สรท.มั่นใจส่งออกไทย 67 โตได้ถึง 2% ชงตั้งกองทุนร่วมเอกชนพยุงปมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ส่งออก

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เผยส่งออกเดือน มี.ค. 2567 ร่วง 10.9% ขาดดุล 52,538 ล้านบาท ประเมินส่งออกไทยปีนี้ยังมีแรงบวกโตได้ 1-2% เผยการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ต้องกำหนดมาตรการช่วยเหลือภายใต้กลไกคณะกรรมการไตรภาคี ชงตั้งกองทุนร่วมลงทุนกับเอกชน เร่งที่ปรับปรุงกระบวนการผลิตเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนมีนาคม 2567 พบว่าการส่งออกมีมูลค่า 24,960.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2566 หดตัว 10.9% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 892,290 ล้านบาท หดตัว 6.6% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าหด 5.6%)

ชัยชาญ เจริญสุข
ชัยชาญ เจริญสุข

ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 26,123.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 944,828 ล้านบาท ขยายตัว 10.7% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2567 ขาดดุลเท่ากับ 1,163.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 52,538 ล้านบาท

ส่วนไตรมาส 1/2567 (มกราคม-มีนาคม 2567) นั้นไทยส่งออกมูลค่า 70,995.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหดตัว 0.2% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าขยายตัว 1.3%) และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 2,504,009 ล้านบาท ขยายตัว 4.2% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 75,470.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.8% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 2,692,023 ล้านบาท ขยายตัว 8.2% ส่งผลให้ดุลการค้าไตรมาส 1 ขาดดุล 188,014 ล้านบาท

โดยคาดการส่งออกรวมทั้งปี 2567 เติบโตที่ 1-2% ซึ่งมีปัจจัยเฝ้าระวังสำคัญ คือสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาสที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม และกระทบต่อช่องแคบฮอร์มุซที่เป็นเส้นทางหลักของการขนส่งน้ำมันโลก ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิต โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ที่ต้องพิจารณาให้รอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพรวม

Advertisment

รวมถึงกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายใต้กลไกคณะกรรมการไตรภาคี เพราะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากัน 400 บาททั่วประเทศ ไม่สอดคล้องกับรูปแบบการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นและใช้ทักษะไม่สูง อาทิ อาหาร เกษตร สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งไทยต้องแข่งขันกับสินค้าต้นทุนต่ำจากจีนและเวียดนาม ซึ่งรัฐควรพิจารณารูปแบบการตั้งกองทุนร่วมลงทุนกับบริษัทที่ต้องเสริมสภาพคล่อง สำหรับจ้างแรงงานมีฝีมือมาปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ ปัจจัยที่น่ากังวลยังมีเรื่องของต้นทุนค่าน้ำมันและไฟฟ้า อัตราดอกเบี้ย ค่าระวางเรือ และภัยแล้ง

นอกจากนี้ สรท.ขอให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนและช่วยเหลือให้ผู้ส่งออกทำประกันความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงการชำระเงิน

Advertisment