ทรู-ดีแทค ปฏิเสธร่วมเวทีโฟกัสกรุ๊ป “หมอลี่”

หลังจาก “กสทช.” ตั้ง “หมอลี่” เป็นอนุกรรมการศึกษาควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” ล่าสุด มีข่าวว่าทรู-ดีแทค ปฏิเสธร่วมเวทีโฟกัสกรุ๊ป วันพฤหัสบดีที่ 26 พ.ค. 2565 แล้ว

วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 รายงานข่าวจาก กสทช. เปิดเผยว่าทรูและดีแทคปฎิเสธไม่ขอเข้าร่วมกระบวนการเข้าร่วมโฟกัสกรุ๊ป ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลมือง ที่คณะของนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หรือ “หมอลี่” ที่จะจัดขึ้นในวันพฤหัสฯ ที่ 26 พ.ค.นี้

ก่อนหน้านี้ เวทีการจัดการรับฟังความเห็นแบบ “โฟกัสกรุ๊ป” ดังกล่าวถูกตั้งคำถามในแวดวงการวิจัยและโทรคมนาคม ว่า เป็นการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นที่ถูกต้องตามกระบวนการวิจัยหรือไม่ และจะนับเป็นหนึ่งในสามการจัด “โฟกัสกรุ๊ป” ตามโรดแมปของ กสทช. ที่กำหนดไว้ 3 ครั้งหรือไม่ และรูปแบบที่กำลังดำเนินการอยู่สามารถให้ผลที่น่าเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด

สำหรับโฟกัสกรุ๊ปที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย (1) กลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (2) กลุ่มนักวิชาการ (3) กลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ กำหนดกรอบจรรยาบรรณนักวิจัยขึ้นในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2541 เพื่อใช้เป็นแนวหลักเกณฑ์ควรประพฤติของนักวิจัยทั่วไป ไม่ว่าสาขาวิชาการใดๆ โดยให้มีลักษณะเป็นข้อพึงสังวรคุณธรรม และจริยธรรมในการทำงานวิจัยเพื่อให้การดำเนินงาน วิจัยตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรม และหลักวิชาการที่เหมาะสม

ซึ่งหลักปฏิบัติข้อหกระบุว่า “…ข้อ 6 นักวิจัยต้องมีอิสระทางความคิด โดย ปราศจากอคติในทุกขั้นตอนของการทำวิจัย นักวิจัยต้องมี อิสระทางความคิด ต้องตระหนักว่า อคติส่วนตน หรือ ความลำเอียงทางวิชาการ อาจส่งผลให้มีการบิดเบือน ข้อมูล และข้อค้นพบทางวิชาการ อันเป็นเหตุให้เกิดผล เสียหายต่องานวิจัย…”

จากหลักการดังกล่าวจึงเป็นที่น่าสังเกต 3 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง, “หลักแห่งความเป็นกลาง” การที่บอร์ดกสทช. แต่งตั้งนายประวิทย์ ซึ่งแสดงจุดยืนชัดเจนที่ไม่เห็นด้วยในการควบรวมทรู-ดีแทค มาโดยตลอด เมื่อได้รับแต่งตั้งมาเป็นประธานการจัดโฟกัสกรุ๊ป ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง จะนำมาซึ่งการขาดคุณสมบัติจริยธรรมการวิจัยหรือไม่

ประเด็นที่สอง, “หลักแห่งความยุติธรรมและจริยธรรมการวิจัย” มีกระบวนการเลือกผู้เข้าร่วมโครงการอย่างถูกต้องและยุติธรรม (กระจายกลุ่มตัวอย่าง / ประโยชน์ที่ได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ลำเอียงต่อกลุ่มใด)

ทั้งนี้ จากการสัมมนา Consumers Forum ของสภาองค์กรของผู้บริโภค เรื่องนโยบายสาธารณะกับปัญหาการควบรวมกิจการโทรคมนาคม เมื่อวันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2565 นพ.ประวิทย์แสดงจุดยืนในงานว่า ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมทรู-ดีแทค แต่ได้รับมอบหมายจาก กสทช. ให้เป็นประธานอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภค และให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการจัดการจัดโฟกัสกรุ๊ป ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ในนามกสทช. เพื่อพูดคุยเรื่องการควบรวมทรู-ดีแทค

ประเด็นที่สาม, “หลักแห่งความชอบธรรม” ควรตั้งคำถามว่า คณะอนุกรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมืองมีอำนาจในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในวงจำกัด (โฟกัสกรุ๊ป) และกระบวนการที่ดำเนินการเป็นไปตามหลักการวิจัยที่ถูกต้องได้รับการยอมรับหรือไม่

ทั้งนี้ เพราะจริยธรรมงานวิจัยถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง หากปล่อยให้เกิดการดำเนินการโดยปราศจาการอ้างอิงหลักการด้านจริยธรรมงานวิจัยที่ถูกต้องก็ยากที่ผลลัพธ์จะถูกนำมาใช้โดยที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ