เพิ่มพลัง SMEs ด้วยพลัง Soft Power

SMEs
คอลัมน์ : Smart SMEs
ผู้เขียน : ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์

เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาในปี 2567 นี้ จะเห็นได้ว่าเทศกาลนี้ได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง และได้มีการนำคำว่า Soft Power กลับมาพูดถึงมากในหลายสื่อด้วยเช่นกัน โดยมองว่าเทศกาลสงกรานต์ของไทยถือเป็นหนึ่งใน Soft Power สำคัญในการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของชาติ เนื่องจากเป็นประเพณีอันงดงามที่แสดงออกถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ อุปนิสัยไมตรีจิต และมิตรภาพของคนไทย

ซึ่งเป็นหนึ่งในเสน่ห์ดึงดูดใจทางวัฒนธรรมของประเทศไทย การส่งเสริมสงกรานต์ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติจึงนับเป็นการใช้ Soft Power ทางวัฒนธรรมของไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่น่าประทับใจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก อันเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล

ทั้งนี้ แนวคิดในเรื่อง Soft Power จริงแล้วสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจได้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความหมายของ Soft Power ได้มีการตีความต่าง ๆ นานาในหลายบริบทตามการนำไปใช้ ซึ่งต้นกำเนิดแนวคิด Soft Power มาจาก ศาสตราจารย์โจเซฟ ไนย์ นักทฤษฎีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชาวอเมริกัน โดยหมายถึง ความสามารถในการจูงใจหรือดึงดูดให้ผู้อื่นมาทำตามความต้องการของตน โดยไม่ต้องใช้การบังคับหรือการข่มขู่ แต่อาศัยการชักชวนหรือล่อใจด้วยสิ่งที่มีอำนาจดึงดูดใจให้ผู้อื่นยินยอมทำตามด้วยความเต็มใจ ซึ่งเมื่อนำมาใช้ในบริบทการทำธุรกิจแล้ว

กลยุทธ์ Soft Power ในธุรกิจ SMEs ถือเป็นการยกระดับแนวทางการตลาดและการจัดการที่สามารถสร้างความแตกต่างและแข็งแกร่งให้กับธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย Soft Power ในที่นี้หมายถึง อิทธิพลที่อ่อนโยนซึ่งไม่ได้ใช้กำลังหรือแรงกดดัน แต่ใช้การดึงดูดและโน้มน้าวผ่านความน่าดึงดูดใจของวัฒนธรรม ค่านิยม และนโยบาย เป็นจุดขายร่วมกับผลิตภัณฑ์และบริการของธุรกิจ

Advertisment

วิธีนี้เป็นที่นิยมในการสร้างอิทธิพลระหว่างประเทศ แต่ก็สามารถปรับใช้ในโลกธุรกิจได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ SMEs ที่ต้องการสร้างความโดดเด่นในตลาดที่มีการแข่งขันสูง

โดยแนวทางในการทำ Soft Power ให้กับธุรกิจ SMEs สามารถทำในหลายรูปแบบได้ ดังนี้

1. การสร้างแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ การมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนและเป็นที่รู้จักในด้านบวกเป็นหัวใจของ Soft Power สำหรับ SMEs การนำเสนอแบรนด์ที่ไม่เพียงแต่สะท้อนคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงค่านิยม เช่น ความยั่งยืน การดูแลสังคม หรือนวัตกรรม สามารถดึงดูดลูกค้าที่ใส่ใจในเรื่องเหล่านี้ได้

2. การนำวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มาเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อสร้าง Soft Power สำหรับ SMEs โดยผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือการใช้ศิลปะ ดนตรี มาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ การสื่อสารการตลาด ก็สามารถสร้างความประทับใจและเป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์ของเราให้แตกต่างจากคู่แข่งได้

Advertisment

3. การสื่อสารที่มีจริยธรรมและโปร่งใส ถือเป็น Soft Power ขององค์กรธุรกิจได้ด้วยเช่นกัน โดยการมุ่งเน้นการสื่อสารที่โปร่งใสและมีจริยธรรม การเปิดเผยข้อมูลอย่างเต็มที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิต แหล่งที่มาของวัตถุดิบ หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างความไว้วางใจและความภักดีในแบรนด์ได้

4. การให้บริการลูกค้าที่ยอดเยี่ยมและการสร้างประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้า ถือเป็น Soft Power ที่ทรงพลังที่สุด โดยการมอบประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครและมีคุณภาพสามารถสร้างผลกระทบที่ยาวนานและดึงดูดลูกค้าให้กลับมาใช้บริการ ซึ่งเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจที่ดีที่สุด

จะเห็นได้ว่า แนวทางในการนำ Soft Power ที่กล่าวมา บางธุรกิจอาจมีการทำอยู่แล้ว ปัจจัยสำคัญคือ จะต้องทำอย่างจริงจัง ให้ความสำคัญเทียบเท่ากับขั้นตอนการผลิตสินค้าและบริการกันเลยทีเดียว และมีการสื่อสารสิ่งต่าง ๆ ออกไปให้ผู้บริโภคได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง โดยการนำแนวคิด Soft Power มาใช้ใน SMEs ไม่เพียงแต่ช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ในตลาดที่อิ่มตัวและมีการแข่งขันสูง แต่ยังช่วยให้สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและยั่งยืนในใจผู้บริโภค ทำให้เป็นที่น่าเชื่อถือและดึงดูดใจได้ในระยะยาว