
DITP เร่งผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ พาผู้ประกอบการคอนเทนต์ไทย 12 บริษัทร่วมเจรจาการค้าที่งาน March du Film ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 77 ชี้เป็นตลาดใหญ่ที่วงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลกต่างเข้าร่วม เผยกลุ่มผู้สร้าง-ผู้ผลิตภาพยนตร์ในทวีปยุโรปมีกำลังซื้อสูง ปีนี้จัดขึ้นวันที่ 14-22 พฤษภาคมนี้ที่ฝรั่งเศส
วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า จากความสำเร็จของงานเจรจาการค้า FILMART 2024 ที่ฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สร้างมูลค่าการค้าได้ 2,633 ล้านบาท โดยนโยบายของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ด้วยการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้กับประเทศไทย
โดยอาศัยพื้นฐานต้นทุนวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่มาต่อยอดให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ ซึ่งไทยมีศักยภาพทั้งความหลากหลายของผลงาน การสร้างคอนเทนต์ให้ก้าวขึ้นสู่เวทีโลกได้อย่างทัดเทียมนานาประเทศ ล่าสุด กรมจะนำผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมภาพยนตร์เข้าร่วมงานระดับโลกอย่าง Cannes Film Festival ซึ่งเก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุด
งาน Cannes Film Festival ไม่ใช่แค่การประกวดภาพยนตร์ แต่เป็นตลาดซื้อขายภาพยนตร์ (Market) และพิชชิ่ง (Pitching) นำบทภาพยนตร์หรือไอเดียมาหาทุนสร้างด้วย เรียกว่ามีครบทั้งเชิงพาณิชย์และศิลปะ เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์มีลักษณะที่ต่างจากเทศกาลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่เก่าแก่และใหญ่โต แต่เป็นเทศกาลที่ทุกคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต้องมา
ในส่วนของ March du Film ภายใต้งาน Cannes Film Festival ผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างโอกาสต่อยอดธุรกิจและเพิ่มช่องทางการค้าสู่ตลาดยุโรปและลาตินอเมริกาได้ โดยแต่ละปีทั่วโลกจะเข้าร่วมกว่า 600 บริษัท ผู้เข้าร่วมงานกว่า 14,000 คน และมีอีเวนต์สำคัญ ๆ 200 งาน จาก 140 ประเทศทั่วโลก ซึ่งกรมจะผลักดันให้ร่วมกิจกรรมการเจรจาการค้าในงานนี้เป็นประจำทุกปี
เพราะยุโรปและละตินอเมริกาเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง ถือเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการคอนเทนต์ไทยจะได้แสดงศักยภาพและเจรจาธุรกิจ ภายใน Thailand Pavilion ช่วงวันที่ 14-22 พฤษภาคม 2567
ในปีนี้มีผู้ประกอบการไทย 12 บริษัทจะเข้าร่วม เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ แอนิเมชั่น (Film Production and Distribution) 9 บริษัท ได้แก่
- บริษัท กันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส จำกัด
- บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด
- บริษัท เนรมิตหนัง ฟิล์ม จำกัด
- บริษัท ไนท์ เอดจ์ พิคเจอร์ส คอร์ปอเรชั่น จำกัด
- บริษัท แบรนด์ธิงค์ จำกัด
- บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
- บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด
- บริษัท ฮอลลีวู้ด (ไทยแลนด์) จำกัด
- บริษัท ไร้ท์ บิยอนด์ จำกัด
ส่วนผู้ผลิตรายการและละครโทรทัศน์ (Television Content and Formats) ได้แก่ บริษัท เฮโล โปรดักชั่น จำกัด
นอกจากนี้ยังมีผู้ให้บริการเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Production and Post Production Services) เข้าร่วมอีก 2 บริษัท ได้แก่
- บริษัท เบนีโทน ฟิล์มส์ จำกัด
- บมจ.อิ๊กดราซิล กรุ๊ป
โดยคาดว่าจะสร้างมูลค่าการค้าได้ไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท เท่ากับยกระดับอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตสู่ตลาดโลกและสร้างเม็ดเงินได้มหาศาล