โซเชียลคอมเมิร์ซโตแรง ไลน์ปรับแผนรับดีมานด์

ไลน์ช้อปปิ้งเผยกระแสโซเชียลคอมเมิร์ซโตไม่หยุด ร้านค้าเพิ่ม 7 เท่า ปรับครึ่งปีหลังเร่งโต ลุยโฟกัสการทำ D2C ขยายพาร์ตเนอร์โลจิสติกส์ เพย์เมนต์ หวังช่วยร้านค้าลดต้นทุน ดึงกลุ่มไมโครบิสซิเนสเปิดร้านบนแพลตฟอร์ม ระดมเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ กระตุ้นยอดขายให้ร้านค้า

นายเลอทัด ศุภดิลก หัวหน้าฝ่ายธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันโซเชียลคอมเมิร์ซกลายเป็นเทรนด์การซื้อขายสินค้าที่ได้รับความนิยมในไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาดถึง 60% ของตลาดอีคอมเมิร์ซ และคาดว่าครึ่งปีหลังนี้จะโตอีก 15-20% ควบคู่ไปกับการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซโดยรวมแต่จะไม่เติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนช่วงการระบาดโควิดระลอกแรก

อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ไลน์ช้อปปิ้งมีการเติบโตสูงถึง 272% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มีจำนวนร้านค้าเพิ่มขึ้น 7 เท่า โดยปัจจุบันมีร้านค้าอยู่ที่ 200,000 ราย และมียอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 150,000-500,000 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านคนต่อเดือน มียอดการซื้อสินค้าเฉลี่ย 1,000-1,200 บาทต่อคำสั่งซื้อ โดยพฤติกรรมชำระเงินแบ่งสัดส่วนเป็น เพย์เมนต์80% บัตรเครดิต Rabbit LINE Pay 20%

ส่วนสัดส่วนการกลับมาซื้อสินค้าในแพลตฟอร์มต่อเนื่องสูงถึง 30% โดยสินค้าที่มียอดขาย 5 อันดับแรก ได้แก่ แฟชั่น สินค้าสุขภาพความงาม อาหาร ของตกแต่งบ้าน และแก็ดเจต โดยช่วงเวลาที่มียอดซื้อขายมากที่สุดจะเป็นช่วง 12.00 น. และ 20.00 น.

ทิศทางไลน์ช้อปปิ้งครึ่งปีหลังนี้ จะโฟกัสไปที่การทำตลาดแบบ D2C (direct to consumer) เชื่อมให้ร้านค้าเจอกับลูกค้าโดยตรง พร้อมเปิดแพลตฟอร์มไลน์ช้อปปิ้งให้ลูกค้าไลน์กว่า 49 ล้านราย สมัครใช้งานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ทั้งยังขยายบริการด้านเพย์เมนต์เปิดชำระด้วย Rabbit LINE Pay เพื่อแจกพอยต์ โค้ดส่วนลดให้ลูกค้า และขยายพาร์ตเนอร์ด้านโลจิสติกส์ จับมือกับไปรษณีย์ไทยคิดค่าขนส่ง เริ่มต้น 19 บาท เพื่อเพิ่มประสบการณ์ของลูกค้าให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ตั้งเป้าหมายว่าจะดึงผู้ขายกลุ่มไมโครบิสซิเนส (MSMEs) ที่มีสัดส่วนประมาณ 34.7% ของจีดีพี และคิดเป็น 90% ของร้านค้าในโซเชียลคอมเมิร์ซ เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มให้มากที่สุด

เพราะเป็นกลุ่มที่ปรับตัวเร็วเช่น จากเดิมขายเสื้อผ้า แต่โควิดทำให้สินค้าแฟชั่นซบเซา จึงปรับมาขายหน้ากากผ้าและของตกแต่งบ้านแทน

ขณะเดียวกันได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ในแพลตฟอร์ม เพื่อกระตุ้นยอดขายให้ร้านค้า เช่น collection จัดสินค้าหมวดหมู่สินค้าให้เหมาะกับการขายแบบลอต search ค้นหาร้านค้า และแคมเปญแจกโค้ดส่วนลดที่จัดขึ้นทุกเดือน และมีคอร์สอบรมสอนเทคนิคการขายออนไลน์ให้ร้านค้า อาทิ self-learning เรียนรู้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ และ seller community ไลน์โอเพ่นแชตสำหรับแลกเปลี่ยนความรู้

นายเลอทัดกล่าวต่อว่า ความท้าทายของไลน์ช้อปปิ้งอยู่ที่การพยายามสร้างโมเดลธุรกิจให้ตอบโจทย์กับผู้ประกอบการรายย่อยในตลาดทั้งหมด ต้องหาโซลูชั่นที่ทำให้รายย่อยสามารถต่อรองทางธุรกิจได้เทียบเท่ากับรายใหญ่

ไลน์ช้อปปิ้งจึงมีเป้าหมายที่จะทำให้ทุกคนสามารถเริ่มทำธุรกิจด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด โดยไลน์จะเข้าไปสนับสนุนเครื่องมือทางการตลาด และอนาคตจะเชื่อมระบบขนส่งและจัดหาซัพพลายเออร์ให้ผู้ขายโดยปลายปีนี้มีแผนที่จะเพิ่มฟีเจอร์ LINE Social Graph สำหรับวิเคราะห์พฤติกรรมเชิงลึกของผู้บริโภค