ดีลควบรวมทรู-ดีแทคผ่าน ที่ปรึกษาจุฬาฯ หวั่นค่าโทร.แพงขึ้น

ดีลควบรวมทรู-ดีแทคผ่าน ที่ปรึกษาจุฬาฯ หวั่นค่าโทรแพงขึ้น

เปิดผลการศึกษาจากที่ปรึกษาอิสระและจุฬาฯ ซึ่งทาง กสทช.ว่าจ้าง ชี้ว่าราคาค่าโทรศัพท์มือถืออาจสูงขึ้น หากทรูควบรวมดีแทคผ่าน บอร์ดเรียกถกด่วน

วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าภายหลังการจัด Focus Group ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รอบแรกสิ้นสุดลงไปเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า ในวันรุ่งขึ้น (10 พ.ค.) บอร์ด กสทช. สั่งเรียกประชุมด่วนร่วมกันทันที เพื่อหารือถึงแนวทางการทำงานต่อจากนี้ของสำนักงาน กสทช.

นอกจากนั้น สิ่งที่บอร์ด กสทช.ต้องการเอกสารประกอบการพิจารณาก็เพื่อให้การพิจารณาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นมีข้อมูลจากการรับฟังสาธาณะวงกว้าง (Public Hearing) หรือจะเป็นการรับฟังความเห็นในวงจำกัด (Focus Group) อย่างที่ผ่านมา มีมิติที่ครอบคลุมในทุกด้าน มีความหลากหลายของข้อมูล และได้ยินเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการควบรวมธุรกิจของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นจำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค อย่างแท้จริง

สำหรับประเด็นที่ถูกหยิบยกกันมาพูดคุยในที่ประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้นำผลศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่สำนักงาน กสทช.ได้ว่าจ้างให้ทำหน้าที่ดำเนินการศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ มาประกอบกับผลศึกษาของที่ปรีกษาอิสระ ที่สำนักงาน กสทช.ได้แต่งขึ้นมาพิจารณาควบคู่กันโดยที่ปรึกษาอิสระชุดดังกล่าวนี้มาจาก 4 หน่วยงานหลัก ๆ

คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อัยการสูงสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และที่สำคัญได้รายงานผลการศึกษาของนักเรียนทุนและฝ่ายวิชาการของสำนักงาน กสทช. เอง มีการรายงานเป็นเอกสารต่อบอร์ดเสร็จเรียบร้อยแล้ว

“ตามหลักเศรษฐศาสตร์การที่ตลาดใดตลาดหนึ่งมีผู้เล่นในตลาดลดลงจาก 3 รายเหลือ 2 ราย ซึ่งทั้ง 2 รายเป็นรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาด หรือมีแชร์เกินกว่า 45% มีความเป็นไปได้ว่าราคาค่าบริการในระยะยาวจะแพงขึ้น 20-30% เพราะผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการใช้งาน ทำให้การแข่งขันอย่างเสรีสิ้นสุดลงโดยปริยาย แต่หากลองดูผลการศึกษาจากที่ปรึกษาทางการเงินจากฝั่งของทรูและดีแทคเอง ก็ออกมาในทางเดียวกันว่าราคาค่าบริการเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในอัตราไม่เกิน 10%” ผลศึกษา ระบุ

ด้านแหล่งข่าวจากบอร์ด กสทช. เผยว่า จากตัวเลขที่ชี้ชัดออกมาในลักษณะนี้ ทำให้บอร์ดเร่งจัดทำ Focus Group อีก 2 กลุ่มที่เหลือโดยเร็วเพื่อนำมาประกอบรายงานและเพื่อเข้าวาระการประชุมบอร์ดเพื่อจะได้ลงมติต่อไป ดังนั้น สิ่งที่ กสทช.จะต้องเร่งทำคือสร้างความเชื่อมั่น และสร้างผลงานที่เป็นเหมือนชิ้นแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่งนี้ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม

แหล่งข่าว ระบุอีกว่า หากท้ายที่สุดการควบรวมยังคงดำเนินไป และบอร์ดอนุญาตให้เกิดการควบรวม สิ่งที่บอร์ด กสทช.ทำได้ คือ ออกมาตรการเยียวยา เพื่อกำหนดเป็นเงื่อนไขในการควบรวมธุรกิจ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ข้อ ได้แก่ 1.เชิงโครงสร้าง หากทรูและดีแทครวมกัน จะทำให้มีคลื่นความถี่ราว 1350 MHz แบ่งเป็นทรูมีคลื่นรวม 1020 MHz ส่วนดีแทคมี 330 MHz มีเสา สถานีฐานมากกว่า 80,000 ต้น

ดังนั้นหากยึดเอากรณีตัวอย่างในต่างประเทศที่เกิดการควบรวมธุรกิจเช่นนี้ ผู้ที่ขอควบรวมจำเป็นต้องขายสินทรัพย์ของตัวเองที่มีอยู่เพื่อนำมาให้หน่วยงานกำกับดูแลนำมาประมูลใหม่ เพื่อให้การแข่งขันที่เหลืออยู่ในตลาด ไม่เกิดการเสียเปรียบไปมากกว่าที่เป็นอยู่ หรือรัฐบาลอาจนำเอาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นมาให้บริการเพื่อสังคม

2.เชิงพฤติกรรม หากทรูและดีแทครวมกันส่งผลให้มียอดผู้ใช้งานมากเกินกว่า 50 ล้านราย และเกินกว่า 80% ของจำนวนประชากรที่ใช้งานจริงในไทย มาตรการที่ต้องออกมาจึงจำเป็นต้องออกประกาศกำหนดการควบคุมราคาค่าใช้บริการให้ไม่เกินเกณฑ์เพดานขั้นสูงและต้องไม่มีค่าบริการเกินกว่าอัตราที่ กสทช.กำหนด