ส่องมุมมองนักวิชาการ โฟกัสกรุ๊ปนัดสุดท้าย ควบรวม “ทรู-ดีแทค”

ทรู ดีแทค ทรานส์ฟอร์มสู่เทคปะนี
แฟ้มภาพ

ส่องเวทีโฟกัสกรุ๊ปควบรวม “ทรู-ดีแทค” รอบนักวิชาการคึกคัก หลัง “กสทช.” เผยศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจในภาพรวม ยึดแบบจำลอง Merger Simulation และUPP โมเดล

วันที่ 7 มิถุนายน 2565 ทันทีที่ กสทช.ชุดใหม่รับไม้ต่อพิจารณาดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” ก็มีมติเห็นชอบแผนงาน (Roadmap) ใหม่ ประกอบด้วยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรูกับดีแทค 4 คณะ ด้านกฎหมาย ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมืองด้านเทคโนโลยี และด้านเศรษฐศาสตร์

พร้อมทั้งจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) 3 ครั้ง กับ 3 กลุ่ม โดยครั้งแรกเปิดรับฟังความเห็นของกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ถัดมาเป็นกลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป ล่าสุดเพิ่งจัดรอบนักวิชาการไปเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา

โดยสำนักงาน กสทช.ได้นำเสนอกรอบแนวคิด (Framework) ในการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ โดยใช้แบบจำลอง Merger Simulation และ Upward Pricing Pressure (UPP) รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการควบรวมโดยใช้แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium : CGE Model)

โชว์ Merger Simulation-UPP โมเดล

ดร.ประถมพงศ์ ศรีนวล เศรษฐกรเชี่ยวชาญ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า กสทช.ได้นำเสนอกรอบแนวคิดในการศึกษา โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ Merger Simulation และUpward Pricing Pressure (UPP) โดยประเมินด้วย 9 ฉากทัศน์ (Scenarios) หลังการควบรวมกิจการ แบ่งเป็น 3 กรณีหลัก ได้แก่

1.กรณีไม่เกิดการลดต้นทุนส่วนเพิ่ม 2.กรณีเกิดการลดต้นทุนส่วนเพิ่ม 5% 3.กรณีเกิดการลดต้นทุนส่วนเพิ่ม 10% ซึ่งใน 3 กรณีหลักแบ่งฉากทัศน์ซ้ำกันกรณีละ 3 ฉากทัศน์ คือ 1.จำลองกรณีไม่เกิดการร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการที่เหลือในตลาด 2.จำลองกรณีมีการร่วมมือในระดับต่ำ 3.จำลองกรณีมีการร่วมมือกันในระดับสูง

ทำให้เกิดโมเดลจำลองฉากทัศน์ 9 ฉาก ได้ข้อสรุปว่า กรณีที่ไม่เกิดการร่วมมือกันของผู้ให้บริการที่เหลืออยู่ ทำให้ราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น 2.03-19.53%, กรณีมีการร่วมมือกันในระดับต่ำ ทำให้ราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น 12.57-39.81%, กรณีมีการร่วมมือกันในระดับสูง ทำให้ราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น 49.30-244.50%

“อาจกล่าวได้ว่า ยิ่งมีการจำลองการลดต้นทุนส่วนเพิ่มมากขึ้น และจำลองการที่ผู้ให้บริการในตลาดร่วมมือกันมากขึ้น ยิ่งทำให้รูปแบบราคาค่าบริการเพิ่มสูงขึ้น ผลจากโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวได้นำไปใช้คำนวณและวิเคราะห์ต่อเพื่อแสดงผลในเศรษฐกิจมหภาคกล่าวคือ ผลกระทบหลังการควบรวมกิจการจะส่งผลต่อ GDP และอัตราเงินเฟ้อของประเทศด้วย”

ขณะที่ผลการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการควบรวม โดยใช้แบบจำลองทางดุลยภาพทั่วไป นำเสนอโดย ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์การรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ด้านเศรษฐศาสตร์

โดย ดร.พรเทพกล่าวว่า กรณีที่ไม่เกิดการร่วมมือกันของผู้ให้บริการที่เหลืออยู่ GDP จะหดตัวลงในช่วง 0.05-0.11% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 0.05-0.12% ส่วนกรณีที่มีการร่วมมือกันในระดับต่ำ GDP จะหดตัวลงในช่วง 0.17-0.33% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 0.17-0.34% และกรณีมีการร่วมมือกันในระดับสูง GDP จะหดตัวลงในช่วง 0.58-1.99% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 0.6-2.07%

แสดงให้เห็นว่าระดับความรุนแรงของผลกระทบขึ้นอยู่กับระดับการร่วมมือของผู้ประกอบการหลังควบรวม ซึ่งระดับการร่วมมือขึ้นอยู่กับปัจจัยกำหนดหลายปัจจัยที่เข้ามากำหนดสภาพตลาดหลังการควบรวม ได้แก่ 1.จำนวนผู้ประกอบการหลังการควบรวม ยิ่งน้อย ยิ่งร่วมมือง่าย 2.ขนาดของผู้ประกอบการ ยิ่งใกล้เคียงกันยิ่งรวมกันง่าย

3.ลักษณะของบริการ บริการเหมือนกัน ยิ่งรวมกันง่าย 4.การตรวจสอบราคาระหว่างผู้ประกอบการ ยิ่งตรวจสอบเปรียบเทียบราคากันง่าย ยิ่งร่วมมือง่าย 5.ระยะเวลา ยิ่งทำธุรกิจแข่งกันมานาน ยิ่งร่วมมือกันง่าย 6.อุปสรรคของรายใหม่ ยิ่งรายใหม่เข้าตลาดยาก ยิ่งร่วมมือกันง่าย 7.ประสิทธิภาพของหน่วยงานกำกับดูแล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสำนักงาน กสทช.รายงานผลศึกษาแล้วได้เปิดเวทีให้นักวิชาการร่วมแสดงความคิดความเห็น

ย้ำบทเรียนทีวีดิจิทัล

รศ.พรภวิษย์ บุญศรีเมือง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทากล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการควบรวม และมองว่าโมเดล Merger Simulation ที่ กสทช.นำมาใช้มีปัจจัยกำหนดอุปสงค์คลาดเคลื่อน คือ ใช้แค่ค่ายมือถือ 3 ค่าย ทรู ดีแทค และเอไอเอส ขณะที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีเอ็นทีด้วย ทำให้โมเดลไม่เที่ยงตรง และสมมุติฐานไม่ครอบคลุม อาจส่งผลให้ปัจจัยอื่น ๆ มีความคลาดเคลื่อนไปด้วย

ขณะที่ ดร.รุจิระ บุนนาค อาจารย์พิเศษเอแบค แสดงความคิดเห็นว่า การควบรวมระหว่างทรูและดีแทคมีประโยชน์อยู่สิ่งหนึ่งที่ กสทช.ควรพิจารณาด้วย ไม่ใช่มองแต่ในมิติของการแข่งขันเพียงอย่างเดียว รวมไปถึงตัวแปรเรื่อง Digital disruption เพราะสำคัญและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน

นอกเหนือไปจากการส่งเสริมให้มีการดำเนินการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม การกำกับดูแลผู้ประกอบการต่างประเทศ กำหนดข้อมูลในเรื่องของตลาดให้เหมาะสม และการส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ให้พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี เป็นต้น

“ที่ผ่านมา กสทช. เคยคาดการณ์ผิด อย่างเรื่องทีวีดิจิทัลไม่ได้มองประเด็นเรื่อง OTT หรือบริการสื่อในอินเทอร์เน็ต ที่ปัจจุบันการสตรีมมิ่งภาพยนตร์วิดีโอต่าง ๆ กระทบธุรกิจทีวีดิจิทัล ก็ไม่ได้คำนึงถึงตรงนี้ หรือย้อนไปถึงโทรคมนาคมเรื่อง OTT ก็สำคัญเพราะเป็นบริการทั้งข้อความ เสียง และก็วิดีโอ รวมถึงเฟซบุ๊ก, ไลน์, แอปเปิล, กูเกิ้ล, วอตส์แอปอะไรต่าง ๆ กสทช. ก็ไม่ได้ตรงนี้”

ด้าน ผศ.ดร สุรวุธิ กิจกุศล อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยกรุงเทพกล่าวว่า อยากให้พิจารณาสถานการณ์แข่งขันของบริษัทต่าง ๆ ด้วย เพราะสถานการณ์แข่งขันแตกต่างกันมากระหว่างโอเปอเรเตอร์แต่ละราย แต่โมเดลทางเศรษฐศาสตร์ของ กสทช.วางสถานะการแข่งขันของโอเปอเรเตอร์ 3 เจ้าไว้ว่าแข็งแกร่งเท่ากัน ซึ่งถ้าปล่อยไว้เช่นนี้ ย่อมบีบให้เจ้าหนึ่งต้องออกจากตลาดไปทำให้เหลือ 2 เจ้าอยู่ดี

“ผมเชื่อว่าหลังการควบรวมจากโมเดลที่ทำนายไว้เหมือนทำให้เกิดผู้ให้บริการายใหม่ กลายเป็นเบอร์ 1  และ AIS จะต้องมาแข่งขันเพื่อชิงเบอร์ 1 กลับอยู่ดี”

ด้าน ดร.ณัฏฐพงศ์ จันทราทิพย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เห็นแย้งว่า “การแข่งขันเพื่อให้กลับมาเป็นที่ 1 นั้นอาจเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ แต่ต้องดูด้วยว่าการแข่งขันนั้นจะเป็นธรรมหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากการถือครองคลื่น และโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ตลอดจนฐานข้อมูลลูกค้า จึงอยากให้ใช้ดัชนี HHI มาร่วมพิจารณาว่าตลาดมีการผูกขาดหรือไม่ หากตลาดมีการผูกขาดถือเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพราะเมื่อตลาดเป็นผู้ผูกขาดก็สามารถล็อกราคาได้”

แนะใช้หลักฐานเชิงประจักษ์

ขณะเดียวกัน รศ.ดร.ดนุวศิน เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ระบุว่าการใช้ดัชนีทางเศรษฐศาสตร์วัดค่าความกระจุกตัวของตลาด หรือ HHI นั้น ยิ่งค่า HHI สูง ราคายิ่งสูง เมื่อใช้ร่วมกับแบบจำลองจึงเป็นสมมุติฐานด้านราคาเป็นหลัก

จึงอยากให้ กสทช.ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในโลกความจริงให้มาก เพราะมีกรณีศึกษามากมายที่แสดงให้เห็นว่าตลาดโทรคมนาคมนั้นดัชนี HHI ไม่สัมพันธ์กับราคา เช่น ในอินเดียที่มีดัชนี HHI ต่ำ แต่ค่าบริการสูง หรือในประเทศจีน ที่ดัชนี HHI สูง แต่ค่าบริการต่ำ เป็นต้น ดังนั้น การควบรวมจึงไม่ได้ส่งผลด้านราคาเสมอไป

“การใช้ดัชนี HHI เป็นการวัดสภาพตลาดในอุดมคติ ไม่ใช่ตลาดโทรคมนาคมที่มีผู้เล่นน้อยรายอยู่แล้ว อีกประการคือการควบรวมทำให้เกิด Spin of effect ทำให้บริษัทเทคโนโลยีใหม่ ๆ แตกตัวออกไปมากจึงส่งผลดี เพราะอนาคตการเชื่อมต่อไม่ได้มีแค่ทางเดียวโทรศัพท์รุ่นใหม่รับสัญญาณ 5G โดยตรงจากดาวเทียม ดังนั้นการที่โอเปอเรเตอร์พัฒนาเทคโนโลยีอื่น ๆ ด้วยจึงเป็นสิ่งสำคัญ”

ขณะที่ ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการอิสระกล่าวว่า ยังขาดปัจจัยหรือตัวแปรทางธุรกิจหลายตัวที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วย เพราะธุรกิจไม่ได้ทำในสุญญากาศ แต่มีปัจจัยแวดล้อมมากมาย ทั้งเรื่องเทคโนโลยีที่ต้องแข่งขันกับต่างชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างคู่แข่งที่จะร่วมมือกันให้เกิดได้ค่อนข้างยาก ด้วยปัจจัยทางสังคมในปัจจุบันที่บริษัทต้องคำนึงเรื่องธรรมาภิบาล และจากการมีโซเชียลมีเดีย และการตรวจสอบมากมาย หากบริษัทใดไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคย่อมเกิดกรณีดราม่า เป็นต้น

“หากพิจารณาหลักฐานในเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้น ล่าสุด AIS มีการจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงลูกค้าแล้ว เพราะรู้ตัวว่าจะเผชิญสิ่งที่หนัก ดังนั้น การแข่งขันเกิดอยู่แล้ว”

มองตัวแปรจิตวิทยา-สังคม

ผศ.ดร.พัชรินทร์ คำสิงห์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่าอยากให้พิจารณาเรื่องความต้องการใช้งานของผู้ที่ต้องการใช้งานเข้าไปด้วย เพราะปัจจุบันการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของเศรษฐกิจในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมาด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ฉะนั้น คุณภาพของเน็ตเวิร์กจึงมีความสำคัญจึงพิจารณาเฉพาะเรื่องของราคาที่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเดียวไม่ได้ ด้วยว่าประชาชนทั่วไปต้องการใช้อินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ยุทธภูมิ สุวรรณเวช รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครกล่าวว่า เห็นด้วยกับการควบรวมและมองว่า กสทช.ควรมองตัวแปรด้านจิตวิทยาของผู้ประกอบการ และของผู้บริโภคประกอบด้วย

หากมองแต่ตัวเลขจะไม่ครอบคลุมตัวแปรที่จำเป็น ซึ่งภาพรวมของการควบรวมจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในเชิงธุรกิจที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสร้างความเข้มแข็งเชิงธุรกิจ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีทัดเทียมกับอารยประเทศชั้นนำทั่วโลก

ขณะที่ศาสตราจารย์ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ อดีตประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกล่าวว่า การวัดด้วยวิธีการเศรฐศาสตร์เป็นวิธีการที่ทั่วโลกยอมรับกัน จะตั้ง HHI สูงแค่ไหนอยู่ที่การกำกับดูแลของ กสทช. อยู่ที่สิ่งแวดล้อม และอยู่ที่การคุ้มครองผู้บริโภค

ซึ่งกิจการโทรคมนาคมมี factor สำคัญ คือ 1.คลื่นความถี่ เป็นสมบัติของชาติและประชาชน ถ้าประมูลกันที่ราคาสูงขนาดนี้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์ คือผู้ที่มีกำลังซื้อมากที่สุด 2.เรื่องโครงสร้างพื้้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสถานีฐาน หรือเคเบิลใยแก้ว ก็มีระเบียบเกี่ยวกับการใช้โครงสร้างพื้้นฐานร่วมกัน

“ผมยังเชื่อว่า NT ถ้ากระตุ้นให้เขาทำงาน เขาไปได้เพราะมี infrastructure มากที่สุดในไทย คลื่นความถี่ก็มีเยอะ แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ กสทช. ต้องมีฐานข้อมูลเพื่อดูแลใกล้ชิด”

และ 3.การส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี

“เราอาจยังมองข้ามชอตกันไม่พ้น เพื่อนบ้านพัฒนาไปถึงไหนแล้ว เทคโนโลยีต่าง ๆ ไปถึงไหนแล้ว พอเทคโนโลยีดีขึ้น การใช้ก็สะดวกขึ้น ประชาชนก็ได้เปรียบมากขึ้น ถ้าเพิ่มกำลังซื้อให้ดีขึ้น หรือลดราคาให้ถูกลง สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ เทคโนโลยีบางอย่างถ้าไม่จับมันไว้ก็จะหลุดออกไปเลย ผมได้ข่าวว่า Spacex ไม่สนใจไทย เพราะมั่นใจว่าไปอินโดนีเซีย มาเลเซีย เผลอ ๆ ไปเวียดนาม เพราะเอื้อประโยชน์ให้เขาลงทุนได้”

ปัจจัยเทคโนโลยีน่ากังวลกว่า

อาจารย์ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงไซเบอร์กล่าวว่า ควรมองปัจจัยอื่นนอกจากเรื่องราคา แม้จะกังวลเรื่องราคาที่ลูกค้าต้องแบกรับ แต่ปฏิเสธการเข้ามาของ OTT ต่างชาติในไทยไม่ได้ เพราะเข้ามาแข่งขันกับโอเปอเรเตอร์ในประเทศโดยตรง จากเดิมโอเปอเรเตอร์มีรายได้จากบริการเสียง (Voice) เป็นหลัก แต่ OTT ทำให้เสียง Voice เป็น Data ในสัญญาณอินเทอร์เน็ต

ซึ่งมีแต่ของต่างชาติจึงควรนำปัจจัยเรื่องเทคโนโลยี OTT มาใส่ไว้ในโมเดลเศรษฐศาสตร์ด้วย เพื่อให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ที่กำลังจะมาถึงจะต่างไปจากที่เคยรู้จัก ต้องลงทุนและมีแข่งขันสูงมากในการพัฒนาเทคโนโลยี ดังนั้น หาก กสทช.นำเอาโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ไปตัดสินควรเพิ่มการพัฒนา OTT ของโอเปอเรเตอร์เข้าไปด้วย

อย่างไรก็ตาม นายพสุ ศรีหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ย้ำว่า การทำประชาพิจารณ์หรือโฟกัสกรุ๊ปครั้งที่ 3 นี้ เป็นการรับฟังความเห็นจากนักวิชาการเพื่อพัฒนาโมเดลทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้น ไม่ได้แสดงความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

โดยสำนักงาน กสทช.จะรวบรวมข้อวิพากษ์วิจารณ์ทางวิชาการไปพัฒนาการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ให้ดียิ่งขึ้นภายใน 2 สัปดาห์จากนี้ ทั้งจากในการประชุมนี้และจากทางออนไลน์ เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการด้านการควบรวมฯต่อไป