เศรษฐกิจแกร่ง-ขัดแย้งตะวันออกกลาง หนุนดอลลาร์ “แข็งค่า” ลากยาว

FRANCE-TRANSPORT-TRAIN
Commuters wait for their trains at Gare du Nord railway station in Paris on March 21, 2024. (ช่างภาพโดย Ludovic MARIN / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจ
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

เรียกได้ว่า “รอจนท้อ” สำหรับการรอให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ยลงมาในปีนี้ แต่แรกคาดหวังว่าจะลดอย่างน้อย 2-3 ครั้งและน่าจะเริ่มหั่นครั้งแรกเดือนมิถุนายน แต่ตัวเลขเศรษฐกิจและการจ้างงานที่แข็งแกร่ง และเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวในระดับสูงอย่างยืดเยื้อ ทำให้ความหวังที่จะเห็นเฟดลดดอกเบี้ยริบหรี่ลง

การ “ไม่ลดดอกเบี้ย” นั่นย่อมหมายถึงการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบลูมเบิร์กรายงานว่า ตลาดการเงินกำลังเผชิญกับพลังที่ไม่คาดคิดมาก่อนในปี 2024 นั่นคือ “ดอลลาร์แข็งค่ากลับมาแล้ว และมันจะอยู่แบบนี้ต่อไป” การที่ดอลลาร์ยังเดินหน้าแข็งค่าเป็นสัญญาณเตือนสำหรับตลาด จากที่เคยประเมินว่าปีนี้ดอลลาร์จะอ่อนค่าลง ถึงตอนนี้บรรดานักลงทุนต้องคิดใหม่ เมื่อเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ

ล่าสุดหลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีของสหรัฐว่าจะเติบโต 2.7% ในปีนี้ สูงขึ้นจากครั้งก่อนหน้า และยังเติบโตมากกว่ากลุ่มจี 7 ด้วยกันถึง 2 เท่า รวมถึงการระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐโดดเด่นกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ สะท้อนให้เห็นถึง “ความพิเศษ” ของเศรษฐกิจสหรัฐ ได้กลายเป็นแรงสนับสนุน ตลาดหุ้นและผลตอบแทนพันธบัตร ยิ่งเพิ่มความน่าดึงดูดให้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีดอลลาร์เพิ่มขึ้นมากกว่า 4% แล้วในปีนี้ แข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินประเทศพัฒนาแล้วขนาดใหญ่ทั้งหมด รวมทั้งประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ปรับเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับดอลลาร์สหรัฐ หนึ่งในนั้นก็คือ “แวนการ์ด กรุ๊ป อิงก์” บริษัทจัดการด้านการเงินใหญ่อันดับสองของโลก ที่ตอนนี้เปลี่ยนมุมมองใหม่ โดยคาดการณ์ว่าดอลลาร์จะรักษาระดับความแข็งแกร่งเอาไว้ได้

ส่วน ยูบีเอส แอสเซต แมเนจเมนต์ เชื่อว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นอีก แม้ว่าปัจจุบันจะมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าที่เหมาะสมถึง 20% ขณะที่สถาบันการลงทุน เวลส์ ฟาร์โก ที่เคยทำนายว่าดอลลาร์จะอ่อนค่าภายในปลายปี 2024 ตอนนี้ยอมรับว่าดอลลาร์จะแข็งค่ายาวไปตลอดปี 2025

แวนการ์ดฯชี้ว่า หากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของประเทศอื่น ๆ ไม่เติบโตในระดับเทียบเท่ากับสหรัฐอเมริกา ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องซื้อดอลลาร์ การค้าดอลลาร์ในแบบที่ต้องใช้กลยุทธ์ มาบัดนี้ต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นการมองในเชิงโครงสร้างระยะยาวของดอลลาร์และเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน

แน่นอนว่าการแข็งค่าของดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินหลักที่ธนาคารกลางทั่วโลกเก็บไว้ในทุนสำรองระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อค่าเงินและเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ โดยที่อินเดียและไนจีเรียเป็นกลุ่มประเทศที่มีค่าเงินอ่อนลงมากเป็นประวัติการณ์

ธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย กลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร และสหราชอาณาจักร อาจสามารถลดดอกเบี้ยได้อย่างจำกัด หากค่าเงินที่อ่อนลงไปกระตุ้นเงินเฟ้อภายในประเทศ ส่วนประเทศที่มีหนี้ต่างประเทศสูง เช่น มัลดีฟส์ โบลิเวีย รวมทั้งประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากอเมริกาอย่างสูงจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด

เมื่อตลาดลดความคาดหวังว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยนโยบาย ผลักดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐในไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาทะยานขึ้นเกือบแตะ 5% กลายเป็นแรงขับเคลื่อนใหญ่ให้ดอลลาร์มีความน่าสนใจ ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ที่ก่อให้เกิดความปั่นป่วนด้านการเมืองและการเงิน เป็นอีกแรงส่งที่ทำให้ดอลลาร์ได้รับความนิยมในฐานะหลุมหลบภัยที่ไม่มีใครเทียบได้ สถานะนี้ของดอลลาร์เห็นได้ชัดเต็มที่ในวันศุกร์ที่ 19 เมษายน หลังจากอิสราเอลยิงตอบโต้อิหร่าน ปรากฏว่า “ดอลลาร์แข็งค่าแบบพุ่งพรวด”

นักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่งทำให้นักกลยุทธ์ด้านเงินตราเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐ แทนที่จะซื้อยูโรหรือหยวน เพราะตอนนี้วัฏจักรการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐขยับสูงขึ้นไปอีก จากปัจจัยด้านผลิตภาพ การลงทุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งมองไม่เห็นแนวโน้มนี้ในยูโรโซน ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจจีนเห็นได้ชัดว่าเสื่อมถอยลง

ถึงแม้ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะเป็นปัจจัยใหม่ที่ทำให้ดอลลาร์ได้รับความนิยม และอาจไม่แข็งค่าต่อไปหากความขัดแย้งยุติลง แต่แคโรล คอง นักกลยุทธ์ของคอมมอนเวลท์ แบงก์ ออฟ ออสเตรเลีย เชื่อว่าดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าต่อไปแม้ความขัดแย้งจะหมดไป เนื่องจากสหรัฐมีความอิสระด้านพลังงาน ไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ และการที่ดอลลาร์ให้ผลตอบแทนดี ก็จะดึงดูดนักลงทุนเข้าหาดอลลาร์เรื่อย ๆ