ค้าปลีกไอทีบุกรับดีมานด์พุ่ง ไอทีซิตี้-แอดไวซ์ฯเสริมทีมปั๊มยอดออนไลน์

ตลาดไอที
LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP

สินค้าไอทีโตสวนกระแส หลังโควิด-19 เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคกระแสเวิร์กฟรอมโฮมดันสินค้าไอทีคึกคัก ยักษ์เชนสโตร์ไอทีเปิดเกมบุก”ไอที ซิตี้” เดินหน้าขยายสาขา-ปรับกลยุทธ์รุกขยายสินค้าผ่านทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ ตั้งเป้าโต 10-20% ตามแผนเดิม ขณะที่สิงห์ค้าปลีก-ค้าส่งไอทีภูธร “แอดไวซ์ฯ” ไม่รอช้า ตั้งทีมใหม่เจาะตลาดบีทูบี หน่วยงานราชการ หวังโกยยอดขายเพิ่มพร้อมบุกออนไลน์เต็มสูบ ด้วยการผนึกกำลังมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ ทั้งลาซาด้า ช้อปปี้ วางเป้าสิ้นปีรายได้แตะ 1.5 หมื่นล้านบาทพร้อมพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯกลางปี”64

ข้อมูลจาก “จีเอฟเค” บริษัทวิจัยและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าไอซีทีระบุว่าช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย. 63) ภาพรวมตลาดสินค้าไอทีที่ขายผ่านทุกช่องทางทั้งหน้าร้านและออนไลน์โตขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเฉพาะช่องทางออนไลน์โตถึง 153% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้วยแนวโน้มที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มเชนสโตร์ไอทีต่างปรับกลยุทธ์และพลิกตัวอย่างรวดเร็วเพื่อหันมาสร้างรายได้จากช่องทางออนไลน์ทดแทนหน้าร้าน พร้อมกับกระตุ้นตลาดสินค้าไอทีให้คึกคักขึ้น

สินค้าไอทีโตรับดีมานด์

นายโสภณ อิงค์ธเนศ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไอที ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเชนสโตร์ไอที “ไอที ซิตี้”กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้ของหลาย ๆ ธุรกิจ แต่สำหรับธุรกิจไอทีถือว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เนื่องจากผู้บริโภค ต้องหากิจกรรมทำที่บ้านมากขึ้น การใช้จ่ายกับสินค้าไอทีเพิ่มขึ้น เพื่ออัพเกรดอุปกรณ์สำหรับการทำงานที่บ้าน และเพื่อทำกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ เช่น ดูหนัง เล่นเกม เป็นต้น ทำให้ภาพรวมครึ่งปีแรก ตลาดสินค้าไอทีคึกคัก

สำหรับช่วงครึ่งปีหลังนี้ แม้ความต้องการสินค้าไอทีจะยังเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการอาจสูญเสียโอกาสทางการขายเนื่องจากสินค้าไอทีบางกลุ่มขาดตลาดจากการปิดโรงงานผลิตในหลายประเทศ ซึ่งหากผู้ผลิตจากต่างประเทศสามารถกลับมาส่งสินค้าได้อีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดนี้คึกคักขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ไอที ซิตี้ ชูออนไลน์หัวหอกหลัก

ขณะที่ทิศทางธุรกิจครึ่งปีหลัง “ไอที ซิตี้” จะเดินหน้าด้วย 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การขยายสาขาใหม่ต่อเนื่อง ทั้งในศูนย์การค้าและโลเกชั่นใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ รวมถึงมีแผนปิดสาขาในบางพื้นที่ที่ไม่ตอบโจทย์ด้วย ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ต้องทำต่อไปในช่วงเวลาที่ไม่ปกติ ควบคู่กับการปรับตัวขององค์กร การสื่อสารกับลูกค้าซัพพลายเออร์ พาร์ตเนอร์ และบุคลากรของบริษัท เพื่อนำพาองค์กรให้เดินไปในทิศทางเดียวกันต่อไป ตามด้วยการรุกตลาดออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากช่วงโควิด-19 ที่บริษัทต้องปิดให้บริการลงชั่วคราว ทำให้รายได้จากหน้าร้านหายไป แต่ยอดขายช่องทางออนไลน์กลับเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมที่ผ่านมายอดขายผ่านออนไลน์เพิ่มเป็น 80-90% จากปกติที่มียอดขายไม่ถึง 10% ด้วยโอกาสที่เกิดขึ้นทำให้ครึ่งปีหลังนี้ บริษัทต้องกลับมาปรับปรุงช่องทางขายผ่านออนไลน์ใหม่

โดยให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก เป็นต้น และมาร์เก็ตเพลซเช่น shopee lazada รวมถึงเว็บไซต์หลักไอที ซิตี้ (www.itcityonline.com) ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ที่จะเพิ่มรายได้ให้บริษัทในปีนี้และอนาคต

“แต่สิ้นปีนี้คาดว่า จะเติบโตขึ้น 10-20% จากปีก่อน โดยไตรมาส 2 ที่ผ่านมา (เม.ย.-มิ.ย. 63) ก็มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยมีรายได้รวม 1,568 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันปีก่อน”

ออนไลน์ดันสินค้าไอทีโต

สอดรับกับนายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด ศูนย์รวมอุปกรณ์ไอทีครบวงจรที่มีสาขากว่า 350 สาขาทั่วประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา แม้ผู้ประกอบการต้องปิดสาขาลงชั่วคราว แต่ผู้บริโภคยังมีความต้องการซื้อสินค้าไอที และหันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมสินค้าไอทีครึ่งปีแรกยังเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก

สำหรับครึ่งปีแรกที่ผ่านมา แอดไวซ์ฯก็มีการเติบโตสูงกว่าตลาดรวม โดยโตถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวปีก่อน ทั้งช่องทางออนไลน์และหน้าร้าน เนื่องจากบริษัทยังเปิดสาขาตามปกติเพราะมีสาขาอยู่นอกห้างถึง 90%และต้องปิดสาขาชั่วคราวเพียง 20 สาขา โดยกลุ่มสินค้าที่ขายดี ได้แก่ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ก พรินเตอร์ เป็นต้น

ขณะที่ภาพรวมสินค้าไอทีครึ่งปีหลังมองว่า ความต้องการจะลดลง เนื่องจากได้ซื้อสินค้าไปก่อนหน้านี้แล้ว ประกอบกับผลจากการปิดโรงงานผลิตในหลายประเทศตั้งแต่เมษายนที่ผ่านมา ทำให้สินค้าไอทีบางกลุ่มขาดตลาดตั้งแต่ช่วงมิถุนายน-กรกฎาคมที่ผ่านมา ดังนั้นแม้ผู้ประกอบธุรกิจจะกลับมาเปิดร้าน แต่ยอดขายก็ไม่เพิ่มขึ้น ดังนั้น คาดว่าภาพรวมสินค้าไอทีปีนี้อาจจะติดลบ

“หลังคลายล็อกดาวน์พบว่า แนวทางการขายผ่านช่องทางออนไลน์เริ่มลดลง และยอดขายหน้าร้านกลับมาโตขึ้น แต่สินค้าไอทีบางกลุ่มเริ่มขาดตลาด และหากเดือนกันยายนนี้ ซัพพลายเออร์ต่างประเทศยังส่งสินค้าไม่ได้ คาดว่าภาพรวมสินค้าไอทีปีนี้อาจจะติดลบแน่นอน ส่วนจะติดลบมากน้อยแค่ไหนอาจจะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง”

แอดไวซ์ฯเจาะลูกค้าบีทูบี

ทิศทางธุรกิจครึ่งปีหลังนี้ แอดไวซ์ฯจะเดินหน้าเจาะกลุ่มลูกค้าเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยเฉพาะโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ ของหน่วยงานราชการที่จะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลัง โดยก่อนหน้านี้ได้ตั้งทีมใหม่ขึ้นเพื่อขยายตลาดเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาหน้าเว็บไซต์ แอดไวซ์ (www.advice.co.th) ให้สามารถรองรับลูกค้ากลุ่มองค์กรมากขึ้น และตั้งเป้าหมายว่า ปี 2564 สัดส่วนรายได้จากลูกค้าเชิงพาณิชย์จะเพิ่มเป็น 10% ของยอดขายรวม

“ด้วยสภาพเศรษฐกิจครึ่งปีหลังที่ชะลอตัว ทำให้กระทบต่อกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้ารายย่อย ที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัท ขณะที่กลุ่มลูกค้าเชิงพาณิชย์ เช่น องค์กร สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ มีความต้องการสินค้าไอทีเพิ่มขึ้น”

ในส่วนของการขยายสาขาใหม่ บริษัทจะขยายสาขาต่อเนื่อง แต่จะเปลี่ยนรูปแบบ โดยจะเปิดสาขารูปแบบสแตนด์อะโลนไซซ์ใหญ่ ขนาด 400-500 ตร.ม. มากขึ้นเน้นการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ลูกค้าเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะเปิดอีก 6 สาขา เช่น กาญจนบุรี ศรีสะเกษ อุดรธานี เชียงใหม่ เป็นต้น จากก่อนหน้านี้ที่เปิดแล้ว 2 สาขา ได้แก่ แอดไวซ์ ชลบุรี บ้านสวน และแอดไวซ์ ระยอง ศูนย์การค้าสาย 4

นอกจากนี้ แอดไวซ์ฯยังเดินหน้าตามแผนเดิมด้วยการโฟกัสธุรกิจออนไลน์ และปัจจุบันได้ร่วมกับมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ ได้แก่ Shopee, Lazada, SCG และ JD Central มากขึ้น และได้รับผลตอบรับที่ดีทั้งจากลูกค้ารายย่อยและดีลเลอร์ ซึ่งคาดว่าสัดส่วนการขายผ่านออนไลน์สิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 18% จากปีก่อนอยู่ที่ 12% ของยอดขายรวมกลุ่มธุรกิจค้าปลีก

นายจักรกฤชย้ำว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายว่าจะมีรายได้รวม 15,000 ล้านบาทเพิ่มจากปี 2562 ที่มีรายได้ 12,000 ล้านบาท และเตรียมนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในไตรมาส 2 ปี 2564 จากเดิมที่มีแผนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดช่วงเดือนพฤศจิกายนปีนี้