เงินเฟ้อสหรัฐยังคงสูง ส่งดอลลาร์แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/4) ที่ระดับ 36.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (10/4) ที่ระดับ 36.37/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก

โดยดัชนีดอลลาร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแตะที่ระดับ 105.30 ภายหลังจากสหรัฐ ได้มีการประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่กรรมการเฟดให้ความสำคัญ โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ขยายตัว 3.5% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบรายปี มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 3.4% และมากกว่าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ระดับ 3.2%

ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานเดือนมีนาคม ขยายตัว 0.4% เมื่อเทียบรายเดือน มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 0.3% จากตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมีนาคมนั้น ส่งผลทำให้นักลงทุนเพิ่มการคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.5% ในเดือนมิถุนายน

โดยจากข้อมูลจาก CME FedWatch Tool ก่อนที่จะประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ ชี้ว่านักลงทุนคาดการณ์ว่า 42.6% จะคงอัตราดอกเบี้ย แต่ภายหลังจากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ การคาดการณ์เพิ่มสูงขึ้นเป็น 83% อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปีนี้

ทั้งนี้ ตลาดจับตาดูตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมีนาคมที่จะเปิดเผยในคืนนี้ โดยคาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้ผลิตทั่วไปจะขยายตัว 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน มากกว่าในเดือนกุมภาพันธ์ที่อยู่ที่ระดับ 0.6%

ทางด้านปัจจัยภายในประเทศ เมื่อวานนี้ (10/04) ทางคณะกรรมการนโยบายการเงินได้มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.5% ต่อปี โดยกรรมการเสียงส่วนใหญ่ ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน

โดยทาง กนง.จะเน้นพิจารณาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทางด้านของกรรมการเสียงส่วนน้อยเห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ต่ำลง ทั้งนี้ ทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปี 2567 เนื่องจากการมีมติไม่เป็นเอกฉันท์นั้น ถือเป็นการส่งสัญญาณการเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า

เนื่องจากผลการประชุมในอดีตพบว่า กนง.มักจะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ต่อเนื่องหลายครั้งเพื่อส่งสัญญาณต่อตลาดการเงินก่อนจะเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ย โดยในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.59-36.72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.61/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/4) ที่ระดับ 1.0743/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (10/4) ที่ระดับ 1.0860/61 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ

โดยในคืนนี้ทางธนาคารกลางยุโรปจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน โดยทางนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 4.5% และคาดการณ์ว่า ECB จะลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ที่ 0.25% โดยในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0725-1.0749 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0734/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/4) ที่ระดับ 152.84/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (10/4) ที่ 151.85/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ในคืนที่ผ่านมา ค่าเงินเยนอ่อนค่าแตะระดับ 153.24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 34 ปี โดยนายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ได้กล่าวว่า ทางการญี่ปุ่นจะไม่ตัดความเป็นไปได้ในการดำเนินมาตรการใด ๆ เพื่อรับมือกับภาวะที่ผันผวนมากเกินไปในตลาดปริวรรตเงินตรา โดยทางญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราญี่ปุ่นในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา

โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนกันยายน และครั้งที่ 2 ในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 152.76-153.28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 153.22/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐสหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งของสหรัฐเดือน ก.พ. (11/4), ธนาคารกลางยุโรป (ECB) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย (11/4), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐเดือน มี.ค. (11/4), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนเดือน มี.ค. (11/4), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของจีนเดือน มี.ค. (11/4), ราคานำเข้าและส่งออกของสหรัฐเดือน มี.ค. (12/4) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน เม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (12/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.3/-9.15 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.5/5.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ