการบริการที่คล้ายกัน คือ มีพื้นฐานหน้าจอสัมผัส 10 นิ้ว, บริการมากกว่า 86 รายการ, รับเหรียญและธนบัตรได้ทุกรุ่น พร้อมระบบตรวจสอบเหรียญและธนบัตรปลอม และมีบริการชั่งน้ำหนักที่สามารถคำนวณดัชนีมวลกาย (BMI)
ส่วนบริการที่เพิ่มขึ้นมา อย่างระบบตรวจสอบและยืนยันตัวตนด้วยการอ่านข้อมูลบัตรประชาชน และถ่ายรูปหน้าตู้, รับฝากเงินเข้าธนาคาร และเลือกซื้อซิมพร้อมเลือกโปรโมชั่นและเปิดใช้งานได้ทันที เป็นจุดเด่นของตู้ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้น
FSMART บริหารจัดการตู้บุญเติมในรูปแบบของระบบเครือข่ายผ่านตัวแทนบริการ (Master Agent) กว่า 150 รายทั่วประเทศ และในรูปแบบของการบริหารจัดการตู้ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partner) ในโครงการต่าง ๆ ซึ่งรายได้ที่ได้รับจากผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการตู้บุญเติม จะมีการแบ่งกันระหว่างบริษัทและผู้สนใจร่วมทำธุรกิจ โดยมีรายละเอียดของรูปแบบธุรกิจ ดังนี้
รูปแบบธุรกิจ | แฟรนไชส์ (รับประกัน 7 ปี) |
เงินลงทุน | 7,000 บาท (จ่ายครั้งเดียว) |
ผลตอบแทน/รายได้รับต่อเดือน | รายได้สม่ำเสมอ มีแผนพัฒนาเพื่อเพิ่มรายได้ต่อเนื่อง |
ผลตอบแทนจากรายได้อื่น ๆ | รายได้จากการเช่าโฆษณาที่ขาตู้และจากเครื่องชั่งน้ำหนัก |
คุณสมบัติของตู้เติมเงิน |
|
บริการหลังการขาย |
|
ส่องผลงาน Q3/67
จากรายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2567 ของบริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่ให้บริการผ่านตู้บุญเติมอย่างธุรกิจเติมเงินและบริการทางการเงิน พบว่า
ไตรมาส 3/2567 ธุรกิจหลักมีรายได้รวมเท่ากับ 577.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 13.7% จากปีก่อน โดยรายได้ที่ได้รับจากตู้บุญเติมแบ่งเป็น 2 ประเภทในไตรมาสดังกล่าวอยู่ที่ 512.58 ล้านบาท ดังนี้
1) รายได้จากระบบเติมเงินและรับชำระเงินออนไลน์ (Commission) เท่ากับ 93.35 ล้านบาท ลดลง 0.7% เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และงวด 9 เดือน ปี 2567 เท่ากับ 279.65 ล้านบาท ลดลง 9.0% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคจากเดิมใช้รูปแบบการโทร.มาเป็นแพ็กเกจอินเทอร์เน็ต มือถือและใช้ช่องทางอื่นมากขึ้น
2) รายได้ค่าบริการผ่านเครื่องรับชำระเงินอัตโนมัติ (Service Charge) เท่ากับ 419.23 ล้านบาท ลดลง 1.4% เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 7.0% เปรียบเทียบกับปีก่อน และงวด 9 เดือน ปี 2567 เท่ากับ 1,281.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.0% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากยอดการใช้บริการเติมเงินเข้า e-Wallet และบริการเสริม (VAS)
สำหรับธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ ได้รับผลกระทบของพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนจากการใช้งานแบบธรรมดาเป็นการใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น บริษัทได้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงโดยให้บริการใหม่ ๆ เช่น การเสนอแพ็กเกจส่วนบุคคล การเติมอินเทอร์เน็ตแพ็กเกจ การเติมเงินเข้า Wallet เป็นต้น พร้อมทั้งรักษาฐานลูกค้าศักยภาพไว้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังคงรักษามาตรฐานการให้บริการเพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายอย่างเท่าเทียม
นอกจากนี้บริษัทยังขยายบริการทางการเงินเพื่อรองรับการใช้บริการของกลุ่มแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ ไตรมาส 3/2567 บริษัทได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเพียงเล็กน้อย
สำหรับการให้บริการทางการเงินแบบครบวงจรผ่านการเป็นตัวแทนธนาคาร 8 ธนาคาร ที่ให้บริการทั้งฝาก-โอนเงินสดผ่านตู้บุญเติม บริการถอนเงินสดผ่านตู้บุญเติม 2 ธนาคาร คือ ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ รวมทั้งบริการ e-KYC ผ่านตู้บุญเติม
ไตรมาส 3/2567 จำนวนรายการฝาก-โอนเงินผ่านตู้บุญเติมเฉลี่ย รวม 3.25 ล้านรายการ ธุรกิจสินเชื่อ ณ วันสิ้นงวด มียอดการให้สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 904.78 ล้านบาท มีรายได้ดอกเบี้ย 39.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 291.3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทให้สินเชื่อกับบุคลากรของกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกกว่า 1 ล้านคน เป็นสินเชื่อเงินสดและสินเชื่อสำหรับซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือ