บอร์ดนายจ้าง-ลูกจ้างประสานเสียง ขึ้นค่าแรง 400 บาทต้องผ่านไตรภาคี

Labor

“ต้องขออภัยที่ต้องใช้เวลา เนื่องจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องได้รับความเห็นชอบจากหลายฝ่าย การอธิบายต้องใช้การโน้มน้าวอธิบาย รุกบ้าง ถอยบ้าง แต่ในที่สุดคือความมุ่งมั่นของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ให้ได้ เพราะนี่เป็นนโยบายสำคัญไม่น้อยกว่านโยบายดิจิทัลวอลเลต”

คำกล่าวเบื้องต้นเป็นคำพูดของ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กล่าวปาฐกถาพิเศษ เนื่องในพิธีเปิดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

อันสอดคล้องและสอดรับกับคำกล่าวของ “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่บอกว่า…ช่วงเวลาที่ล่าช้า เพราะต้องหารือร่วมกับคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี ต้องมีการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ว่า กิจการใดมีความพร้อม หรือยังไม่พร้อม ถ้าหากยังไม่พร้อม ต้องทำอย่างไรให้พร้อม เรายังมีระยะเวลาจากนี้ไปอีก 5-6 เดือน ในการประสานให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อม โดยเฉพาะชาวเอสเอ็มอีที่เป็นผู้จ้างแรงงานมากที่สุด

“ฉะนั้น เมื่อประกาศค่าจ้าง 400 บาทแล้ว เอสเอ็มอีต้องเดินต่อไปได้ กระทรวงแรงงานจะเชิญเจ้าของธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงเอสเอ็มอีมาหารือกัน เพราะการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นทุกอาชีพทั่วประเทศให้เป็น 400 บาทต่อวัน เท่าเทียมกันทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของไทย เพื่อเดินหน้าไปสู่วันละ 600 บาท ในปี 2570”

กล่าวกันว่า หลังสิ้นเสียงประสานที่สอดรับกันระหว่าง “นายอนุทิน” และ “นายพิพัฒน์” กลับปรากฏคำถาม และข้อสงสัยมากมายว่าทำไมถึงรีบด่วนสรุปออกมาพูดเรื่องนี้ เนื่องจากก่อนหน้ามีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไปแล้ว 10 จังหวัด ในอัตราวันละ 400 บาท ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2567 ผ่านมา ที่สำคัญ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการค่าจ้างทั้ง 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง, ลูกจ้าง และรัฐบาล หรือที่ทุกคนรู้จักกันในนามของ “ไตรภาคี”

Advertisment

ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคีจะมีประชุมเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 แต่ไฉน ? ทำไม ? ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลถึงรีบออกมาประกาศเสียงดัง ฟังชัดว่า…1 ตุลาคมนี้ ปรับขึ้นทุกอาชีพทั่วประเทศให้เป็น 400 บาทต่อวัน เท่าเทียมกันทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของไทย

ผลตรงนี้ จึงทำให้ “ประชาชาติธุรกิจ” สอบถาม “นายอรรถยุทธ ลียะวณิช” ผู้แทนฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (บอร์ดค่าจ้าง) ถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่ง “นายอรรถยุทธ” กล่าวว่า เรื่องการปรับค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ ต้องดูหลังประชุมคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีในวันที่ 14 พฤษภาคม ว่ามีการพิจารณาอะไรบ้าง และต้องดูมติว่าแนวทางจะเป็นอย่างไร ถึงจะออกมาพูดถึงแนวโน้มได้

“ธรรมเนียมปฏิบัติการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะมีการพิจารณาปีละครั้ง เพราะเป็นรอบเวลาที่เหมาะสมที่จะดูการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจว่ามีนัยสำคัญอย่างไร และก่อนที่จะมีปฏิทินการปรับค่าจ้างเกิดขึ้นในแต่ละปี ต้องให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเก็บข้อมูลส่วนพื้นที่ก่อน จากนั้นถึงนำข้อมูลมาคำนวณตามที่กฎหมายระบุ ซึ่งจะถอดออกมาเป็นสูตรทางวิทยาศาสตร์ โดยพิจารณาปัจจัยหลัก เช่น GDP ดัชนีค่าครองชีพแต่ละจังหวัด รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ”

“ที่สำคัญ สูตรจะมีการพัฒนาทุกปีเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทต่าง ๆ โดยมีคณะนักวิชาการกลั่นกรองช่วยกันดูเรื่องสูตร พอเสร็จแล้วถึงจะส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการค่าจ้างชุดใหญ่ เพื่อดูว่าเหมาะสมอย่างไร หรือไม่ ซึ่งการปรับค่าจ้างแต่ละปี เราจะตอบคำถามทีละข้อว่า ปีนี้จะปรับหรือไม่ ถ้าจะปรับต้องพิจารณาว่าจะปรับขึ้นเท่าไหร่ และต้องดูว่าแต่ละจังหวัดควรขึ้นเท่าไหร่ รวมถึงควรเริ่มปรับวันที่เท่าไหร่ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวันที่ 1 มกราคมของทุกปี”

Advertisment

ดังนั้น เมื่อถามว่าหากปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศจะกระทบนายจ้างหรือไม่ “นายอรรถยุทธ” ตอบว่า ดูจากสภาอุตสาหกรรมฯ และสภาหอการค้าฯให้สัมภาษณ์ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า นายจ้างจะอยู่ไม่ได้ ถ้าขึ้นสูง ทั้งยังส่งผลกระทบให้สถานประกอบการปิดตัวลงอีกด้วย ยกตัวอย่าง ปี 2556 มีการปรับค่าจ้างขึ้นจาก 100 กว่าบาทเป็น 300 บาท ตอนนั้นสถานประกอบการขนาดเล็กปิดตัวลงจำนวนมาก และมีสถานประกอบการหลายแห่งค้างชำระการบัญชีเยอะอีกด้วย

ขณะที่ “นายวีรสุข แก้วบุญปัน” ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องการปรับค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถือเป็นการเร่งรัดให้เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ เพราะโดยปกติจะมีการปรับในปีถัดไป แต่ปีนี้ คณะกรรมการค่าจ้างขอให้อนุกรรมการจังหวัดสรรหาข้อมูลแล้วรวบรวมตัวเลขมาส่งให้เร็วขึ้น กำหนดคือก่อนเดือนตุลาคมนี้ จะได้พิจารณาค่าจ้าง เพื่อประกาศใช้ให้ทัน

“ผมคงไม่สามารถตอบได้ว่าการปรับค่าจ้างครั้งนี้เป็นผลดี ผลเสียต่อใคร แต่อาจมีเรื่องความท้าทายเกิดขึ้น เช่น สินค้าขึ้นราคา เพราะเรื่องนี้เป็นลูกโซ่ และเป็นเงาตามตัวกับค่าจ้างอยู่แล้ว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เปรียบเหมือนกับการดึงเชือก เพราะสิ่งที่ผูกอยู่ปลายเชือกจะตามมาด้วย ที่สำคัญ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ แรงงานไทยมีจำนวนไม่เยอะ และส่วนใหญ่เกินค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า พอค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นไปถึง 400 บาท จะไม่เกิดผลดีกับลูกจ้าง เพราะคนที่เป็นลูกจ้างในโรงงาน บริษัทเขาก็ต้องขยับค่าจ้างของพนักงานเหล่านั้นให้หนีจากค่าจ้างขั้นต่ำไปตามอัตราส่วน และความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ผมมีความเห็นว่าควรปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่จะปรับขึ้นตัวเลขมากน้อยอย่างไร ต้องดูเหตุการณ์วันนั้น ถึงจะสรุปได้อีกทีหนึ่ง”

สำหรับ “นางฐนิวรรณ กุลมงคล” นายกสมาคมภัตตาคารไทย (TRA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์แบบนี้ หากมีการปรับค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ อาจเกิดการย้ายโรงงาน ย้ายฐานการผลิตไปอยู่ประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามค่าจ้างต่ำกว่าไทย ฉะนั้น หากมีการปรับขึ้นจริง จะเริ่มเห็นภาพแบบนี้เยอะ เพราะตอนนี้ผู้ใช้แรงงานในประเทศส่วนใหญ่มาจากเมียนมา เท่ากับว่าตอนนี้เรากําลังเอาค่าจ้างขั้นต่ำไปคุ้มครองแรงงานต่างด้าว เพราะคนเมียนมาจบปริญญาโท เงินเดือนยังแค่ 12,000 บาทเอง

“ดิฉันจึงมองว่าต่อไปจะเห็นภาพแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาแบบถูกต้อง กับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาแบบไม่ถูกต้อง ปะปนกันอยู่ในประเทศของเรา เพราะการจะจ้างแรงงานต่างด้าวแบบถูกต้องตามกฎหมายอาจมีค่าใช้จ่ายสูง ประกอบกับถ้ามีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท อาจทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กหันไปจ้างแรงงานต่างด้าวแบบไม่ถูกกฎหมายมากขึ้น เพราะสู้ไม่ไหว และถ้าจะกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ควรจะกําหนดตามทักษะ และตามพื้นที่ด้วย ไม่เช่นนั้นอาจไปส่งเสริมให้คนอยู่นอกระบบเพิ่มมากขึ้น”

ตรงนี้เป็นเรื่องน่าเป็นห่วง

และน่าเป็นห่วงต่อไปว่า ตัวแทน “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” จะมีมติไปในทางเดียวกับ “รัฐบาล” หรือไม่ ?