ชำแหละที่มาที่ไป วิกฤตเงินคริปโตไทย

ชำแหละที่มาที่ไป วิกฤตเงินคริปโตไทย
คอลัมน์ : Pawoot.com
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาราคาในตลาดคริปโตมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้กำลังเริ่มปรับฐานแล้วถือว่าดีกว่าเมื่อก่อน

ตลาดคริปโตแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ มีส่วนที่มีการค้าขายผ่านตัวกลาง ที่เรียกว่า exchange อารมณ์เหมือนตลาดหลักทรัพย์ฯที่มีโบรกเกอร์ มีคนมาซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล เป็นการซื้อขายที่มีภาครัฐกำกับ คือ ก.ล.ต.คอยกำกับผู้ให้บริการในลักษณะนี้ ผู้ให้บริการในประเทศไทย เช่น Bitkub, Zipmex, Satang Pro ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต.

แต่ตอนนี้ตลาดในประเทศไทยค่อนข้างซบเซา ยิ่งมีเหตุการณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ผู้ให้บริการอย่าง Zipmex มีการประกาศขอระงับการถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีชั่วคราว เว็บไซต์ปิดให้บริการอยู่ช่วงหนึ่ง โดย CEO ได้ออกมาชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เนื่องจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีอยู่ 2 แบบ คือ การลงทุนซื้อขายกันแบบปกติ แต่ใน Zipmex จะมีอีกบริการ คือ ZipUp+ เป็นบริการที่สามารถนำเงินคริปโตไปฝากได้โดยจะมีดอกเบี้ยให้ ข้อดีคือ ดอกเบี้ยค่อนข้างสูงกว่าการนำเงินไปฝากตามธนาคาร จึงมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีเงินคริปโตอยู่แล้วนำมาฝากที่ ZipUp+ ตรงนี้ก็จะได้ดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

ดอกเบี้ยนี้มาจากไหน สำหรับผู้ให้บริการบางแห่งให้ดอกเบี้ยสูงถึง 100% ก็มี ซึ่งบริการแบบนี้เราเรียกอีกอย่างว่า DeFi หรือ Decentralized Finance คือการนำเงินคริปโตที่เราฝากไว้เอาไปฝากที่อื่นต่ออีกที

เนื่องจากการล้มของสกุลเงินที่ชื่อว่า LUNA และ UST ที่เป็นเหรียญ Stablecoin ในกลุ่มของ Terra ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของตระกูลเงินคริปโต LUNA หรือ UST ที่จากเดิมจะมีราคาเป็นหลักพันบาทแต่ตกลงมาเหลือต่ำมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือก่อนหน้านั้นมีคนนำเงินคริปโตไปฝากไว้นั่นเอง

คำว่า Stablecoin ตรงนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเสียหายไปกับ LUNA หรือเหรียญ UST ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะ Stablecoin เป็นเหรียญที่สร้างขึ้น ซึ่งในโลกแห่งความจริงมันควรต้องเป็นเหรียญที่ค้ำด้วยเงินจริง ๆ แต่ปัญหาคือตัว LUNA ไม่ได้มีเงินจริง ๆ ค้ำไว้ แต่เป็นการค้ำโดย algorithm คือไม่มีเงินจริง

จุดที่คนเข้าไปใช้เยอะก็คือ การพยายามสร้างกระแสว่าหากคุณมีเงินเหรียญสกุลอื่นและนำมาฝากเปลี่ยนเป็น UST ที่เป็น Stablecoin ของค่าย Terra โดยให้ดอกเบี้ย 20% ต่อปี ที่เขาให้ดอกเบี้ยขนาดนี้ได้เพราะเขาก็เอาสินทรัพย์ที่เราไปฝากไว้ไปกระจายไปลงทุนในกองทุนอื่น ๆ ต่อ ตรงนี้คือจุดอ่อนของคนด้วยคำว่า Stablecoin ที่ดูเหมือนว่าไม่เสี่ยงนั่นเอง

ในโลกของคริปโตต่างจากแชร์ลูกโซ่ตรงที่เราสามารถเห็นได้หมดทุกรายการทุกธุรกรรม เห็นได้หมดว่าเงินไปอยู่ตรงไหน ใครถือเงินทั้งหมด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสกุลเงินของ Terra หรือ LUNA ก็คือการโดนโจมตีจนทำให้ค่าเงินทรุดลงไป อารมณ์เดียวกับที่ประเทศไทยโดนโจมตีจาก “จอร์จ โซรอส” เมื่อปี 2540 นั่นเลย

กลับมากับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Zipmex ก็คือ การที่เขามีบริการให้นำสกุลเงินดิจิทัลไปฝากไว้ และได้ดอกเบี้ย แล้วเขานำเงินคริบโตไปฝากที่อื่นต่อ ซึ่งหนึ่งในผู้ให้บริการที่เขานำไปฝากต่อ คือ เซลเซียส (Celsius) ปรากฏว่า Celsius ก็นำเงินไปฝากอยู่ใน LUNA ที่มีปัญหานี่เอง

ตอนนี้กำลังเกิดโดมิโนเอฟเฟ็กต์ เมื่ออันหนึ่งล้มทำให้หลาย ๆ ผู้ให้บริการ หลาย ๆ กองทุนทางด้านคริปโตล้มละลายไปด้วย ทำให้ผู้ให้บริการที่นำเงินคริปโตไปฝากกับ Terra ไม่สามารถมีเงินไปจ่ายคืน เพราะเงินที่ลงทุนไปก่อนหน้านั้นหายไปหมดเลยเหลือศูนย์ เงินที่รับมาจากที่อื่นก็หายไปด้วย

หนึ่งในนั้นก็มีบริษัทแม่ Zipmex Global ที่สิงคโปร์ ซึ่ง Zipmex ของไทยก็นำเงินไปฝากไว้ ก็ได้นำเงินกระจายไปลงทุนใน Celsius และ Celsius ก็ไปลงทุนใน Terra ต่ออีกที นี่แหละครับที่ล้มระเนระนาดต่อกันมา

ในประเทศไทยคนที่เอาเงินคริปโตไปฝากไว้กับ Zipmex ที่อยู่ในฝั่ง ZipUp+ ที่ฝากแล้วได้ดอกเบี้ยจึงเกิดปัญหาขึ้น ทาง CEO ของ Zipmex ประเทศไทยจึงออกมาชี้แจงให้ทราบว่าเงินอยู่ที่ไหน และ Zipmex ประเทศไทยกำลังฟ้องร้อง Zipmex ที่สิงคโปร์เพราะเป็นคนดูแลเงินตรงนี้

ซึ่งเจ้าของ Zipmex ถึงกับบอกว่ากำลังเจรจากับเจ้าของธุรกิจอื่นที่จะมาซื้อกิจการ Zipmex ที่เป็นตลาดกลางในการซื้อขายเพื่อนำมาเยียวยาผู้ที่เสียหาย ซึ่งตรงนี้น่ากลัวมาก

แต่ตรงนี้เราจะเห็นกลไกหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจะเห็นว่าผู้ให้บริการเหล่านี้มีผู้กำกับดูแล คือ ก.ล.ต. และ ก.ล.ต.จึงสั่งการให้ Zipmex ต้องออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะ และต้องมีมาตรการในการคุ้มครองนักลงทุนด้วยเหมือนกัน

นี่คือข้อดีของการลงทุนผ่านตัวกลางที่มีการควบคุมโดยหน่วยงานภาครัฐ