“ฟินเทคไทย” จะไปถึงไหน คุยกับนายกสมาคมฟินเทคไทย

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลายธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มธนาคารให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาให้บริการด้านการเงิน (Financial Technology) หรือฟินเทค (Fintech) มากขึ้น ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่แต่ธุรกิจการเงิน แต่เทคโนโลยีได้ทลายกำแพงให้ธุรกิจต่าง ๆ กระโดดเข้าสู่ “ฟินเทค”

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ชลเดช เขมะรัตนา” นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย หลากหลายแง่มุมดังนี้

โควิดดันคนหันลงทุนพุ่ง

“ชลเดช เขมะรัตนา” นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย พูดถึงการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า ทำให้พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคทั่วโลกเปลี่ยนไป และหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุน

และการออมเงินเพื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉินมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนนักลงทุนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ในไทยก็เช่นกันหันมาลงทุนผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น

สตาร์ตอัพกลุ่มฟินเทคในประเทศไทย แบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ 1.กลุ่มนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น ฟินโนมีนา จิตตะ เวลธ์ (Jitta Wealth) และโรโบเวลธ์ เป็นต้น ทั้งหมดเป็นแพลตฟอร์มกลางที่บริหารเงินให้ผู้ลงทุน ทั้งในรูปแบบออโต้บอต และการบริหารจัดการกองทุนแบบไพรเวต

กลุ่มที่ 2.เป็นสตาร์ตอัพที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหุ้น ส่วนใหญ่ร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่เป็นโบรกเกอร์หุ้น 3.กลุ่มที่มีการลงทุนด้านสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น Bitkub, เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล เป็นต้น

และกลุ่มสุดท้าย จะเป็นกลุ่มคอมมิวนิตี้ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการลงทุน เช่น ทูมอร์โรว์ (stock2morrow), เม่าอินเวสเตอร์ (maoinvestor) เป็นต้น

“ฟินเทค” อาวุธธุรกิจนิวนอร์มอล

เมื่อจำนวนนักลงทุนเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสสร้างการเติบโตให้สตาร์ตอัพฟินเทคของไทยด้วย “ชลเดช” มองว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไป คือสตาร์ตอัพกลุ่มนี้จะไม่เติบโตแบบรายเดียวเหมือนที่ผ่านมา

แต่จะเป็นการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในกลุ่มฟินเทคด้วยกัน ทั้งรายเก่าและรายใหม่ รวมถึงการจับมือกับบริษัทใหญ่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกัน โดยเฉพาะในฝั่งธนาคารที่ต้องการทรานส์ฟอร์มองค์กร ขณะที่ส่วนสตาร์ตอัพต้องการขยายฐานลูกค้า และสร้างความน่าเชื่อถือให้ตนเอง

“จะได้เห็นภาพของธนาคารใหญ่ ๆ เข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัพกลุ่มฟินเทค มีรูปแบบความเข้าร่วมมือในหลายมิติ ทั้งเข้ามาร่วมลงทุน และเข้ามาซื้อกิจการ เทรนด์นี้เริ่มเกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น กรณีแกร็บซื้อกิจการ Bento แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น GrabInvest”

สำหรับบทบาทของสมาคมฟินเทคประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมจะผลักดันและสนับสนุนสตาร์ต อัพ และผู้ประกอบการ ซึ่งยอมรับว่าใน 2 ปีที่ผ่านมา บทบาทของสมาคมค่อนข้างแผ่วแต่หลังจากนี้จะมีบทบาทมากขึ้นในหลายมิติเนื่องจากโควิด-19 ทำให้หลายองค์กรต้องเร่งทรานส์ฟอร์มตนเอง จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ

“ฟินเทค ถือเป็นอาวุธสำคัญที่จะเข้ามาช่วยธุรกิจ จึงกลายเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการฟินเทคด้วย”

ยกเครื่องเร่งพัฒนาทุกมิติ

นายกสมาคมฟินเทคฯกล่าวว่า ฟินเทคคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการเงิน ทำให้สมาคมฟินเทคฯมีความรับผิดชอบครอบคลุมหลายด้านเพราะทุกอย่างที่ทำเป็น “ฟินเทค”หมด

ทั้งการจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Payments) คลาวด์ฟันดิ้งจึงต้องมีเป้าหมายว่า ทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะสตาร์ตอัพ หรือผู้เล่นเก่าใหม่ ทั้งในและต่างประเทศ ต้องเข้ามารวมอยู่ด้วยกันก่อน

ภารกิจแรกที่จะได้เห็นใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า หลังเข้ามารับตำแหน่งเมื่อ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา คือ ปรับภาพลักษณ์ (rebranding) สมาคมใหม่ เพื่อสร้างความตื่นเต้น ทันสมัย ให้สอดรับกับกลุ่มฟินเทค

และกำหนดภารกิจชัดเจน เป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.การรวมตัวกันของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง แบ่งปันประสบการณ์ว่า ที่ผ่านมาติดปัญหาหรือข้อกฎหมายใด

เพื่อให้วงการพัฒนาได้ไกลขึ้น รวมถึงการส่งตัวแทนของสมาคมฯเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการฟินเทค ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร บล. บลจ. บริษัทประกัน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ หน่วยงานกำกับดูแล โดยมุ่งหวังว่า อยากให้สมาชิกมาทำความรู้จักกันแลกเปลี่ยนความคิด หาช่องทางต่อยอดธุรกิจ ร่วมกันแก้ไขปัญหา เพื่อผลักดันให้วงการฟินเทคพัฒนาต่อเนื่อง

ส่วนที่ 2.พัฒนา API (Application Programming Interface) กลาง หากมีบริษัทต่างประเทศส่งข้อมูลการซื้อขายเข้ามา แต่ละบริษัทไม่ต้องเขียนโปรแกรมใหม่แต่มีฟอร์แมตกลางของสมาคมเข้ามารองรับ

ตามด้วย ภารกิจที่ 3.แก้ปัญหาด้านบุคลากรฟินเทคที่ขาดแคลน ด้วยการเข้าร่วมกับมหาวิทยาลัย และสมาคมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาหลักสูตรฟินเทค มาสอนทั้งนักการเงิน นักศึกษาที่สนใจ เพื่อสร้างทาเลนต์ใหม่ ๆ ปิดจุดอ่อนด้านบุคลากรที่หายาก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักระยะ

สุดท้าย 4.โรดโชว์ในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศรู้จักสตาร์ตอัพไทยกลุ่มฟินเทคเพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมามีของดี แต่นักลงทุนต่างประเทศไม่ค่อยรู้จัก

“สมาคมจะเป็นตัวกลางในการเข้าไปคุยกับตัวแทนของสมาคมฟินเทคในต่างประเทศว่าจะมีแนวทาง มีความร่วมมือ หรือแลกเปลี่ยนอะไรกันได้หรือไม่ ล่าสุดเพิ่งเจรจากับกลุ่มฟินเทคในอังกฤษ ว่าจะร่วมมืออะไรกันได้ในอนาคต”

เพิ่มทีมกดปุ่ม Action Plan

อย่างไรก็ตาม หลังเข้ามารับตำแหน่ง ตนได้เดินหน้า Action Plan โดยเริ่มดำเนินการทันที เริ่มจากเพิ่มทีมบริหารอีก 4 คน เข้าร่วมทีม ได้แก่ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา(ซีอีโอบิทคับ), ภคมน ตุลยาพิศิษฐ์ชัย (ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัล เงินติดล้อ),

เอกสิทธิ์ เดี่ยววณิชย์ (กรรมการผู้จัดการ ดรีมเมคเกอร์อิควิตี้ คลาวด์ฟันดิ้ง) และ อมฤต ฟรานเชน (กรรมการบริหาร แอพแมน) มาช่วยสมาคมทำงาน โดยแต่ละคนจะมีบทบาทและหน้าที่ต่างกัน

“เราจะมีการประชุมกันทุกวันจันทร์ ทำงานเหมือนสตาร์ตอัพที่ต้องเร็ว ถือเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ปัจจุบันมีสมาชิก 92 ราย ทั้งรายเล็กรายใหญ่ที่อยู่ในอีโคซิสเต็มของฟินเทค และมีอีกหลายรายที่ยังไม่ได้เข้าร่วม”

“ชลเดช” ทิ้งท้ายว่า ภารกิจหลัก ๆคือการพาสตาร์ตอัพไทยในกลุ่มฟินเทค ออกไปเติบโตบนตลาดต่างประเทศให้ได้