LINE เชื่อมครีเอเตอร์-แบรนด์ ชิงเค้ก NFT

NFT

LINE สร้างโซลูชั่นการตลาด NFT เชื่อมต่อครีเอเตอร์ พาร์ตเนอร์ สร้างทางเลือกลูกค้าองค์กรเพิ่มมูลค่าแบรนด์ ไม่หวั่นตลาด NFT คริปโตอยู่ในวิกฤต ผันผวนสูง

วันที่ 23 มิถุนายน 2565 ไลน์ ประเทศไทย ได้รายงานเทรนด์การตลาดในอนาคต ผ่านงานสัมมนา NFT FOR BUSINESS : The Future of Marketing with LINE CREATORS และได้ “คิกออฟ” โซลูชั่น NFT for Business ที่ต่อยอดจาก Line Creator หรือธุรกิจขายสติ๊กเกอร์ไลน์ที่คุ้นเคย โดยไลน์จะทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการแบรนด์ต่าง ๆ ที่เป็นลูกค้าของไลน์บิสซิเนส พาร์ตเนอร์ด้านบล็อกเชนและ NFT Marketplace และครีเอเตอร์ (ศิลปิน ผู้วาดภาพ สติ๊กเกอร์ ฯลฯ) กว่า 1 ล้านคนที่อยู่บนแพลตฟอร์มไลน์ครีเอเตอร์ เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจที่สนใจใช้ NFT เพิ่มมูลค่าให้แบรนด์

โดยมีเป้าหมายเสริมสร้างความตระหนักและความรู้ในด้านการตลาด NFT ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ เป็นหลัก และจะเริ่มมีแบรนด์สนใจใช้โซลูชั่นดังกล่าวภายในปีนี้ พร้อมแย้ม Line Global จะเตรียมเปิด NFT Marketplace ในระยะอันใกล้

นางสาวศรีสุภาคย์ อารีวณิชกุล ผู้อำนวยการธุรกิจองค์กร LINE ประเทศไทย กล่าวว่า “ไลน์ มีความตั้งใจที่จะปลดล็อกศักยภาพให้กับธุรกิจไทย ที่ผ่านมาตลอดหลายปี เราเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์กลางในการอัพเดตเทรนด์ แชร์ความรู้ใหม่ ๆ ด้านธุรกิจ การตลาด ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้กับธุรกิจไทยได้

ศรีสุภาคย์ อารีวณิชกุล
ศรีสุภาคย์ อารีวณิชกุล

โดย NFT เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง และถือเป็นโอกาสในการทำการตลาดรูปแบบใหม่ ๆ ที่ธุรกิจไทยไม่ควรพลาด ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การเกิดขึ้นของคริปโต โลกเสมือน (Metaverse) ได้เป็นกระแสที่รุนแรง และ NFT กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ทั้งในวงการเกม แฟชั่น กีฬา ศิลปะ และกำลังกลายเป็นกระแสที่มาแรงในวงการธุรกิจการตลาดของโลก

แม้ว่าคริปโตจะมีความผันผวนในช่วงนี้ แต่เชื่อว่ามีศักยภาพในระยะยาว ซึ่ง NFT เป็นส่วนหนึ่งของคริปโตและเทคโนโลยีบล็อกเชน เราจึงไม่อยากให้มองข้ามไป

ความผันผวนจากตลาดคริปโต ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาด NFT โดยรวม โดยเฉพาะตลาด NFT art และของสะสม NFT ที่ได้รับผลกระทบ มักจะเป็น NFT ด้านเกมที่มีการเก็งกำไรกัน จะเห็นว่า แบรนด์ต่าง ๆ ยังให้ความสนใจในการริเริ่มทำ NFT ของตนเอง”

NFT เคยมีมูลค่าการซื้อขายในตลาดสูงสุดต่อวันอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท เฉพาะตลาดประเทศไทย มีผู้ลงทะเบียนผู้ใช้งาน NFT สูงถึง 5.65 ล้านคน (ข้อมูลจาก Statista Digital Economy Compass 2022)

ประโยชน์ของ NFT ที่ไลน์มองว่าสามารถนำมาใช้ทางการตลาดให้กับแบรนด์ต่าง ๆ แบ่งได้ 3 แนวทาง

1.NFT เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เช่น การสร้าง NFT ให้กับผลิตภัณฑ์ที่เป็นลิมิเต็ดเอดิชั่น ทำให้ลูกค้าได้รับความพิเศษทั้งบนโลกจริงและโลกเสมือน

2.NFT เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์กับแฟนคลับของแบรนด์ เช่น การออก NFT เป็นคอลเล็กชั่นพิเศษให้สะสม หรือเพื่อนำร่วมกิจกรรมพิเศษ เป็นต้น

3.NFT เพื่อสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมของแบรนด์ เช่น การออก NFT เป็นของตอบแทนให้กับการร่วมบริจาคเพื่อโครงการหรือกิจกรรม CSR ของแบรนด์ เป็นต้น

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจของลูกค้าว่า สนใจเพิ่มมูลค่าหรือต้องการทำการตลาดในเรื่องใด เมื่อต้องการมี NFT เป็นของตนเอง ไลน์ จะเชื่อมต่อความต้องการนั้นไปยัง “ไลน์ ครีเอเตอร์” ซึ่งให้บริการ 1.ให้คำปรึกษา จัดเวิร์กช็อปให้ความรู้ ระดมสมอง คิดแนวทางการทำการตลาด NFT ที่เหมาะสมกับแบรนด์ 2.บริการออกแบบและผลิต NFT โดย LINE CREATORS 3.เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มที่เหมาะสม พร้อมสิทธิประโยชน์เพื่อการปล่อย NFT สู่ตลาดร่วมกันกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ธรรมรดี ไพรพิรุณโรจน์
ธรรมรดี ไพรพิรุณโรจน์

นางสาวธรรมรดี ไพรพิรุณโรจน์ หัวหน้าธุรกิจ Consumer Business LINE ประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันไลน์มีกลุ่มครีเอเตอร์ที่คัดเลือกให้เข้าสู่บริการ NFT 30 ราย จาก 1 ล้านราย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มครีเอเตอร์ชื่อดัง (Tier 1) เป็นกลุ่มผู้มีประสบการณ์ในตลาด NFT และมีฐานแฟนคลับจำนวนมากถึงหลักแสนขึ้นไปที่รอติดตามผลงานที่จะออกสู่ตลาด

และกลุ่มครีเอเตอร์ดาวรุ่งหน้าใหม่ (Tier 2) ที่มีความสามารถในการตลาดตอบสนองตลาดคนรุ่นใหม่ และกำลังเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มวัยรุ่นเป็นอย่างมาก ในการทำการตลาด NFT หากแบรนด์ใช้ครีเอเตอร์ที่โดนใจกลุ่มลูกค้าในการช่วยออกแบบผลงาน NFT จะสามารถทำให้แคมเปญการตลาดของแบรนด์ประสบความสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น”

โดยไลน์จะสามารถเจรจากับแพลตฟอร์มตลาดซื้อขายที่เป็นพาร์ตเนอร์กับไลน์ โดยเฉพาะโลคอลพาร์ตเนอร์ อย่าง Bitkub Coral Zipmex East รวมถึงแพล็ตฟอร์ม NFT Marketplace ของไลน์เองที่กำลังจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ คือ Dosi”

โดยแบรนด์ธุรกิจที่สนใจสามารถเลือกรูปแบบของชิ้นงาน NFT ได้หลากหลาย ได้แก่

1.รูปแบบของสะสม (Collectibles NFT) เช่น ไอเท็มคอลเล็กชั่นทั้งที่เป็นเกม ศิลปะ หรือกีฬา เพื่อใช้เชื่อมโยงสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มแฟนคลับของแบรนด์

2.รูปแบบสิทธิประโยชน์ (Privileges NFT) ที่แบรนด์สามารถนำสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่แบรนด์ต้องการให้กับลูกค้ามาผูกไว้กับภาพ NFT ที่สร้างสรรค์ขึ้น เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าภายใต้แบรนด์ และรูปแบบ

3.Metaverse Item ซึ่งเป็นการออกแบบไอเท็มที่สามารถปล่อยบนแพลตฟอร์มที่ซื้อขายได้ในตลาดสกุลเงินดิจิทัล และผู้ที่ซื้อไปสามารถนำไปใช้ในโลก Metaverse ได้ด้วย

นางสาวธรรมรดียังกล่าวเสริมอีกว่า “ในปีนี้เราเริ่มคิกออฟ โซลูชั่น NFT สำหรับธุรกิจ เพื่อเน้นให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและครีเอเตอร์ที่สนใจในการเพิ่มมูลค่าให้แบรนด์ ซึ่งจุดแข็งที่ทำให้เราโดดเด่นในการให้บริการโซลูชั่นแบบนี้ คือ เรามีความพร้อมทั้งคอมมิวนิตี้ ตลาด พาร์ตเนอร์ และที่สำคัญคือ ครีเอเตอร์ ที่สามารถให้บริการธุรกิจได้ครบวงจร หรือเป็น NFT Provider ให้กับธุรกิจที่สนใจแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ขั้นต่อไปจะเป็นการจัดเวิร์กช็อป ทดลองทำ NFT และคาดว่าจะเริ่มมีธุรกิจแบรนด์ต่าง ๆ เริ่มทำการตลาดแบบ NFT ของตัวเองโดยบริการของเราในปีนี้เช่นกัน”

ในส่วนของมุมมองเรื่องการตลาด NFT จะกลายเป็นกระแสหลักไหม ความเห็นโดยส่วนตัวมองว่า คนไทยถือครอง NFT มากที่สุดในโลก คิดว่า 1-2 ปี การตลาดแบบ NFT จะกลายเป็นเมนสตรีมแล้ว