กูรูแนะ “สตาร์ตอัพ” ไทย ฝ่าโควิด ก่อนฝันไกลถึง “ยูนิคอร์น”

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีสตาร์ตอัพเกิดขึ้นในตลาดไทยจำนวนมากในทุกกลุ่มธุรกิจ ขณะเดียวกัน วิกฤตโควิด-19 ทำให้หลายกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยวอ่อนแรงลงเรื่อย ๆ เพราะขาดเงินทุน ประกอบกับนโยบายและข้อกฎหมายไทยที่ไม่เอื้อยิ่งตัดทอนกำลังของสตาร์ตอัพเหล่านี้

โดย ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส(ประเทศไทย) จำกัด (AWS) กล่าวว่า บริษัทเป็นหนึ่งในบริษัทที่ให้บริการคลาวด์ที่สนับสนุนสตาร์ตอัพตั้งแต่ระดับเริ่มต้น

ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ให้บริการแล้ว 170 บริการ มีสตาร์ตอัพที่เป็นพาร์ตเนอร์และใช้เทคโนโลยีของ AWS กว่า 1,400 รายในหลายอุตสาหกรรม ทั้งฟินเทค ดีลิเวอรี่ อีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ บางรายเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาค บางรายเป็นผู้เล่นระดับโกลบอล เช่น เน็ตฟลิกซ์ และแกร็บ เป็นต้น

ล่าสุด AWS จัดเสวนาในหัวข้อ “Building Thailand’s first Unicorn : the technology powering the nation’sstartup innovation” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองแนวคิดของตัวแทนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของสตาร์ตอัพไทย

ประคองตัวจับคู่บิ๊กธุรกิจ

เริ่มจากมุมมองนักลงทุน นางสาวปารดา ทรัพย์ประเสริฐ ผู้อำนวยการ 500 TukTuks กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ไทยยังไม่มีสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นเพราะกฎหมายไทยยังไม่เอื้อกับนักลงทุนและสตาร์ตอัพ

ประกอบกับสตาร์ตอัพไทยยังต้องแบกรับภาระในการเสียภาษี ขณะที่สตาร์ตอัพต่างประเทศที่เข้ามาในไทยไม่ต้องเสียในส่วนนี้ ทำให้กลุ่มสตาร์ตอัพไทยหนีไปจดทะเบียนบริษัทในต่างประเทศที่เอื้อต่อการลงทุนและการเติบโตมากกว่า

ขณะเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือ บริษัทใหญ่เริ่มสร้างบริษัทหรือแผนกย่อย ๆ ที่ทำหน้าที่คล้ายสตาร์ตอัพ พร้อมให้งบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อดีคือ ถ้าธุรกิจที่สร้างขึ้นถูกจังหวะตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายก็จะโตได้เร็วและแข็งแรง เพราะมีเงินทุนสนับสนุน

แต่ข้อเสียคือ สตาร์ตอัพที่ไม่มีแหล่งเงินทุน ไม่มีโอกาสเติบโต และอาจโดนมองว่าเป็นการผูกขาดตลาด ซึ่งบริษัทใหญ่ ๆ เหล่านี้ต้องการโซลูชั่นใหม่ ๆ จากสตาร์ตอัพ จึงเป็นโอกาสที่จะเข้าไปเป็นพันธมิตรกับบริษัทใหญ่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจต่อ

ปีที่ผ่านมา “500 TukTuks” แบ่งสตาร์ตอัพเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่โต กลุ่มที่ตาย และกลุ่มที่ไม่ตาย แต่ไม่สามารถไปต่อได้ เมื่อพิจารณาจากสถิติของสตาร์ตอัพไทยกว่า 80 รายที่ 500 TukTuks ลงทุนไปพบว่ามีสตาร์ตอัพเพียง 15% ที่ต้องปิดตัว

และกว่า 60% ยังเดินต่อได้ รวมถึงมีหลายรายควบรวมกิจการกัน เปิดระดมทุนในซีรีส์ C และ D และมีแผนเข้า IPO ภายใน 3-5 ปีนี้

สำหรับมุมมองนักลงทุน (venture capital) เริ่มเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่าจะชะลอการลงทุนในสตาร์ตอัพลงและเริ่มมองหาการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนระยะยาวโดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ตอัพที่โดดเด่นด้านเทคโนโลยี, อีคอมเมิร์ซ, โลจิสติกส์ หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนธุรกิจมากขึ้น ทำให้จำนวนการลงทุนลดลงจาก1 ดีลต่อเดือน เป็น 1 ดีลต่อปี

“เมนเตอร์ที่ดี” สำคัญกว่าเงิน

สำหรับมุมมองสตาร์ตอัพที่มองหาตลาดใหม่อยู่ตลอดเวลา นายกรวัฒน์ เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอโค่ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และผู้ก่อตั้ง “แอมิตี้” ผู้ให้บริการคลาวด์สำหรับองค์กรกล่าวว่า ตั้งบริษัทเอโค่ฯขึ้นตั้งแต่ปี 2555 เพื่อให้บริการด้านซอฟต์แวร์และด้านการสื่อสารสำหรับองค์กรเจาะกลุ่ม B2B เป็นหลัก

ซึ่งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นปีก่อนทำให้มีการแตกบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อ“แอมิตี้” ด้วยงบฯลงทุนเบื้องต้นกว่า 30 ล้านเหรียญ เพื่อขยายตลาดในต่างประเทศโดยการนำบริการของ “แอมิตี้” ออกไปให้บริการกลุ่มลูกค้าองค์กรในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มยุโรป

รวมถึงอเมริกา และจีน เนื่องจากมองเห็นโอกาสจากการเติบโตของสตาร์ตอัพยูนิคอร์นในยุโรปที่ประสบความสำเร็จ โดยส่วนใหญ่มาจากกลุ่มธุรกิจ B2B

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19เมื่อปีที่ผ่านมา ผลักดันให้บริษัทคลาวด์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ “แอมิตี้” ยังต้องเผชิญกับคู่แข่งรายใหญ่อย่าง “ซูม” แต่เชื่อว่าจะสามารถแข่งขันได้เนื่องจากมองว่าโอกาสของคลาวด์สตาร์ตอัพคือต้องโฟกัสไปที่บริการใดบริการหนึ่งให้แข็งแรงก่อน

“เริ่มแรกมีแนวคิดที่จะเป็น ‘ยูนิคอร์น’ ในไทย แต่เมื่อเทียบกับสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นในอินโดนีเซียหลายราย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่จะเป็นสตาร์ตอัพที่เจาะกลุ่ม B2C อีกทั้งจำนวนประชากร

และ GDP ที่อินโดนีเซียโตกว่าไทยหลายเท่า ดังนั้น การสร้างสตาร์ตอัพยูนิคอร์นในไทยจึงเป็นเรื่องยาก”

สำหรับสตาร์ตอัพในระดับเริ่มต้น “กรวัฒน์” แนะนำว่า การมีเมนเตอร์ที่ดีสำคัญกว่าเงินลงทุน โดยหลายคนที่เริ่มทำสตาร์ตอัพอาจกำลังหลงทางหรือตั้งหลักไม่ได้

ดังนั้น การได้รับคำแนะนำจากสตาร์ตอัพรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จจะเป็นทางลัดให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้เร็วขึ้น

แนะปรับโมเดลธุรกิจทำเงินเร็ว

ด้าน นายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai กล่าวว่าปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่สตาร์ตอัพไทยเริ่มเหนื่อย โดยเฉพาะกลุ่ม TravelTech และไลฟ์สไตล์ต้องปรับตัวอย่างแรง ทั้งการแตกธุรกิจใหม่ หรือบางรายที่ปรับไม่ทันก็ล้มหายจากไป

ขณะเดียวกัน ก็มีอีกกลุ่มที่เติบโตดี คือ สตาร์ตอัพกลุ่มฟู้ดดีลิเวอรี่ และอีคอมเมิร์ซ แต่วิกฤตโควิด-19 จะยังทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนต่อเนื่องในอีก 4 ปีจากนี้

หรือมีข้อจำกัดในการลงทุนมากขึ้น เรียกว่าลงทุนน้อยแต่ต้องได้ผลตอบแทนระยะยาวดังนั้น ทางรอดของสตาร์ตอัพในขณะนี้คือ การปรับโมเดลธุรกิจให้ทำเงินได้เร็วในเวลาที่สั้นลง

นอกจากนี้ สตาร์ตอัพที่จะขึ้นไปถึงระดับยูนิคอร์นได้ต้องประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.ผู้บริโภคในอีโคซิสเต็มต้องมีมากพอ หากมีไม่มากก็ต้องย้ายไปหาผู้บริโภคในต่างประเทศ

สำหรับไลน์แมนวงในเจาะตลาดไทยเป็นหลัก แต่ก็มีเป้าหมายที่จะขึ้นเป็นผู้ให้บริการระดับ national champions

แม้จำนวนประชากรในไทยจะมีจำนวนไม่มากเท่าอินโดนีเซีย แต่รายจ่ายต่อหัวสูงกว่าจึงเป็นโอกาสสำคัญของฟู้ดดีลิเวอรี่ และ 2.สตาร์ตอัพยูนิคอร์นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบ 10% มาจากธุรกิจ B2C 3.ต้องเร่งสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค

“สตาร์ตอัพสมัยนี้โชคดีที่เกิดมาในยุคที่มีคลาวด์เข้ามาช่วยบริหารจัดการ ตั้งแต่การควบคุมซอฟต์แวร์อัตโนมัติ การสำรองข้อมูลและช่วยจัดการระบบบัญชี

เพื่อลดความผิดพลาดในการทำงาน ขณะเดียวกัน การแข่งขันในธุรกิจก็ย่อมสูงขึ้น ทุกคนเริ่มทำธุรกิจได้ง่าย ๆ สตาร์ตอัพที่จะอยู่รอดได้ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ให้เหนือคู่แข่ง”