ผู้สมัคร กสทช.ส่งจดหมาย คกก.สรรหา ตรวจคุณสมบัติผู้สมัคร หวั่นซ้ำรอย

กสทช.

ผู้สมัคร กสทช. ส่งจดหมายถึงคณะกรรมการสรรหา กสทช. ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้กระบวนการหา กสทช.ชุดใหม่เดินหน้าต่อ

วันที่ 4 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลตรีสุพิชาติ เสนานุรักษ์ ข้าราชการบำนาญกองทัพบก ผู้สมัคร กสทช. ได้ส่งจดหมายเรื่อง การสรรหา กสทช. ถึงประธานคณะกรรมการสรรหา กสทช.

สำหรับรายละเอียดของจดหมายดังกล่าว ระบุว่า ข้าพเจ้าพลตรีสุพิชาติ เสนานุรักษ์ ข้าราชการบำนาญกองทัพบก ผู้สมัครเข้ารับการสรรหา กสทช.ด้านกฎหมาย มีความกังวลและห่วงใยกับการสรรหา กสทช. ในครั้งนี้ว่าอาจจะมีปัญหาหลัก ๆ เกิดขึ้นเช่นเดิมอีก จนทำให้การสรรหา กสทช. ไม่ประสบผลสำเร็จ จากประสบการณ์ตรงของข้าพเจ้าเองที่พบว่า กระบวนการสรรหา กสทช. มีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่เป็นธรรมกับผู้สมัครที่ควรได้มีโอกาสได้โต้แย้งปัญหาเกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติของตน

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่มีการแก้ไขกฎหมาย กสทช. ในปี 2560 ที่ได้มีการแก้ไขกระบวนการสรรหา กสทช. โดยให้องค์กรอิสระจำนวน 7 องค์กร ได้แก่ ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการ ปปช. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้ว่าแบงค์ชาติ ด้วยผู้ร่างกฎหมายมีเจตนาและความคาดหวังว่าองค์กรเหล่านี้จะมีความเป็นกลางเข้ามาทำหน้าที่เลือกสรรบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม และที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ กสทช. อย่างแท้จริง

แม้ว่าในชั้นการพิจารณากฎหมายจะมีเสียงสะท้อนว่า องค์กรที่มาทำหน้าที่ในการสรรหา กสทช. เหล่านี้ไม่ได้อยู่ในแวดวงกิจการสื่อสารและเทคโนโลยีเลย แล้วจะสามารถคัดเลือกบุคคลที่มีวิสัยทัศน์ที่จะมากำกับดูแลกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมได้อย่างไร

ขณะนี้ กรรมการ กสทช. ชุดปัจจุบันจะอยู่ครบ 10 ปี ในวันที่ 7 ตุลาคม 2564 ซึ่งในกฎหมายกำหนดให้อยู่ในวาระ 6 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวเท่านั้น ซึ่งหากยังไม่มีคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่เกิดขึ้นจะทำให้การพัฒนาประเทศทั้งในด้านโทรคมนาคม วิทยุ โทรทัศน์ ดาวเทียม งานคุ้มครองผู้บริโภค และอื่น ๆ ต้องหยุดชะงักไปเพราะคณะกรรมการ กสทช. ชุดปัจจุบันเป็นแต่เพียงชุดรักษาการเพื่อรอชุดใหม่เข้ามาเปลี่ยนผ่านในการทำงานเท่านั้น

ข้าพเจ้าขอนำเรียนถึงประเด็นจุดอ่อนที่สำคัญจนนำไปสู่การสรรหา กสทช. ที่ต้องถูกยกเลิกไปทั้ง 2 ครั้ง เพราะกรรมการสรรหาไม่ได้พิจารณาและวินิจฉัยถึงคุณสมบัติที่เป็นไปตามบทบัญญัติของ กฎหมาย และไม่เปิดโอกาสให้ผู้สมัครที่ถูกสงสัยในเรื่องคุณสมบัติได้ทราบถึงผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาและขาดโอกาสในการชี้แจงที่เพียงพอ

นอกจากนี้ ผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติอีกหลายคนยังผ่านการสรรหาเข้าไป จนนำไปสู่การยกเลิกสรรหา กสทช. และในการสรรหาครั้งล่าสุดที่รัฐสภาต้องรีบผ่านกฎหมาย กสทช. ฉบับใหม่ปี 2564 ออกมา จึงต้องเขียนไว้ในหมายเหตุที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนที่ 14ก วันที่ 1 มีนาคม 2564 ความว่า

เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ โดยที่มีการตรา พ.ร.บ. กสทช. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เพื่อปรับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ ตลอดจนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามรวมทั้งวิธีการสรรหาและคัดเลือกบุคคล เพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช. แต่ปรากฏว่า ได้เกิดสภาพปัญหาในทางปฏิบัติบางประการ ทำให้การสรรหาและคัดเลือกบุคลากรไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ได้ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่

ประกอบกับได้มีข้อร้องเรียนเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว สมควรแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. กสทช. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. อันเป็นการแก้ไขข้อขัดข้องในการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้

ข้าพเจ้าจึงขอเสนอแนะและชี้แจงรายละเอียดของบทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้เพื่อที่จะทำให้การสรรหา กสทช. ครั้งนี้ประสบความสำเร็จและนำไปสู่กระบวนการที่วุฒิสภาจะให้ความเห็นชอบต่อไปได้ ดังนี้

มาตรา 7 ข. (12) กรรมการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดบรรดาที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนได้รับการคัดเลือกตามมาตรา 15

มาตรา 15 บัญญัติว่า ในการดำเนินการสรรหากรรมการ ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาประกาศการเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการให้ทราบเป็นการทั่วไปผ่านทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างน้อยสามสิบวันติดต่อกัน เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครซึ่งมีคุณสมบัติที่จะเป็นกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการสรรหาจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

หลักเกณฑ์และวิธีการรับสมัครและการคัดเลือกให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด ในการคัดเลือกให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผยและให้กรรมการสรรหาแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย ผู้ซึ่งจะได้รับการคัดเลือกต้องได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจำนวนทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหา

ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงตามวรรคห้า หรือมีแต่ยังไม่ครบจำนวนที่จะต้องสรรหา ให้มีการลงคะแนนใหม่สำหรับผู้ได้คะแนนไม่ถึงสองในสาม ถ้ายังได้ไม่ครบตามจำนวนให้มีการลงคะแนนอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีที่การลงคะแนนครั้งหลังนี้ยังได้บุคคลไม่ครบตามจำนวนที่จะต้องสรรหา ให้ดำเนินการสรรหาใหม่ สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่

ในกรณีที่มีการฟ้องคดีเกี่ยวกับการสรรหากรรมการต่อศาลปกครอง การฟ้องคดีดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้ระงับหรือชะลอการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการสรรหาที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เว้นแต่ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ในการนี้ หากศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ อันเป็นผลให้บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือได้รับการคัดเลือกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีเช่นว่านั้น ไม่มีผลกระทบต่อกิจการที่บุคคลนั้นได้กระทำไว้แล้วก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าว

มาตรา 15/1 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาหรือผู้ได้รับการคัดเลือก ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด

การเสนอเรื่องเพื่อให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหากำหนด การวินิจฉัยให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผยให้นำความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหาด้วยโดยอนุโลม แต่กรรมการสรรหาที่ถูกกล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามจะอยู่ในที่ประชุมในขณะพิจารณาและวินิจฉัยมิได้ จากข้อกฎหมายข้างต้น สามารถตีความและวินิจฉัยได้ดังนี้

1.คณะกรรมการสรรหามีหน้าที่ต้องวินิจฉัยคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ซึ่งตามหลักวิธีพิจารณาทางปกครองแล้ว หากผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการออกมาเป็นเช่นไร ก็ต้องให้สิทธิผู้สมัครโต้แย้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งผลของการวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาถือว่าเป็นที่สุด

แต่จากประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าเคยสมัคร กสทช. ที่ผ่านมา คณะกรรมการสรรหาไม่ได้วินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครและประกาศผลอย่างเป็นทางการเพื่อให้ผู้สมัครได้มีโอกาสชี้แจงหรือโต้แย้งได้ แต่เป็นการดำเนินการเป็นการภายในของคณะกรรมการสรรหาเอง และใช้วิธีการสอบถามคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครในเวลาที่ผู้สมัครเข้าไปแสดงวิสัยทัศน์ เพื่ออ้างว่าได้สอบถามและให้โอกาสโต้แย้งไว้แล้ว จึงเป็นข้อสงสัยถึงความไม่เป็นธรรมและมีเจตนาไม่สุจริตหรือไม่

ทำให้ผลการคัดเลือก กสทช. ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามไม่เป็นไปตามกฎหมาย และยังขัดต่อหลักการทางปกครอง เพราะหากมีการวินิจฉัยและประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติแล้ว จะทำให้ผู้สมัครมีการตรวจสอบคุณสมบัติซึ่งกันและกัน ผู้สมัครที่ได้รับการวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติก็จะมีโอกาสชี้แจงและโต้แย้งได้อย่างเต็ม ทำให้เกิดความถูกต้อง โปร่งใส และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

2.การวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 ข. (12) นั้น คณะกรรมการสรรหาจะต้องทำให้เกิดความชัดเจน ถูกต้อง และเป็นธรรมกับผู้สมัครทุกราย เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นเป็นการบังคับใช้กับบรรดาผู้ที่ประกอบธุรกิจด้านกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา ซึ่งโดยหลักของกฎหมายนั้นจะต้องมุ่งเน้นที่องค์กรหรือนิติบุคคลนั้น ๆ ก่อนว่า เป็นองค์กรหรือนิติบุคคลที่มีการประกอบธุรกิจด้านกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมหรือไม่

ซึ่งหากผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาเห็นว่าเป็นการประกอบธุรกิจในลักษณะดังกล่าวแล้ว หากผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดบรรดาที่ประกอบธุรกิจดังกล่าวแล้วย่อมขาดคุณสมบัติทั้งสิ้น และในทางตรงข้าม หากผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาเห็นว่าองค์กรหรือนิติบุคคลนั้นๆ ไม่ได้เป็นการประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคมแล้ว บุคคลที่สมัครเข้ารับการสรรหาดังกล่าวก็ไม่ขาดคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามแต่อย่างใด

ดังนั้น หากการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาที่ผ่านมาเป็นการวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามดังกล่าวเป็นการภายในแล้ว ข้าพเจ้าก็มีข้อสังเกตว่าน่าจะขัดกับหลักธรรมาภิบาลและเจตนารมณ์ของกฎหมายตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วนั้น และยิ่งไปกว่านั้น การมุ่งเน้นและวิเคราะห์เฉพาะตัวบุคคลที่เป็นหัวหน้าองค์กรหรือผู้บริหารระดับสูงสุดเป็นหลัก หรือวินิจฉัยแล้วกลับให้เฉพาะองค์กรหรือนิติบุคคลบางหน่วยงานเข้าข่ายมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเพียงบางหน่วยงานเท่านั้นทั้งที่ยังมีหน่วยงานอื่นที่มีการดำเนินการในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่เข้าข่ายมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ซึ่งแสดงถึงความลักลั่น มีการเลือกปฏิบัติ และมีอคติหรือไม่

3.ประเด็นสำคัญของมาตรา 7 ข. (12) อีกเรื่องหนึ่งก็คือ คณะกรรมการสรรหาจะทราบได้ อย่างไรว่าผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กสทช. เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามในการประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนได้รับการคัดเลือกตามมาตรา 15 หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา

ดังนั้นในการตรวจสอบคุณสมบัติจึงต้องมีการกำหนดวันที่คณะกรรมการสรรหาจะทำการคัดเลือกผู้สมัครซึ่งมีคุณสมบัติเป็น กสทช. เสียก่อนว่าจะเป็นวันใด แล้วจึงนับระยะเวลาย้อนไปหนึ่งปี เพื่อให้การตรวจสอบคุณสมบัติเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด การที่คณะกรรมการสรรหาจะใช้วันอื่นนอกเหนือไปจากวันที่ผู้สมัครได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหานั้น แม้ว่าจะทำให้เกิดความสะดวกและความชัดเจนในการตรวจสอบคุณสมบัติก็ตาม แต่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจะให้การสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมายตามไปด้วย

เพราะในกรณีที่มีผู้สมัครที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 ข. (12) อยู่ในระยะเวลาคาบเกี่ยวดังกล่าว จะทำให้ผู้สมัครดังกล่าวขาดคุณสมบัติอันสืบเนื่องมาจากการกำหนดวันที่ใช้ในการตรวจสอบคุณสมบัติที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จนนำไปสู่การฟ้องร้องตามมา และทำให้กระบวนการสรรหาต้องหยุดชะงักลงเป็นครั้งที่สามได้

อย่างไรก็ตาม การลงมติของวุฒิสภาในครั้งนี้จะมีการกล่าวไว้ในมาตรา 16 ตามที่มีการแก้ไขกฎหมายครั้งล่าสุดเมื่อปี 2564 ดังนี้

มาตรา 16 เมื่อคณะกรรมการสรรหาดำเนินการคัดเลือกได้บุคคลใดแล้ว ให้เสนอรายชื่อไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยผู้ได้รับเลือกต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

บทบัญญัติดังกล่าวแตกต่างกับกฎหมายในครั้งที่แล้ว กล่าวคือ กฎหมายใหม่กำหนดให้ผู้ได้รับเลือกต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา คำนวณเป็นคะแนนเสียงถึง 126 เสียง โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภามาเข้าประชุมจริงจำนวนเท่าใด

เช่น อาจมีองค์ประชุม 130 หรือ 150 หรือ 170 หรือ 200 แต่ไม่ว่าองค์ประชุมจะมีจำนวนเท่าใด ก็ต้องใช้คะแนนเสียงถึง 126 เสียง เท่าเดิม ดังนั้น หากผู้ได้รับเลือกจากคณะกรรมการสรรหากลายเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม หรือขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ ก็เป็นเรื่องง่ายที่ผู้ได้รับเลือกรายนั้นจะไม่ได้รับ ความเห็นชอบจากวุฒิสภา ทำให้กระบวนการสรรหาต้องล้มอีกครั้ง

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมการสรรหาจะได้พิจารณาข้อสังเกตของข้าพเจ้า เพื่อให้การสรรหา กสทช. ในครั้งนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและได้บุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ตลอดจนในด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.