
ผ่าซีก พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ลากยาวต่อ แยกการคุมฟอกเงินด้วยคริปโต กลับไปให้ ก.ล.ต. “ประเสริฐ” เผยเซ็นร่างเข้า ครม.แล้ว แต่อาจล่าช้า เพราะส่งกลับกฤษฎีกาอีก
การแก้ไข พระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ที่จะกำหนดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถาบันการเงิน ค่ายมือถือ แพลตฟอร์มออนไลน์ และแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล และให้มีการร่วมชดใช้ความเสียหายหากพบว่าผู้ใดปล่อยปละให้มิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และอาชญากรอื่น ใช้เป็นช่องทางก่ออาชญากรรมทางออนไลน์นั้น ดูเหมือนว่าจะล่าช้าออกไปอีก
เดิมทีมีกำหนดการว่าจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาภายในเดือน ก.พ. 2568 หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เมื่อปลายเดือน ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา แล้วส่งให้กฤษฎีกาตรวจสอบรอบสุดท้าย
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยความคืบหน้าว่า ได้มีการลงนามนำร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวเข้า ครม. อีกในวันอังคารที่ 8 เม.ย.นี้ ซึ่งหลักการยังคงเดิม แต่กฤษฎีกาเห็นว่าควรแยก พ.ร.ก. ออกเป็นสองส่วน นั่นคือการนำส่วนที่เป็นการควบคุมการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล แบบบุคคลสู่บุคคล (P2P) ออกมา
โดยการควบคุม P2P ให้เสนอเป็นอีกร่าง คือ ร่าง พ.ร.ก. แก้ไข พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อจะปรับปรุงวิธีการระบุแพลตฟอร์มและการควบคุมซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และคริปโตเคอร์เรนซี ที่ผิดกฎหมาย แล้วแจ้งให้ ดีอี ปิดกั้นการเข้าถึงแพลตฟอร์มดังกล่าว
ดังนั้น หาก ครม.เห็นชอบ ก็จะมีการส่งกลับไปให้กฤษฎีกาตรวจสอบอีก ก็จะใช้เวลานานขึ้นเล็กน้อย เพื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และครั้งนี้ให้มีผลบังคับใช้ทันที ไม่ต้องรอ 30 วัน