จุรินทร์ โต้ทุจริตถุงมือยาง 2 พันล้าน หนังเก่า ฟาดกลับจำนำข้าวเจ๊ง 5.4 แสนล้าน

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์

“จุรินทร์” แจงความคืบหน้าคดีทุจริตถุงมือยาง 2 พันล้าน เหน็บฉายหนังเก่า ฟาดกลับทวงคืนเงินโกงจำนำข้าว-มันสำปะหลัง 5.7 แสนล้าน

วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ที่รัฐสภา มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นชี้แจงนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปรายเรื่องทุจริตคดีถุงมือยาง 2,000 ล้านบาท ขององค์การคลังสินค้า (อคส.) นายประเสริฐฉายหนังเก่า แต่มาเติมว่า ตั้งแต่การอภิปรายครั้งแรกถึงวันนี้ไม่คืบหน้า และตนไม่กล้าจัดการประธานบอร์ด อคส. ที่กล่าวหาไม่เป็นความจริง เพราะคดีอยู่ระหว่างไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคาดว่าจะมีการชี้มูลความผิดในเร็ว ๆ นี้

“ไม่เกี่ยวกับผมเลยในแง่ของกระบวนการการทุจริต เพราะยังไม่เคยมีการเรียกผมไปชี้แจงกับ ป.ป.ช. ถ้าเกี่ยวข้อง ป.ป.ช.ต้องเรียกไปชี้แจง ยังไม่เคยมี ที่นายประเสริฐกล่าวหาว่า ผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตถุงมือยาง ไม่จริง ไม่จริงทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ไม่จริงทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผมไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และทันทีที่ทราบเรื่องก็เข้าไปบริหารจัดการและมีความคืบหน้ามาโดยลำดับ ส่วนเส้นทางการเงินคดีทุจริตถุงมือยางอยู่ระหว่าง ป.ป.ช.ดำเนินการ” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวว่า ภารกิจ อคส.ในการทวงเงินคืนจากการทุจริตที่ อคส.เป็นเจ้าของเรื่อง ไม่ได้มีเฉพาะเงินถุงมือยาง แต่มีเงินอย่างน้อยถึง 3 ก้อนใหญ่ ๆ ก้อนแรก ทุจริตถุงมือยาง 2 พันล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ซึ่ง ป.ป.ช.มีมติอายัดบัญชี 2,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 63 และขณะเดียวกัน อคส.ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง พบกระทำความผิด และสอบวินัยเจ้าหน้าที่พร้อมผู้เกี่ยวข้อง และชี้มูลความผิด 3 ราย

คือ อดีตรักษาการณ์ผู้อำนวยการ อคส. และเจ้าหน้าที่อีก 2 ราย และลงโทษทางวินัยทางระเบียบ ซึ่งตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้และได้เร่งรัดดำเนินการทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา รวมถึงการลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญการจัดการกับผู้กระทำความผิดให้นำเงิน 2,000 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยมาชดใช้ค่าเสียหาย

“ผู้อำนวยการ อคส.ได้ออกคำสั่งไล่ออกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 3 ราย ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. 64 จำนวน 2 ราย แต่มีปัญหา 1 ราย ยังไล่ออกไปไม่ได้ แม้มีมติให้ไล่ออกแล้ว คือ อดีตรักษาการณ์ผู้อำนวยการ อคส. เพราะบังเอิญ คณะกรรมการสอบชี้มูลทางวินัยเสร็จ บังเอิญว่า อดีตรักษาการณ์ผู้อำนวยการถูกคำสั่งย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็เลยมีคำถามว่า แล้วจะลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ สุดท้ายได้ถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งตอบมาว่า อำนาจหน้าที่ในการดำเนินการทางวินัยเป็นอำนาจของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะกรณีนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์ขยายคำตอบของกฤษฎีกาว่า ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีสามารถนำผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนของ อคส.ที่ทำมาแล้วไปดำเนินการทางวินัย โดยให้ถือว่าเป็นการสืบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นได้ ซึ่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีก็ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย โดยอาศัยอำนาจพระราชกฤษฏีกาและระเบียบ อคส.มาใช้บังคับต่อไป และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้แต่ตั้งคณะกรรมการสืบสวนทางวินัยแล้ว โดยมีผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

นายจุรินทร์กล่าวว่า เรื่องการละเมิด ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยผู้อำนวยการ อคส.แต่งตั้งรองปลัดประทรวงพาณิชย์เป็นประธานคณะกรรมการฯ ผลการตรวจสอบผู้ที่ต้องชดใช้เงิน 2,000 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เจตนาทำให้รัฐเสียหาย 4 ราย ต้องชดใช้คนละ 400.8 ล้านบาท ซึ่งมีประธานบอร์ด อคส.รวมอยู่ด้วย และกลุ่มประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 3 ราย ต้องชดใช้รายละ 133.6 ล้านบาท

นายจุรินทร์กล่าวว่า นอกจากนี้ เงินก้อนที่สอง ความเสียหายจากโครงการทุจริตจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวน 504,861 ล้านบาท และก้อนที่สาม คดีทุจริตจำนวนมันสำปะหลัง คู่แฝดทุจริตโครงการจำนำข้าว 33,000 ล้านบาท ทั้งนี้ต้องยุติที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้ขาด ขณะนี้ได้ส่งไปยังกระทรวงการคลังแล้ว ตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. 65

“แต่ยังติดประเด็นประธานบอร์ด ไม่ใช่ใครไปโยกโย้ ไปปกป้อง แต่ติดประเด็นข้อกฎหมายเพราะเกรงว่า ถ้าไม่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายก็อาจจะถูกโต้แย้ง และทำให้กระบวนการไม่ชอบ สุดท้ายใครรับผิดชอบความเสียหาย ก็ลอยนวล อคส.ก็แพ้ฟาล์ว” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวว่า ประเด็นข้อกฎหมายของประธานบอร์ด เนื่องจากผลการสอบให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นไปตามคำสั่งของผู้อำนวยการ อคส.แต่ประธานบอร์ดเป็นผู้บังคับบัญชา อคส.เพราะฉะนั้นคำสั่งที่ตั้งให้สอบชี้ให้จ่าย 400 ล้านบาทจะชอบหรือไม่ สุดท้ายกฤษฎีกาตอบมาว่า หากพบความผิดทางละเมิดของประธานบอร์ดให้รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบ โดยใช้กรรมการสอบชุดเดิมได้ เพื่อผลสอบจะได้ไม่เกิดความลักลั่น

“ท่านคงคิดในใจว่า นายจุรินทร์จะกล้าตั้งกรรมการสอบประธานบอร์ดหรือไม่ เพราะท่านกล่าวหาว่าเป็นผู้ใกล้ชิด เป็นผู้ที่รู้จักคนโน้นคนนี้คนนั้น คงจะปกป้องร่วมทุจริต ไม่ล่ะครับ วันที่ 31 พ.ค. 65 ผมลงนามแต่งตั้งกรรมการสอบความรับผิดทางละเมิดประธานบอร์ดเสร็จสิ้นแล้วครับ และความคืบหน้ากรรมการได้แจ้งข้อกล่าวหาประธานบอร์ดต่อไปตามกระบวนการการ กล่าวหาว่าผมปล่อยปละละเลย ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวว่า ก้อนที่สอง 10 ปีแล้ว ตนทำต่อเนื่อง ทุจริตจำนำข้าวที่ท่านสร้างไว้ สร้างความเสียหาย 5.4 แสนล้านบาท รวมคดีทั้งทางแพ่งและอาญา 1,180 คดี และเงินก้อนที่สาม 3 หมื่นกว่าล้าน ทุจริตจำนำมัน ก๊อบปี้ทุจริตจำนำข้าวมา

“สุดท้าย ป.ป.ช.เปิดเผยคะแนนความโปร่งใสของ อคส.กระเตื้องขึ้นมาเลยครับ จากการสำรวจของ ป.ป.ช. มากกว่ารัฐบาลยุคท่านเสียอีก และถ้าท่านบอกว่าไม่คืบหน้า ท่านหูดับแล้วล่ะครับ” นายจุรินทร์ตบท้าย