เปิด 5 เทรนด์ ติดสปีดธุรกิจหลังโควิดมีอะไรบ้าง

ภาพจาก Pixabay

การ์ทเนอร์ เปิด 5 เทรนด์ ช่วยธุรกิจติดสปีดหลังโควิด แนะ ผสานประสบการณ์ดิจิทัล เข้ากับสินค้า ลดช่องว่าง เชื่อมผู้บริโภคเข้าหาแบรนด์ แปลงข้อมูลเป็นโอกาสสร้างการเติบโตให้ธุรกิจระยะยาว

วันที่ 1 กันยายน 2564 นางสาวมิเชล ดูเอิสท์ รองประธานฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ กล่าวว่า ผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ช่วงแรก ทำให้ผู้ผลิตหลายรายนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการงานให้รวดเร็วขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการเตรียมความพร้อมและความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ล่าสุด การ์ทเนอร์ ได้เปิด 5 เทรนด์ธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารด้านไอทีในอุตสาหกรรมการผลิตได้เตรียมตัว รองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับเทรนด์แรก คือ การผสานประสบการณ์ดิจิทัลเข้ากับตัวสินค้า (Digital + Product Experience) ถือเป็นการผสมผสานระหว่างตัวสินค้าและบริการดิจิทัลเข้าด้วยกัน เพื่อนำเสนอประสบการณ์ในรูปแบบใหม่ที่มีเอกลักษณ์ให้เข้ากับลูกค้า กลุ่มธุรกิจและผู้บริโภคทั่วไป เพราะการแพร่ระบาดโควิด ทำให้การสร้างปฏิสัมพันธ์และการติดต่อกับลูกค้ามีข้อจำกัด ดังนั้นการผสานรวมเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับตัวสินค้าจะช่วยลดอุปสรรคด้านการจัดการแพลตฟอร์มให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงบริการเสริมแต่ยังสามารถเพิ่มรูปแบบการทำธุรกิจดิจิทัลใหม่ ๆ ให้ผู้ผลิตสามารถรักษาความสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้การ์ทเนอร์คาดว่าปี 2568 บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำ 50 อันดับแรกจะลงทุนในแอปพลิเคชั่นของแบรนด์ตนเองมากขึ้น โดยใช้ AI และฝังเทคโนโลยีลงไปในสินค้า เพิ่มวิดีโอที่เป็นหนึ่งในข้อมูลดิจิทัล และผสมผสานนวัตกรรมเข้ากับไอทีและทีมวิจัยและพัฒนา

เทรนด์ 2 ประสบการณ์ครบจบในที่เดียว (Total Experience)คือ วิธีการที่ผู้บริหารด้านไอทีใช้เทคโนโลยีและการโต้ตอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ซึ่งการใช้แนวทางนี้ ผู้บริหารด้านไอทีสามารถเลือกใช้แพลตฟอร์มที่เหมาะสมสำหรับเชื่อมต่อกับลูกค้า พันธมิตรและพนักงานได้

ยกตัวอย่างเช่น พนักงานที่มีบทบาทเป็นผู้เชี่ยวชาญแบรนด์หรือเจ้าหน้าที่ให้บริการลูกค้าและตอบคำถามต่าง ๆ โดยการ์ทเนอร์คาดว่าในปี 2567 องค์กรที่มุ่งเน้น Total Experience จะทำผลงานได้ดีกว่าคู่แข่ง 25% โดยเฉลี่ย จากการวัดความพึงพอใจของลูกค้าและพนักงาน

เทรนด์ 3 ความร่วมมือของพันธมิตรในระบบนิเวศ (Ecosystem Partnerships)ซึ่งการ์ทเนอร์ เชื่อว่า องค์กรระดับโลกหลายรายสามารถใช้ประโยชน์จากความร่วมมือในระบบนิเวศสร้างโอกาสการเติบโตที่มากกว่าและไม่จำกัดอยู่ในตลาดขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม แต่ยังรวมไปถึงตลาดที่กำลังพัฒนา ในอุตสาหกรรมการผลิตการร่วมมือในระบบนิเวศสามารถสร้างสรรค์ไอเดีย เพื่อทำอะไรใหม่ ๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อโลก เปิดโอกาสให้ชุมชนใหม่ ๆ ที่ยังพัฒนาได้อีกและยังเข้าไม่ถึงโอกาส และลดการปล่อยมลพิษผ่านการทำงานระยะไกล

เทรนด์ 4 การสร้างรายได้จากข้อมูล (Data Monetization) ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยให้ผู้บริหารด้านไอทีในอุตสาหกรรม สามารถผลิต วางแผนเพิ่มรายได้จากการแปลงสินค้าและให้บริการในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งการ์ทเนอร์คาดการณ์ภายในปี 2567 ครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ขององค์กรภาคการผลิตขนาดใหญ่ระดับโลกจะประสบความสำเร็จจากการสร้างรายได้ด้วยข้อมูล

“การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็วขององค์กรภาคการผลิตจะเกิดการสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ดังนั้นผู้บริหารด้านไอทีสามารถแบ่งปันและสร้างรายได้เพิ่มจากข้อมูลจำนวนมหาศาลนี้ผ่านเครือข่ายระบบนิเวศขององค์กร ซึ่งแนวทางนี้จะแปลงข้อมูลเป็นทรัพย์สินและสร้างบริการใหม่ ๆ เพื่อนำองค์กรไปสู่ธุรกิจรูปแบบใหม่” 

สำหรับเทรนด์สุดท้าย คือ การให้บริการผ่านอุปกรณ์ (Equipment as a Service: EaaS) ถือเป็นโมเดลเชิงพาณิชย์ที่หลายธุรกิจใช้ สำหรับชำระค่าธรรมเนียมในขั้นตอนการดำเนินงานของสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำแทนที่การจัดซื้ออุปกรณ์ รูปแบบลักษณะนี้ โดยจะฝังเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เพื่อใช้ประโยชน์จากการออกแบบทั่วไปและปรับเฟรมเวิร์กให้เข้ากับอุตสาหกรรม เพื่อให้สินทรัพย์และการค้นหาทางแก้ไขในสินทรัพย์มีประสิทธิภาพสุงสุด

ทั้งนี้การ์ทเนอร์คาดว่าปี 2566 ผู้ผลิตเครื่องมือ 20% ในอุตสาหกรรมจะสนับสนุนการให้บริการผ่านอุปกรณ์ (EaaS) ด้วยการเพิ่มความสามารถการควบคุมอุตสาหกรรมระยะไกล (Industrial IoT) จากโรงงานที่เป็นฐานการผลิต จากปัจจุบันที่แทบจะเป็นศูนย์