ชำแหละสังเวียน “อีคอมเมิร์ซ” แพลตฟอร์มไทยปรับธุรกิจเลี่ยงปะทะ

ภาพจาก pixabay

ตลาดอีคอมเมิร์ซยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยมีวิกฤตโควิด-19 เร่งปฏิกิริยาให้แบรนด์สินค้าต่าง ๆ กระโดดเข้ามา จากทางเลือกสู่ทางรอด และดึงดูดนักช็อปหน้าใหม่ให้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้สถานการณ์ต่าง ๆ จะเริ่มคลี่คลายลง แต่ไม่ได้ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซลดความร้อนแรงลง โดยเป็นการต่อสู้แข่งขันเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของยักษ์อีคอมเมิร์ซข้ามชาติทั้งหลาย ขณะที่ผู้ประกอบการไทยที่เคยอยู่ในตลาดนี้มาก่อนต่างปรับแผน ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ เพราะรู้ดีว่ายากที่จะสู้ในเกมเดียวกันได้อีคอมเมิร์ซ 2 แสนล้านเนื้อหอม

สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thai e-Commerce) ประเมินว่ามูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในปีนี้น่าจะทะลุ 220,000 ล้านบาท โต 35% เทียบปีก่อนหน้าที่มีมูลค่า 163,300 ล้านบาท

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า พฤติกรรมการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของคนไทยเปลี่ยนไป มีการหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อสูง 90% และเปรียบเทียบราคากับคู่แข่งก่อนตัดสินใจซื้อ 56% ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระตุ้นให้ผู้บริโภคทดลองซื้อสินค้าออนไลน์ เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ปกติจึงเกิดฐานคนซื้อกลุ่มใหม่

ปัจจุบันคนไทยใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับที่ 5 ของโลก หรือเฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนแอปพลิเคชั่นที่คนไทยใช้เวลามากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ โซเชียลมีเดีย, แชต, ดูวิดีโอเพื่อความบันเทิง, ฟังเพลง และช็อปปิ้งออนไลน์ ผลักดันให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นต่อเนื่อง

สินค้าทะลัก 174 ล้านรายการ

นายธนาวัฒน์ กล่าวต่อว่า ช่องทางที่คนไทยนิยมซื้อสินค้าออนไลน์มี 3 ช่องทางคือ เว็บไซต์ของแบรนด์, โซเชียลคอมเมิร์ซ และอีมาร์เก็ตเพลซ ที่กินส่วนแบ่งตลาดสูงสุด มีการเติบโตและแข่งขันค่อนข้างสูงจากผู้เล่น 3 รายใหญ่ได้แก่ ช้อปปี้, ลาซาด้า และเจดี เซ็นทรัล จากความนิยมที่เพิ่มขึ้นทำให้จำนวนสินค้าบนมาร์เก็ตเพลซเพิ่มขึ้นด้วย โดยในปี 2561 มีจำนวนสินค้าเพียง 74 ล้านรายการ ปลายปี 2562 เพิ่มเป็น 174 ล้านรายการ แต่ในจำนวนนี้เป็นสินค้าที่มาจากผู้ขายต่างประเทศถึง 135 ล้านรายการ

“การแข่งขันของอีมาร์เก็ตเพลซเป็นการแข่งกันสร้างห่วงโซ่คุณค่า หรือ value chain ที่มีบริการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยแต่ละรายพยายามเติมทุกส่วนให้เต็ม เช่น ช้อปปี้ มีสื่อ มีโฆษณา มีแพลตฟอร์ม และระบบขนส่ง เป็นต้น”

รายใหญ่ ชูจุดขาย “ของแท้”

ผู้ประกอบการรายใหญ่ ไม่เพียงจัดโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดต่อเนื่องเท่านั้น ยังพร้อมใจกันชูจุดขายคล้ายกัน คือ “การันตีของแท้” เพราะรู้ดีว่าเป็น pain pointของเหล่านักช็อปออนไลน์ นำโดย “เจดี เซ็นทรัล” เข้าสู่ตลาดโดยสื่อสารกับผู้บริโภคว่า “ช็อปของดี การันตีของแท้” โดยไม่ลืมแจกคูปองส่วนลดในทุกหมวดสินค้าอย่างต่อเนื่อง ไม่รอเทศกาล “ดับเบิลเดย์”

ไม่ต่างกันกับ “ลาซาด้า” โดยนายวีระพงศ์ โก Head of Retail ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า การเข้ามาของลาซาด้าทำให้ผู้บริโภคไทยคุ้นชินกับการซื้อของออนไลน์มากขึ้น ไม่ได้ซื้อเฉพาะแค่ช่วงมีโปรโมชั่น แต่ทำให้กลายเป็นกิจกรรมประจำวัน สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ สร้างคุณค่า และทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นโดยให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์ม LazMall ห้างสรรพสินค้าเสมือนจริงที่เน้นจำหน่ายสินค้าแบรนด์ของแท้ ปัจจุบันมีแบรนด์เข้าร่วมกว่า 2,000 แบรนด์ รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่ง “ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส” เพื่อปิดจุดอ่อนด้านขนส่งโดยให้ตรวจสอบการขนส่งได้ตลอดเวลา

ในช่วงเทศกาล 10.10 ก็ได้จัดลดราคาสินค้ากว่า 80% มี flash sale เริ่มต้น 1 บาท และมีส่งฟรีด้วย

“เราพยายามเร่งสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการสร้าง LazMall การมีระบบขนส่งเพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น และพร้อมเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดรับกับความต้องการในยุคปลาเร็วกินปลาช้าไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็กอีกแล้ว”

ด้าน นางสาวสุชญา ปาลีวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ช้อปปี้ (ประเทศไทย) กล่าวว่า มีฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซคึกคัก สำหรับช้อปปี้ก็เน้น Shopee Mall เป็นจุดขายโดยชูว่าเป็น “ของแท้ คืนเงินใน 15 วันส่งฟรีทั่วไทย” ปัจจุบันมีแบรนด์เข้าร่วม 1,500 ราย

“ในช่วงเทศกาลดับเบิลเดย์ 10.10 เราก็มีแคมเปญ 10.10 Brands Festival แจกโค้ดส่วนลด 500 บาท และลดราคาสินค้ากว่า 50% นอกจากนี้ เตรียมจัด 11.11 และ 12.12 ต่อ เพื่อกระตุ้นตลาดช่วงโค้งท้ายด้วย”

เทพช็อป-ตลาด.com ปรับแผน

นายณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยูช็อป จำกัด ผู้ร่วมก่อตั้งเทพช็อป (LnwShop) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต้องยอมรับว่าแพลตฟอร์มของไทยแข่งขันได้ยากบนอีคอมเมิร์ซ เพราะตลาดเปลี่ยนเร็ว และกลายเป็นเกมแข่งขันของแพลตฟอร์มต่างประเทศที่แข่งกันทุ่มตลาดจัดโปรโมชั่นช่วงชิงฐานลูกค้าอย่างดุเดือด จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทปรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาวางโพซิชั่นตนเองใหม่ เป็นผู้ให้บริการระบบหลังบ้านเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการ

“เราทำแบบนี้ก็เพื่อที่บริษัทจะสามารถเติบโตไปพร้อมกับอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซได้ เช่น มีบริการช่วยเชื่อมต่อบนแพลตฟอร์ม ลาซาด้า, ช้อปปี้ และเจดี เซ็นทรัล ที่กำลังจะเสร็จเร็ว ๆ นี้รวมถึงมีบริการ LnwDropship หรือการเป็นตัวแทนขายทำหน้าที่บริหารสินค้าให้กับผู้ค้าทำให้ไม่ต้องสต๊อกสินค้าเอง ”

ด้าน นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ตลาดดอทคอม (TARAD.com) บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด กล่าวว่า ตลาดอีมาร์เก็ตเพลซเป็นพื้นที่การแข่งขันของรายใหญ่ที่แข่งกันแรง ทำให้บริษัทเริ่มปรับตัวตั้งแต่ปีก่อนด้วยการทยอยเปิดบริการใหม่ ทั้งบริการ “U-Commerce” หรือศูนย์กลางการค้าระบบร้านค้าออนไลน์ ทำหน้าที่เชื่อมโยงระบบหลังบ้านของร้านค้าเข้ากับแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลซและโซเชียลคอมเมิร์ซ เช่น ลาซาด้า, ช้อปปี้, เฟซบุ๊ก, ไลน์, อินสตาแกรม เป็นต้น โดยมีแพ็กเกจบริการตั้งแต่ 990-4,590 บาทต่อเดือน รวมถึงพัฒนาระบบชำระเงินผ่าน PaySolution รองรับทุกช่องทางการชำระเงิน ทั้งชำระเงินออนไลน์บนเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย เพื่อให้ธุรกิจโตต่อได้

“อีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ไม่ใช่คู่แข่งเราเพราะปรับกลยุทธ์ใหม่ด้วยการเปลี่ยนคู่แข่งเป็นคู่ค้า เปลี่ยนตนเองจากอีมาร์เก็ตเพลซเป็นผู้ให้บริการระบบหลังบ้านทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ”

จับตา “411 Estore”

ผู้เล่นสัญชาติไทยอีกรายที่บุกเบิกธุรกิจนี้ในไทยมาแต่แรก และยังปักหลักในการเป็นอีมาร์เก็ตเพลซเช่นเดิม คือ กลุ่มแอสเซนด์ เจ้าของ weloveshopping ที่ชู “WeTrust Guarantee ไม่ได้รับสินค้า หรือได้รับสินค้าไม่ครบ รับเงินคืนได้” เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภค

อีกแบรนด์ที่เปลี่ยนชื่อ-เปลี่ยนมือคือ อีเลฟเว่น สตรีท (11Street)  โดยนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ เข้าซื้อกิจการต่อจาก “เอสเค แพลเน็ต” ปลายปี 2561 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “411 Estore” แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวทางการตลาดมากนัก โดยมีรายงานข่าวระบุว่า “411 Estore” กำลังจะเริ่มลุกขึ้นมาจัดกิจกรรม