ควบรวมทรู-ดีแทค นักวิชาการ เสนอผลวิเคราะห์ค่าบริการ 9 ฉากทัศน์

ทรู ดีแทค

กสทช. จัดโฟกัสกรุ๊ป รอบที่ 3 รอบนักวิชาการ พร้อมเสนอผลการศึกษาผลกระทบด้านราคา 9 ฉากทัศน์

วันที่ 7 มิถุนายน 2565 กสทช.จัดประชุมรับฟังความเห็นสาธารณะ (โฟกัสกรุ๊ป) รอบ 3 นักวิชาการ ต่อกรณีการควบรวมกิจการ ‘ทรู-ดีแทค’ โดยเน้นการเสนอกรอบแนวคิด (Framwork) ทางวิชาการในการประเมินผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก

รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า “การรับฟังความคิดเห็นในรอบนี้ เป็นการแสดงความคิดเห็นและข้อวิพากษ์ ต่อกรอบความคิด (Framwork) ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากการควบรวมกิจการที่ กสทช.ได้ศึกษา โดยมีหน่วยงานทางวิชาการ สถาบันวิจัย ตลอดจนมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีการเรียนการสอนด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อช่วยแสดงความเห็นและพิจารณากรอบคิดเรื่องผลกระทบด้านราคาที่จะเกิดขึ้นหากมีการควบรวมกิจการดังที่จะนำเสนอ”

ดร.ประถมพงศ์ ศรีนวล เศรษฐกรเชี่ยวชาญ กสทช.ได้นำเสนอกรอบความคิดในการศึกษา โดยใช้โมเดล Merger simulation และ Upward Pricing Pressure (UPP) ซึ่งใช้การประเมินด้วย 9 ฉากทัศน์ (Scenarios) หลังการควบรวมกิจการ โดยแบ่งเป็นสามกรณีหลัก ได้แก่

1. กรณีไม่เกิดการลดต้นทุนส่วนเพิ่ม
2. กรณีเกิดการลดต้นทุนส่วนเพิ่ม 5%
3. กรณีเกิดการลดต้นทุนส่วนเพิ่ม 10%

ในสามกรณีหลักข้างต้น แบ่งฉากทัศน์ซ้ำกันกรณีละ 3 ฉากทัศน์ คือ

1.จำลองกรณีไม่เกิดการร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการที่เหลือในตลาด
2.จำลองกรณีมีการร่วมมือในระดับต่ำ
3.จำลองกรณีมีการร่วมมือกันในระดับสูง

ทำให้เกิดโมเดลจำลองฉากทัศน์ 9 ฉาก ได้ข้อสรุปว่า

กรณีที่ไม่เกิดการร่วมมือกันของผู้ให้บริการที่เหลืออยู่ จะทำให้ราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น 2.03-19.53%

กรณีมีการร่วมมือกันในระดับต่ำ จะทำให้ราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น 12.57-39.81%

กรณีมีการร่วมมือกันในระดับสูง จะทำให้ราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น 49.30-244.50%

หรือกล่าวได้ว่า ยิ่งมีการจำลองการลดต้นทุนส่วนเพิ่มมากขึ้นและจำลองการที่ผู้ให้บริการในตลาดร่วมมือกันมากขึ้น จะยิ่งทำให้รูปแบบราคาค่าบริการเพิ่มสูงขึ้น