ถุงมือยางล้นตลาดราคาร่วง ทุนไทย-เทศแตะเบรกขยายโรงงานรับขาลง

ถุงมือยาง

ถุงมือยางล้นตลาด “ทุนไทย-ต่างชาติ” เบรกลงทุนตั้งโรงงาน หลังปริมาณล้น-ราคาดิ่ง ถุงมือยางสังเคราะห์ปรับราคาลงต่อเนื่อง จาก 6-8 เหรียญสหรัฐเหลือ 2 เหรียญสหรัฐ ถุงมือยางธรรมชาติก็ไม่ต่างกันราคาร่วงเหลือ 1 เหรียญสหรัฐเศษ ผู้ประกอบการชี้ปัจจัยลบรุมเร้า ตั้งแต่การเมืองระหว่างประเทศยันบาทอ่อน ปรับกลยุทธ์รับมือราคาน้ำยางส่งสัญญาณขาลง

ดร.สมบูรณ์ วราห์บัณฑูรวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ด๊อกเตอร์ บู จำกัด โรงงานผลิตถุงมือยาง จ.ชลบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ตลาดถุงมือยางสังเคราะห์และถุงมือยางธรรมชาติที่ผลิตจากน้ำยางพาราในขณะนี้อยู่ในสภาวะมีปริมาณะล้นตลาด และคาดว่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2566 ส่งผลให้ราคาถุงมือสังเคราะห์น้ำหนัก 3.5 กรัมจากที่เคยราคาพุ่งขึ้นไปก้าวกระโดด 6-8 เหรียญสหรัฐ ปรับลดลงอยู่ในระดับราคา 2 เหรียญสหรัฐเศษ

ขณะที่ถุงมือยางธรรมชาติปรับลงมาเหลือที่ 1 เหรียญสหรัฐเศษ ทำให้บริษัทปรับแผนการลงทุนใหม่ จากเดิมวางแผนขยายโรงงานใหม่เพิ่ม 3 แห่ง เหลือเพียง 1 แห่ง ที่เสร็จ และเปิดดำเนินการแล้ว อีก 2 แห่งชะลอไปก่อน โดยปัจจุบันโรงงานเก่า และของใหม่มีกำลังการผลิตรวมกัน ประมาณ 4,000 ล้านชิ้นต่อปี

“ก่อนหน้านี้ มีนักธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในวงการถุงมือยาง เคยมาชวนบริษัทร่วมลงทุนตั้งโรงงานถุงมือยาง เสนอเงินลงทุนให้ด้วย ขณะที่ลูกค้าบางรายกลัวไม่ได้สินค้ามีการวางเงินมัดจำล่วงหน้า แต่ตอนนี้ของล้นตลาด ราคาปรับลดลง ทำให้หลายฝ่ายหายเงียบกันไปหมด คนที่เคยวางมัดจำ ก็ยอมให้บริษัทกินเงินมัดจำ พอตลาดวาย ผมเองอยู่ในธุรกิจถุงมือยางมากว่า 30 ปี ปกติการใช้ถุงมือยางทางการแพทย์เติบโตเฉลี่ยปีละ 5% ไม่ได้มาก เว้นแต่ช่วงที่โควิดระบาดใหม่ ๆ โตเกือบ 20% ทุกวันนี้ถุงมือยางส่วนใหญ่ รวมถึงยางสังเคราะห์มีการนำไปใช้งานกิจกรรมอื่นที่ใช้ถุงมือยางมากขึ้น”

ทุนไทย-เทศเบรกลงทุน

หากพิจารณาที่ “ราคา” จะพบว่าก่อนเกิดโควิด-19 ขายกันอยู่ที่ 2 เหรียญสหรัฐเศษ เมื่อความต้องการสูงขึ้นราคากระโดดขึ้นไปถึง 6-8 เหรียญสหรัฐ ถือว่าสูงโอเวอร์เกินไปมาก ขณะที่ถุงมือยางจากยางธรรมชาติราคาถูกกว่ายางสังเคราะห์ เมื่อราคาถุงมือยางสังเคราะห์ปรับลง ราคาถุงมือยางธรรมชาติก็ปรับลงมาใกล้เคียงกัน ตนมองว่าโอกาสที่ราคาจะกลับขึ้นไประดับ 6-8 เหรียญสหรัฐคงไม่มีแล้ว

เช่นกันกับราคาน้ำยางธรรมชาติ ที่ผ่านมาก็สูงขึ้นผิดปกติเช่นกัน เพราะตลาดถุงมือยางส่วนใหญ่ใช้ยางสังเคราะห์ ส่วนถุงมือยางธรรมชาติใช้น้ำยางข้นเพียง 10% เท่านั้น จึงมีการนำน้ำยางไปใช้ในโรงงานผลิตยางล้อรถมากกว่า ยิ่งหน้าฝนน้ำยางธรรมชาติออกเต็มที่ราคาจะปรับลงอีกตามกลไกตลาด

“อุตสาหกรรมทุกประเภทต้องปรับตัวทุกกระบวนท่า เพราะต้นทุนทุกอย่างปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงาน ค่าแรงงาน ขณะที่คนก็ยังหายาก กำไรก็ต่ำ กลายเป็นต้องลดกำไรลงมามาก”

ด้านนายอำนวย ปะติเส ประธานสมาคมนักวิชาการยาง และถุงมือยาง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นักลงทุนทั้งคนไทย และต่างชาติที่เคยแสดงความสนใจตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางต่างชะลอการลงทุน เพราะสินค้าล้นตลาดและราคาปรับตัวลดลงมาก ขณะที่โรงงานผลิตถุงมือยางบางแห่งที่จะขยายกำลังการผลิตก็ชะลอแผนการลงทุนเพิ่มเช่นกัน

ปรับกลยุทธ์รับมือยางขาลง

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ สถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราส่งออกรายใหญ่ภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะราคายางพาราจากเดือน ก.ค.-ส.ค. 2565 ได้ทยอยปรับลดลง โดยยางรมควันจาก 2,010 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซื้อขายล่วงหน้า เหลือประมาณ 1,800 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนยางแท่ง เคลื่อนไหวบวกลบที่ 1,800 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลงมาอยู่ที่ 1,520 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่น้ำยางข้นเคลื่อนไหวบวกลบที่ประมาณ 1,300 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลงมาอยู่ที่ 1,180 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยเฉพาะในช่วง 2-3 สัปดาห์นี้ บางวันลงมาถึง 20-0 เหรียญสหรัฐ/ตัน

“ราคายางพาราในประเทศไทย น้ำยางสดอยู่ที่ 48 บาท/กก. ในบางพื้นที่ จากที่เคยมีราคา 63 บาท/กก. และยางรมควันอยู่ที่ 53 บาท/กก. จากที่เคยขึ้นไปถึงกว่า 60-69 บาท/กก. เฉพาะน้ำยางสดทยอยลงบางวัน 2 บาท/กก.”

นายกัมปนาทกล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการยางพาราวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่กดดันราคายางให้ปรับลดลงมาจาก 3 ปัจจัย คือ สถานการณ์จีน ไต้หวัน สหรัฐ ตลาดฟิวเจอร์มาร์เก็ตที่กดดันราคา และการแข็งค่าของเงินบาท จากที่เคยส่งออก 36.80 บาท/เหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 35.52 บาท โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาประมาณ 1 บาท/กก. ทำให้การขายยางพาราได้เงินเหรียญสหรัฐแล้วมาแลกกลับเป็นเงินไทยได้ปริมาณน้อยลง


“ผู้ค้ายางต้องปรับกลยุทธ์ โดยกลุ่มเกษตรกรสวนธารน้ำทิพย์ จะไม่เก็บสต๊อกยางพาราไว้ แต่ซื้อมาขายไปพอมีส่วนต่าง ไม่เก็บไว้นาน เพราะยางพาราเข้าสู่ภาวะขาลง ยกเว้นกลุ่มมีทุนเข้มแข็งระยะยาว”