ผุดโมเดลต้นแบบ “รพ.สนามดิจิทัล” รับมือวิกฤตเตียงเต็ม-ลดเสี่ยงแพทย์

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งขึ้นต่อเนื่องทำให้ภาครัฐและเอกชนต้องเร่งหาทางออกร่วมกัน โดยหนึ่งในหัวแรงสำคัญ คือ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ที่ร่วมกับภาครัฐและเอกชนกว่า 85 องค์กร

ในโครงการ “Smart Field Hospital” และ “Smart Home and Community Isolation Model” ที่นำจุดแข็งและศักยภาพด้านดิจิทัลเทคโนโลยีมาสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์

และผู้ที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน และการกักตัวในชุมชน เพื่อรับมือการแพร่ระบาดที่ยังรุนแรง และนำประเทศไทยก้าวพ้นวิกฤตโควิด-19

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังเพิ่มต่อเนื่อง สภาดิจิทัลฯจึงขยายผลความสำเร็จจากโครงการโรงพยาบาลสนามต้นแบบที่มีการนำดิจิทัลโซลูชั่น “Smart Field Hospital” มาใช้สู่โครงการ Smart Home and Community Isolation Model นำเทคโนโลยีดิจิทัล

และดิจิทัลโซลูชั่นที่องค์กรพันธมิตรพัฒนาขึ้นมาช่วยเหลือดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องกักตัวหรือรักษาตัวอยู่ที่บ้าน และที่ศูนย์พักคอย เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการรับมือกับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมาก

ในโครงการ Smart Home Isolationสภาดิจิทัลฯสนับสนุน 2 ส่วน คือ 1.จัดการให้มีระบบโทรคมนาคม อุปกรณ์การสื่อสารและอุปกรณ์จำเป็นเพื่อการสื่อสาร เช่น WiFi access point, router แล็ปทอป คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เป็นต้น

และ 2.สนับสนุน SMS กรณีหน่วยงานรัฐต้องแจ้งประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับโควิด-19 ส่วนขั้นตอนการเข้ารักษาประกอบด้วย 1.การจัดลำดับคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 2.remote monitoring ติดตามสถานะผู้ป่วย

เช่น อุณหภูมิ ค่าออกซิเจน เพื่อดูแลรักษาทางไกล 3.consultation and medicine delivery ผู้ป่วยปรึกษาอาการจากแพทย์ในระบบ 150 คน เพื่อคัดกรองอาการ ดูแลรักษาตนเอง และเชื่อมต่อระบบส่งยา

ส่วนโครงการ Smart Community Isolation หรือระบบบริหารศูนย์พักคอย หรือสถานที่สำหรับรองรับผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่สามารถทำ home isolation ได้นั้นจะนำโซลูชั่นเข้าไปช่วยรองรับการจัดการผู้ป่วยในพื้นที่ศูนย์พักคอย

ได้แก่ เข้าไปติดตั้ง dashboard community isolation ระบบติดตามสัญญาณชีพ, ระบบบริหารจัดการผู้ป่วยในพื้นที่, การ check-in check-out และจัดการเตียง โดยเปิดไปแล้ว 4 แห่ง ตั้งเป้าว่าจะเปิดให้ได้ 50 ศูนย์ รองรับผู้ป่วยได้ 5,000 คน

สำหรับ “Smart Field Hospital” เป็นต้นแบบโรงพยาบาลสนามดิจิทัลที่เริ่มติดตั้งใน รพ.สนาม 3 แห่ง ได้แก่ รพ.สนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รพ.สนามกองทัพอากาศ ดอนเมือง

และ รพ.สนามธรรมศาสตร์ พร้อมขยายผลสู่คู่มือแนวปฏิบัติโรงพยาบาลสนามดิจิทัล เพื่อให้โรงพยาบาลสนามต่าง ๆ นำไปเป็นแนวทางในการเสริมระบบและเชื่อมโยงการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19

ภายในโรงพยาบาลสนามดิจิทัลประกอบด้วย 1.อุปกรณ์อัจฉริยะที่ง่ายต่อการใช้งานของประชาชนและแพทย์ 2.ระบบเฝ้าติดตามอาการและการเก็บข้อมูลที่ปลอดภัย 3.ระบบนัดหมายและสื่อสาร


เช่น วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และแชต 4.การลดความเครียด และความบันเทิง 5.ระบบเฝ้าติดตามสภาพแวดล้อม และ รพ.สนาม และ 6.โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รองรับการประมวลผลข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการนำดิจิทัลโซลูชั่นมาใช้ ทำให้ใช้บุคลากรทางแพทย์น้อยลง และเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา