ดอลลาร์ยังคงแข็งค่า แม้ PMI ต่ำกว่าคาด

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/4) ที่ระดับ 36.64/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (3/4) ที่ระดับ 36.70/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักโดยดัชนีดอลลาร์เปิดตลาดปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 104.22 หลังการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการออกมาต่ำกว่าคาด ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ

แต่อย่างไรก็ดีการย่อตัวของดอลลาร์สหรัฐยังคงอยู่ในระดับที่จำกัดเนื่องจากเมื่อคืนที่ผ่านมานายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดยังคงพูดย้ำจุดยืนเดิมในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเมื่อวานนี้ว่า

เฟดจะไม่เร่งรีบในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาด ขณะเดียวกันนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตาก็ได้ออกมากล่าวในรายการ “Squawk Box” ของสำนักงานซีเอ็นบีซีเมื่อวานนี้ว่าเขาคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้และจะเกิดในไตรมาสที่ 4/2567

นอกจากนี้ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) ยังมีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐ ซึ่งออกมามากกว่าที่คาดซึ่งสนับสนุนว่าภาคเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงแข็งแกร่งอยู่ ทั้งนี้ตลาดยังคงรอจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเอกชนที่จะออกมาในคืนวันพรุ่งนี้ (5/4) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยต่อไป

ในด้านค่าเงินบาทเมื่อวานนี้ (3/4) ค่าเงินบาทอ่อนค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนใกล้ระดับ 36.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นเงินบาทได้แข็งค่าลงตามสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเนื่องจากดอลลาร์อ่อนค่าลง

ด้านประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าวถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่า ตลาดคาดการณ์ว่าในปีนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ โดยรวมจะลดลง 0.50% แต่จะปรับลดในการประชุมวันที่ 10 เม.ย.นี้หรือไม่ยังคงต้องรอติดตามผลการประชุมก่อน ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.50% โดยในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.55-36.71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.70/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/4) ที่ระดับ 1.0841/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (3/4) ที่ระดับ 1.0767/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนั้นแล้วในระหว่างวันยูโรยังได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการบริการออกมาที่ระดับ 51.5 มากกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 51.1 และ PMI รวมของยูโรโซนซึ่งออกมา 50.3 มากกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 49.9 นอกจากนี้ยังมีดัชนี PMI ภาคบริการของประเทศสเปน อิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมนีที่ล้วนออกมามากกว่าที่คาด โดยในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0831-1.0862 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0858/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/4) ที่ระดับ 151.61/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (3/4) ที่ 151.50/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนต่อดอลลาร์ยังคงอยู่ในทิศทางอ่อนค่าโดยเคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 151.50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาสัญญาณการเข้าแทรกแซงตลาดจากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น

โดยคาดการณ์ว่ารัฐบาลประเทศญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงเมื่อดอลลาร์แข็งค่าแตะระดับประมาณ 152 เยน ซึ่งเป็นระดับที่รัฐบาลญี่ปุ่นเคยเข้ามาแทรกแซงเมื่อปี 2565 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 151.52-151.75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 151.74/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (4/4), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน ก.พ.ของสหรัฐ (4/4), จำนวนคนยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (4/4), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง (4/4), อัตราการว่างงานของสหรัฐ (5/4), รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงของสหรัฐ (5/4), ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (5/4), ดัชนีการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่น (5/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.1/8.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.5/-4.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ