ไอที-มือถือข้ามชอตลุ้น ไตรมาส 4 ระดมโปรเงินผ่อนปลุกจับจ่าย

ค้าปลีก “ไอที-มือถือ” ปรับตัวรับล็อกดาวน์ ชี้ดีมานด์มีแต่โควิดทุบเชื่อมั่น “เจเอเอส” งัดเครื่องมือการตลาดช่วย “ร้านตู้มือถือ” ฟาก “คอมเซเว่น” ผุดพ็อปอัพสโตร์โหมแคมเปญเงินผ่อนปลุกกำลังซื้อ มั่นใจ Q4 ฟื้น “เจ.ไอ.บี.” เพิ่มทีม “เทเลเซล-ลุยส่งฟรี” ลงทุน 200 ล้านขยายคลังสินค้ารับออนไลน์โต “แอดไวซ์” ดัน “ไดรฟ์ทรู” ลดเสี่ยงลูกค้า “ทีจีโฟน-เจมาร์ท” โฟกัสโซเชียลคอมเมิร์ซ

นายสุพจน์ สิริกุลภัสสร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ทจำกัด (มหาชน) หรือ JAS ผู้ดูแลพื้นที่ให้เช่าภายใต้แบรนด์ “ไอที จังชั่น” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุดที่ลากยาวส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ขณะที่พื้นที่เช่าในศูนย์การค้าที่บริษัทบริหารต้องปิดให้บริการชั่วคราว 18 แห่ง จากที่มี 26 แห่ง

ตามมาตรการภาครัฐ แต่หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหลังไตรมาส 3 และกลับมาเปิดได้อีกครั้งในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นหน้าขายของโทรศัพท์มือถือจากการเปิดตัวรุ่นใหม่ ๆ บริษัทจึงเตรียมร่วมมือกับบริษัทในเครือเจมาร์ท ในการสร้างเครื่องมือในการขายให้บรรดาร้านตู้มือถือ เช่น ผ่อน 0% พร้อมส่วนลดค่าเครื่อง เป็นต้น

“ร้านตู้มือถือส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีจึงปรับตัวได้ค่อนข้างเร็ว แม้ปัจจุบันจะหายไปจากห้าง แต่ในภาพรวมคิดว่าจำนวนไม่ได้ลดลง เพราะหันไปเช่าอาคารพาณิชย์เพื่อทำธุรกิจต่อ เนื่องจากตั้งแต่มีโควิด คนก็มาเดินห้างน้อยลงอยู่แล้ว ประกอบกับโดนสั่งปิดจากมาตรการภาครัฐบ่อยครั้ง ขณะที่ร้านตู้มือถือในต่างจังหวัดก็ยังคงได้รับความนิยม เพราะมีบริการหลากหลาย ตั้งแต่รับจำนำ และฝากขายมือถือ จึงยังตอบโจทย์คนต่างจังหวัดได้ดี”

มองข้ามชอต Q4 ฟื้น

นายณรงค์ ศรีวรรณวิทย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสายงานขาย และธุรกิจค้าปลีก บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอที-มือถือ ภายใต้แบรนด์เซเว่นสตูดิโอ และบานาน่าไอที กล่าวว่าในครึ่งปีหลังนี้แม้สถานการณ์โควิด-19 อาจยังไม่คลี่คลาย แต่ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอทีและสมาร์ทโฟนจะยังเติบโตได้ เนื่องจากความต้องการยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากกระแสเวิร์กฟรอมโฮมและการเรียนที่บ้าน

ประกอบกับในไตรมาส 4 ถือเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจนี้ เพราะมีสินค้าเปิดตัวใหม่หลายรุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มสมาร์ทโฟน อาทิ ไอโฟน และซัมซุง ทั้งบริษัทยังเตรียมเพิ่มรายการสินค้ากลุ่มใหม่ ๆ ที่รองรับเทคโนโลยี 5G เพิ่มเติม รวมถึงขยายผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม IOT มากขึ้น

“เชื่อว่าความต้องการยังมี แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่อั้นไว้และจะไหลกลับมาในปลายปี ที่มีการเปิดตัวสินค้าใหม่ โดยเฉพาะไอโฟนรุ่นใหม่ที่คาดจะกลับมาเปิดตัวช่วงเวลาปกติ เร็วกว่าตอนเปิดตัวไอโฟน 12 ส่งผลให้รับรู้ยอดขายสินค้าที่เป็นไฮไลต์ของปีจะเร็วขึ้น คาดว่าในสิ้นปีนี้ยังจะเติบโตได้ 20% ตามที่คาดไว้”

อัดเงินผ่อนปลุกกำลังซื้อ

นายณรงค์กล่าวต่อว่า ผลจากโควิดที่ลากยาวส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อโดยการซื้อสินค้าไอทีกลุ่มจำเป็น เช่น โน้ตบุ๊ก สมาร์ทโฟน ยังดีอยู่ แต่กลุ่มแอ็กเซสซอรี่หรืออุปกรณ์เสริมต่าง ๆ กำลังซื้อลดลงอย่างชัดเจน บริษัทจึงจัดโปรแกรมเงินผ่อนพิเศษ โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิตร่วมกับพาร์ตเนอร์ เช่น มีโปรแกรม UFund & UNiDAYS สำหรับลูกค้ากลุ่มมหาวิทยาลัย และร่วมกับ True Loan เปิดโครงการผ่อนสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่น “ทรูมันนี่ วอลเล็ต”

ในร้านค้าปลีกไอที BaNANA, ร้าน BKK และร้าน Kingkong Phone เจาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีบัตรเครดิต และในครึ่งปีหลังนี้เตรียมจัดโปรแกรมการผ่อนต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ เพราะมองว่าความต้องการของผู้บริโภคไม่ได้หายไป แต่กำลังซื้ออาจลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจ

“ร้านค้าปลีกในเครือคอมเซเว่นต้องปิดชั่วคราว 520 สาขา เหลือเพียง 416 สาขา จากทั้งหมด 936 แห่งทั่วประเทศ จึงต้องพยายามเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากขึ้น โดยเปิดพ็อปอัพสโตร์ มีทั้งเช่าพื้นที่ในสถานีบริการน้ำมัน, ร้านอาหาร และอาคารพาณิชย์ คาดว่าในเดือน ส.ค.จะเปิดครบ 57 สาขา”

เพิ่ม “เทเลเซล-ดีลิเวอรี่”

นายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของร้านค้าปลีกสินค้าไอที “เจ.ไอ.บี.” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทต้องปิดร้านสาขาในศูนย์การค้าไปแล้ว 90 สาขา จากที่มี 150 สาขา จึงปรับแผนด้วยการเปิดสาขาชั่วคราวนอกห้าง 28 สาขา แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 18 สาขา ต่างจังหวัด 10 สาขา รวมถึงตั้งทีมเทเลเซล (telesale) มีทีมงาน 100 คน เพื่อคอยให้คำปรึกษา และรับออร์เดอร์ของลูกค้า

“โควิดรอบนี้กระทบระบบขนส่งทำให้ไม่สามารถกระจายสินค้าไปยังสาขาในต่างจังหวัดได้ทั่วถึง เราจึงต้องปรับแผนการขายออนไลน์ โดยสต๊อกสินค้าไว้ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ และให้ทีมเทเลเซลเป็นคนคอยจัดการระบบขายออนไลน์ และรับออร์เดอร์มายังส่วนกลางเพื่อให้ส่วนกลางรับผิดชอบจัดส่งสินค้าเองทั้งหมด”

ขณะเดียวกัน บริษัทเตรียมลงทุนเพิ่มอีก 200 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนขยายคลังสินค้า รองรับการขายออนไลน์ที่เติบโตขึ้นกว่า 65% ในครึ่งปีแรก 150 ล้านบาท และอีก 50 ล้านบาท สั่งผลิตหุ่นยนต์อัจฉริยะจากบริษัทในไต้หวัน เพื่อใช้ในการบริหารจัดการสต๊อก โดยคลังสินค้าใหม่จะใช้ระบบออโตเมชั่นทั้งหมด คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565

ลุยเปิดสาขาใหญ่หัวเมือง ตจว.

การขยายสาขาในต่างจังหวัดจะเน้นให้มีขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมมีบริการจัดส่งแบบ “ดีลิเวอรี่” ฟรี ภายในระยะทางที่กำหนด เพราะลูกค้าต่างจังหวัดจะซื้อสินค้าไอทีกับร้านค้าที่มีขนาดใหญ่ และมีความน่าเชื่อถือ โดยในเบื้องต้นจะเปิด 5 แห่ง ตามหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา ชลบุรี อุบลราชธานี และเทศบาลนครหาดใหญ่

สำหรับสถานการณ์ตลาดค้าปลีกสินค้าไอทีในครึ่งปีหลังยังถือว่าน่าห่วงในแง่การนำเข้าสินค้า แม้ประเทศไทยจะสามารถนำเข้าสินค้าไอทีได้มากขึ้นกว่าในครึ่งปีแรก แต่ด้วยดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นจากกระแสเวิร์กฟรอมโฮมที่ต่อเนื่อง

โดยส่วนใหญ่เป็นการซื้อบิ๊กลอตจากลูกค้าองค์กร ทำให้ซัพพลายกลับมาขาดอีกครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มโน้ตบุ๊ก และเดสก์ทอป ประกอบกับปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และเงินบาทอ่อนทำให้เริ่มมีการปรับราคาขึ้น 5-10% แล้ว

แอดไวซ์ผุดโมเดลไดรฟ์ทรู

ด้านนายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขาย และการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสินค้าไอที กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โควิดรอบนี้อาจลากยาวขึ้น ซึ่งแอดไวซ์ยังเดินหน้าขยายธุรกิจ เพราะผู้บริโภคยังต้องการสินค้าไอที เนื่องจากยังต้องทำงาน และเรียนที่บ้าน แต่ไม่สามารถเดินทางมาที่ร้านได้

โดยการเพิ่มช่องทางขายแบบ “Advice Drive Thru” จอด รับ กลับบ้าน ในสาขาที่เป็น “สแตนด์อะโลน”จะมีการปรับเพิ่มบริการ “ไดรฟ์ทรู” เข้าไป เพื่ออำนวยความสะดวกและลดความเสี่ยงให้ลูกค้า

รวมถึงมีการเพิ่มช่องทางการทำตลาดออนไลน์ทั้งทางเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นทางเฟซบุ๊ก และไลน์ โดยมีบริการส่งฟรีในระยะ 10 กิโลเมตรด้วย ส่วนแผนการขยายสาขายังคงเดินหน้าต่อเนื่อง แต่จะเน้นสาขาสแตนด์อะโลนในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กลุ่มไอทีซิตี้มีการเปิดจุด pick up store สำหรับให้บริการลูกค้าเมื่อสั่งสินค้าออนไลน์ โดยมารับสินค้าได้ตามจุดที่กำหนด พร้อมมีโปรโมชั่นซื้อครบ 3,000 บาท ส่งฟรีภายในวันเดียวในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะที่ร้านค้าปลีกโทรศัพท์มือถือ “ทีจีโฟน” หันมาจัดกิจกรรม และโปรโมชั่นในช่องทางออนไลน์มากขึ้น เช่น มีไลฟ์สดขายสินค้าบนโซเชียลมีเดีย

และการจัดโปรโมชั่นร่วมกับอีมาร์เก็ตเพลซ ทั้งลาซาด้า และช้อปปี้ เป็นต้น ส่วนเจมาร์ทมีการเปิดร้านนอกห้าง เน้นความร่วมมือกับบริษัทในเครือ เช่น เปิด shop in shop ในร้านซิงเกอร์ และเพิ่มพื้นที่ขายในร้าน “คาซ่า ลาแปง” เป็นต้น และมีไลฟ์สดขายสินค้าพ่วงแคมเปญผ่อน 0% และแคมเปญไม่มีบัตรก็ผ่อนได้