รุมค้านบิ๊กดีล ทรู-ดีแทค ลดทางเลือกผู้บริโภค

หลัง “กสทช.” ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่รับช่วงการพิจารณาบิ๊กดีลการควบรวมกิจการระหว่าง “ทรู-ดีแทค” โดยกำหนดว่าจะมีการจัดทำโฟกัสกรุ๊ปเพื่อรับฟังความคิดเห็น 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเปิดเวทีให้ตัวแทนภาคธุรกิจ (9 พ.ค. 2565)

อีกสองครั้งยังไม่กำหนดวัน แต่เป็นรอบของนักวิชาการ และตัวแทนผู้บริโภค ซึ่งในระหว่างทาง คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจ “ทรู-ดีแทค” ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) เช่นกัน เมื่อ 26 พ.ค. 65 ที่ผ่านมา

มีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้บริโภคเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นคึกคัก โดยได้เชิญตัวแทน “ทรู และดีแทค” เข้าร่วมด้วย แต่ทั้งคู่ปฏิเสธการเข้าร่วม

โดย นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรู-ดีแทค ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง กล่าวว่า การระดมความเห็นวันนี้อยากได้มุมมองเรื่องผลกระทบและข้อเสนอในการจัดการผลกระทบต่อผู้บริโภค เพื่อที่ กสทช.จะนำไปประมวลว่าจะกำหนดเงื่อนไขเฉพาะหรือไม่อย่างไร และได้เชิญบริษัทผู้ขอควบรวมมาให้ข้อมูลด้วย แต่ไม่ทราบว่ามีเหตุฉุกละหุกใดจึงมาไม่ได้

“ถึงอย่างนั้น เราได้เตรียมข้อมูลที่บริษัทขอควบรวมไว้ด้วย เพื่อป้องกันปัญหาว่าข้อมูลไม่ครบถ้วน โดยรวบรวมจากเอกสารเท่าที่จะเตรียมได้ที่เอกชนเคยส่งมาแล้ว และเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยในรายงานความเห็นของที่ปรึกษาการเงินอิสระ ที่เสนอต่อผู้ถือหุ้นทรู

สรุปเหุตผลการควบรวมว่า คือการต่อยอดบริษัทโทรคมนาคมเป็นบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันจากการขยายบริการ ลดการลงทุนซ้ำซ้อน และเปิดโอกาสให้บริษัทที่จะเกิดใหม่นำเงินไปลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีอื่น”

ส่วนผลที่จะเกิดขึ้นกับ “ผู้บริโภค” คือจะทำ Cross sell และนำเสนอบริการที่หลากหลาย มีปรับปรุงคุณภาพสัญญาณ 5G ให้ครอบคลุม และมีความเสถียร ทำให้ร้านค้าและศูนย์บริการของทั้งสองบริษัทเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น เป็นต้น”

“TDRI” ย้ำดีที่สุดต้องไม่ให้ควบรวม

ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แสดงความเห็นว่า ในระบบการแข่งขันเสรีจะปล่อยให้มีการควบรวมโดยเสรีไม่ได้ แต่ต้องมีการกลั่นกรอง ซึ่งมาตรฐานในการกลั่นกรองในทางวิชาการจะมีการเทียบ “ประโยชน์” ทั้งต่อสังคมหรือต่อธุรกิจ และ “ความเสี่ยง” ต่อสาธารณชนหรือต่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ กสทช.ต้องพิจารณา ถ้าเสี่ยงสูงกว่าประโยชน์จะ “ห้ามควบรวม”

โดยอ้างอิงกรณีผลการศึกษาเรื่องควบรวมธุรกิจใน 59 ประเทศ จะใช้ดัชนี HHI หรือดัชนีชี้วัดการกระจุกตัวของตลาด และความเสี่ยงจากการควบรวม ระบุว่า ระดับการกระจุกตัวมีผลต่อหลายตัวแปรทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระจุกตัวของตลาด คือการผูกขาดผู้ให้บริการ และนำไปสู่การ “ลดบริการด้านไอซีที และระดับการพัฒนานวัตกรรม”

“ผลวิจัยนี้หักล้างกับสิ่งที่ผู้ขอควบรวมเสนอว่าจะเพิ่มบริการได้อย่างหลากหลายแก่ประชาชน และพัฒนานวัตกรรมได้ดีขึ้น มีการอ้างประโยชน์แก่ผู้บริโภค แต่ไม่ได้พูดถึงทางเลือกอื่นที่จะสร้างประโยชน์โดยไม่ควบรวม อีกทั้งยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าจะขจัดความเสี่ยงต่อการควบรวมที่มีต่อผู้บริโภคได้อย่างไร”

นอกจากนี้ยังได้เสนอ 3 แนวทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค คือ 1.ไม่ให้ควบรวม หรือหากมีผู้ประกอบการรายใดออกจากตลาดไป ก็ให้ขายกิจการผู้ประกอบการรายใหม่ และลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยวิธีต่าง ๆ

2. ให้ควบรวม โดยกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดมาก เพราะการกระจุกตัวของไทยมีมากกว่าผลการศึกษาในอเมริกา ดังนั้นเงื่อนไขต้องเข้มงวดกว่า โดยต้องให้มีการคืนคลื่นความถี่ เพื่อจัดสรรให้ผู้เล่นใหม่เป็นการเฉพาะ และ 3.ให้มีการควบรวม โดยส่งเสริมให้เกิดผู้ให้บริการมือถือที่ไม่ต้องสร้างเครือข่ายเอง (MVNO)

“หากผู้ควบรวมไม่สามารถพิสูจน์ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจริง โดยหาหลักฐานมาหักล้างความเสี่ยงต่อผู้บริโภคจากการผูกขาดได้ ทางเลือกที่ดีที่สุดของ กสทช.คือ ไม่ให้ควบรวม”

ลดแข่งขัน-ค่าบริการแพงขึ้น

“ฉัตร คำแสง” ผู้อำนวยการ 101 PUB-101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า การควบรวมจะทำให้ราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มขึ้น 7-23% หรือ 15-50 บาทต่อเดือน และหากถึงจุดที่ผู้ให้บริการอิ่มตัว แบ่งตลาดกันลงตัวแล้ว ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ค่าบริการจะแพงขึ้น 66-120%

แม้ กสทช.มีกลไกเพดานราคาอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาค่าบริการโทรศัพท์โดยรวมต่ำกว่าราคาเพดาน 10-20% เพราะมีการแข่งขัน ถ้าการแข่งขันหายไป “ราคา” จะวิ่งกลับไปสู่ราคาเพดาน ซึ่งสอดคล้องกับแบบจำลองที่ทำไว้

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าการควบรวมกิจการโทรคมนาคมในเยอรมนีจาก 4 ราย เหลือ 3 ราย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ ทรู และดีแทค ที่กล่าวถึงประโยชน์ในการควบรวม แต่ปรากฏว่าแม้บริษัทที่เกิดจากการควบรวมจะสามารถแข่งขันได้อย่างดี แต่แนวโน้มของ “ราคา” โดยรวมกลับเพิ่มขึ้นในระยะยาว

อีกทั้งในประกาศ กสทช. ปี 2561 แม้ข้อ 5 จะเขียนว่า ให้การควบรวมนั้นเป็นการรายงาน แต่ถ้าพลิกประกาศฯมาอีกหน้า ในข้อ 9 ระบุว่า การควบรวมต้องได้รับการอนุญาตจาก กสทช.และข้อ 8 เขียนว่าการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ทั้งทางตรงทางอ้อม หรือผ่านตัวแทน

โดยมีการซื้อหุ้นหรือเข้าถือครองหุ้นเกิน 10% ขึ้นไปจะทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ถ้าเกิดการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขัน กสทช.มีอำนาจสั่งห้ามได้ หรือใช้การกำหนดมาตรการเฉพาะได้

AIS ยอมรับตลาดเปลี่ยนถาวร

“ศรัณย์ ผโลประการ” ผู้แทนจาก AWN ในเครือเอไอเอส กล่าวว่า การควบรวมกิจการเป็นเรื่องปกติในการดำเนินธุรกิจ แต่เป็นการลดทางเลือกในตัวเอง โดยเฉพาะในธุรกิจโทรคมนาคมที่เป็นตลาดกึ่งผูกขาดมีผู้เล่นน้อยราย การควบรวมจึงเป็นการลดทางเลือกให้น้อยลงไปอีก ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้บริโภค

ทั้งด้านราคา ด้านบริการ และเครือข่าย โดยเฉพาะด้านเครือข่าย อาจเห็นผลดีในช่วงแรก เพราะผู้ให้บริการจับสัญญาณของกันและกันได้ แต่การทำเครือข่ายมือถือต้องหมั่นขยายช่องสัญญาณ และปรับจูนสัญญาณตลอดเวลา ถ้าละเลยที่เคยดีก็จะไม่ดี

“สัญญาณของผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย ไม่มีรายไหนดีหมดทั้งประเทศ ผู้บริโภคจึงเลือกรับบริการได้จากคุณภาพสัญญาณ การตั้ง MVNO ขึ้นมาก็ไม่สามารถเพิ่มตัวเลือกด้านสัญญาณเครือข่ายได้ เพราะใช้สัญญาณเดียวกันกับผู้ถือใบอนุญาตความถี่ รวมถึงแอปพลิเคชั่น และ OTT อื่น ๆ ถ้าสัญญาณหลักดับ ทุกอย่างก็ดับ”

ทั้งย้ำว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยที่เจริญทัดเทียมนานาประเทศได้ก็ด้วยการแข่งขันอย่างดุเดือดของ 3 ราย ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ให้บริการ คุณภาพสัญญาณ และความเร็วอินเทอร์เน็ต

“สัญญาณเน็ตเราดีกว่าหลายประเทศในยุโรป แต่หากลดการแข่งขันก็จะมีความสุ่มเสี่ยงที่การพัฒนาจะถดถอย ส่งผลต่อช่องทางการจัดจำหน่ายด้วย เพราะหนึ่งในผู้ควบรวมมีบริษัทแม่ที่ครอบครองช่องทางค้าส่งค้าปลีกเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้ตลาดโทรคมนาคมเดิมที่เคยเป็นตลาดกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว กลายเป็นตลาดผูกขาดโดยสองราย”

ตัวแทน “เอไอเอส” ยอมรับว่า หากปล่อยให้มีการควบรวม เชื่อว่าจะเป็นการเปลี่ยนแบบถาวร และเปลี่ยนกลับไม่ได้