โควิดหนุนอีคอมเมิร์ซโต เอคอมเมิร์ซลุยเวียดนาม

โควิดหนุนตลาดอีคอมเมิร์ซอาเซียนโตแรง คาดปี’68 ทะลุ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การแข่งขันสูง ผู้เล่นเพียบ เอคอมเมิร์ซ กางแผนรุกตลาดปี’65 เตรียมระดมทุน เพิ่มน้ำหนักเจาะตลาดเวียดนาม รับโอกาสโต พร้อมขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ ทุกกลุ่ม ทั้งลักเซอรี่ สินค้าความงาม ยันของเล่นเด็ก

นายวีระพงษ์ ศรีวรกุล ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการและสนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซครบวงจร กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์)

เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด และคาดว่าปี 2568 จะมูลค่าเพิ่มเป็น 10,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากโควิดกระตุ้นให้ผู้บริโภคคุ้นชินกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น

ขณะที่การแข่งขันตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้ก็ค่อนข้างสูง โดยมีผู้เล่นไม่ต่ำกว่า 10 ราย (ไม่นับรวมการขายผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม) ส่วนในประเทศไทยก็มีเทรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น

คือ การขายแบรนด์ต่าง ๆ เริ่มหันมาขายสินค้าโดยตรงกับผู้บริโภค (direct consumer) จากเดิมที่นิยมขายผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งข้อดี คือ สามารถเก็บข้อมูลของลูกค้าได้โดยตรงและนำมาข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ ต่อยอด เพื่อขยายบริการหรือหาสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้วตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อนข้างหลากหลายแยกย่อย (fragmentation) จึงเป็นโอกาสในการขยายบริการของบริษัทให้ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้าในทุกประเทศมากขึ้น ยกตัวอย่างบริการใหม่

ที่เพิ่งเปิดให้บริการที่อินโดนีเชีย คือ ติ๊กต๊อกคอมเมิร์ซ โดยเข้าไปช่วยลูกค้าขายรองเท้า โดยระหว่างการไลฟ์ก็สามารถกดสั่งซื้อสินค้าได้ โดยบริษัทเข้ามาเชื่อมต่อระบบกับติ๊กต๊อก ซึ่งตลาดกำลังเติบโตอย่างมาก และคาดว่าเร็ว ๆ นี้เตรียมจะเปิดบริการนี้ในไทย

สำหรับทิศทางธุรกิจปีนี้ จะเดินหน้าด้วย 6 กลยุทธ์หลัก คือ 1.มุ่งพัฒนาความสัมพันธ์ในฐานะพันธมิตรกับกลุ่มผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรระดับโลก เพื่อเพิ่มจำนวนแบรนด์และรายการสินค้า

2.ลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ 3.ขยายพื้นที่ให้บริการไปยังเวียดนามและยกระดับการดำเนินธุรกิจในมาเลเซีย เพื่อสร้างการเติบโตที่ดี 4.ขยายฐานผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรรายใหม่และกลุ่มสินค้าใหม่ ๆ

5.พัฒนาผลิตภัณฑ์ Ecommerce IQ SaaS ทั้งในด้านคุณสมบัติการใช้งานและความปลอดภัยในการรักษาข้อมูลเพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มขึ้น และ 6.พิจารณาเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีและขยายตลาดในประเทศใหม่ ๆ และมีแผนที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเร็ว ๆ นี้

“บริษัทวางแผนขยายฐานลูกค้าผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรอย่างต่อเนื่องในกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มความงาม ลักเซอรี่แบรนด์ ของเล่น สินค้าตกแต่งบ้านและสวน

และจะขยายพื้นที่ให้บริการไปยังประเทศใหม่ ๆ รวมถึงการเพิ่มน้ำหนักในการเจาะตลาดเวียดนาม เพราะเป็นตลาดที่มีการเติบโตค่อนข้างสูง อีกทั้งจะขยายฐาน”

ปัจจุบันบริษัทเข้าถึงผู้บริโภคปลายทางแล้วกว่า 12 ล้านราย ใน 6 ประเทศ (ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์) มีแบรนด์สินค้าในไทยและระดับโลกที่ใช้บริการถึง 168 ราย

จากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น 3 เอ็ม, ยูนิลีเวอร์, ควิกซิลเวอร์, นารายา ฯลฯ บริหารจัดการสินค้ากว่า 39,221 รายการ และบริหารจัดการคำสั่งซื้อถึง 8.02 ล้านรายการ