ปั้นระเบียงเศรษฐกิจ “เวลเนส” ภาคเหนือ หัวหอกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด

สปา
Photo : pixabay

ปั้นระเบียงเศรษฐกิจ “เวลเนส” ภาคเหนือ หัวหอกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด ชู “เชียงราย” กลไกขับเคลื่อน ฐานทรัพยากรด้านสุขภาพและนวัตกรรม

วันที่ 31 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงราย ว่า นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดการประชุมการเปิดเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนส ภาคเหนือ ณ ห้องประจวบ ภิรมย์ภักดี โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ประธานกฎบัตรไทย ประธานกฎบัตรสุขภาพ นายกสมาคมการผังเมืองไทย และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในพื้นที่ภาคเหนือ

นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า โครงการพัฒนาเขตส่งเสริมสุขภาพวิถีใหม่เพื่อพลิกฟื้นประเทศไทยหลังโควิด-19 ซึ่งร่วมมือกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศร่วมกันพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจประเทศไทย หรือ Thailand Wellness Economic Corridor เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเวลเนสของโลก หรือ Wellness Hub และใช้เศรษฐกิจเวลเนสเป็นหัวหอกสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19

ภาสกร บุญญลักษม์
ภาสกร บุญญลักษม์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัตถุประสงค์ของโครงการมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเชียงรายและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดที่กำหนดให้ใช้ฐานทรัพยากรด้านสุขภาพและนวัตกรรมในพื้นที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

ซึ่งกล่าวได้ว่า จังหวัดเชียงรายมีความพร้อมระดับสูงในด้านนี้เป็นอย่างมาก ด้วยจังหวัดเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อันเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแพทย์ ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย ด้านผลิตภัณฑ์ความงาม และด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งศาสตร์การแพทย์แผนจีน

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยให้การพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในระดับพื้นที่และระดับของภาคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลเชิงบวกต่อผู้ได้รับผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนั้น แนวทางการดำเนินงานของโครงการที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเครือข่ายซับพลายเชนอุตสาหกรรมเวลเนสในพื้นที่ระเบียงและพื้นที่ต่อเนื่อง จะเป็นกลไกอันทรงพลังในอนาคต ที่ช่วยเพิ่มปริมาณกิจการเวลเนสและคุณภาพของกิจการที่มีขีดความสามารถสูง มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

โดยมีผู้ได้รับประโยชน์ทั้งกลุ่มต้นน้ำ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มกลางน้ำ ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิต ผู้ขนส่งโลจิสติกส์ กิจการคลังสินค้า กิจการค้าส่งค้าปลีก และกลุ่มปลายน้ำ ได้แก่ กลุ่มผู้รับบริการ ร้านค้าปลีก สถานบริการ โรงแรม โรงพยาบาล สถานประกอบการสุขภาพ ผู้บริโภค ตลอดจน ผู้รับบริการเวลเนสทั้งประชาชนในพื้นที่ ประชาชนในประเทศ

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฎบัตรไทยได้ริเริ่มพัฒนามาตรฐานเวลเนสไทย หรือ Thai Wellness Standard ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมาตรฐานดังกล่าว จะเป็นเครื่องยืนยันและประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการเวลเนสที่ผลิตในเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสภาคเหนือ ในอนาคตได้

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ โดยมีการผลักดันธุรกิจส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Tourism) ธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพและสมุนไพร มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จนปัจจุบันประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก

สร้างมูลค่าทางการตลาดของ Wellness Tourism ของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลตั้งเป้าว่าในปี 2565 หลังสถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลาย จะให้ความสำคัญกับการทำการตลาดที่มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งกลุ่ม Medical Tourism และ Health and Wellness Tourism มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น เป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายสูง

ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

ดังนั้น การส่งเสริมและการขยายการท่องเที่ยวในกลุ่มนี้ เป็นส่วนที่จะสร้างรายได้ที่เสถียรภาพ และทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวชะลอตัวลง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จึงได้มีแนวคิดในการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจประเทศไทยเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ให้มีศักยภาพสูงจนเป็นต้นแบบเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติของภูมิภาค

โดยการนำ Wellness มาเป็นองค์ประกอบหลักในการดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก มุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้กลับสู่ประเทศ และเกิดผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพแบรนด์ไทยทั้ง 4 ผลิตหลัก ได้แก่ บริการส่งเสริมสุขภาพ บริการรักษาพยาบาล บริการวิชาการ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ จนกลายเป็นที่รู้จักในระดับโลก โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการเป็นเมืองมหาอำนาจด้านสุขภาพของโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระหว่างการระบาดและภายหลังการระบาดของโควิด-19

โดยวางแผนปฏิบัติการยกระดับสมรรถนะกิจการ Wellness และสร้างพื้นที่เศรษฐกิจ Wellness เพื่อรองรับ การบริการนักท่องเที่ยวสุขภาพที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อ กลุ่มผู้มีความมั่งคั่ง ในกลุ่ม long Stay โดยมีรูปแบบการดำเนินการ 4 ด้าน ได้แก่

1.Medical Service การพัฒนาบริการรักษาพยาบาล โดยพัฒนาสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ให้มีบริการและสิ่งอำนวยความสะดวก รองรับผู้รับบริการทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ รวมถึงพัฒนามาตรการสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการค้า การลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่ด้วยการพัฒนา Magnet บริการรักษาพยาบาลที่มีศักยภาพในพื้นที่

2.Product Hub พัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เน้นผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยที่มี Value Chain ในเชิงพาณิชย์รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ นวัตกรรมทางการแพทย์ AI เป็นต้น โดยทำการตลาดและประชาสัมพันธ์โดยจัดทำแพ็กเกจสุขภาพที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมถึงการแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านผู้ประกอบการในพื้นที่ และช่องทางออนไลน์ในรูปแบบจักรวาลนฤมิต (Metaverse)

3.Academic Hub พัฒนาบริการวิชาการและงานวิจัยทางบริการแพทย์ โดยการเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมวิชาการนานาชาติขนาดใหญ่เป็นศูนย์กลางการศึกษาและวิจัยทางการแพทย์ในภูมิภาค และรองรับ
นานาชาติในการสร้าง Prototype ต้นแบบรวมทั้งส่งเสริมความรู้ และทักษะของบุคลากรในพื้นที่

4.Wellness Hub พัฒนาบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เน้นบริการที่มีศักยภาพสูงพัฒนาให้เป็นเมือง Wellness City มีบริการที่มีศักยภาพ สู่เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภูมิภาค รวมทั้งการให้บริการผู้สูงอายุที่มีความมั่งคั่งในการเข้ามาพำนักระยะยาว (Long Stay)

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ ประธานกฎบัตรไทย เปิดเผยว่า การพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสภาคเหนือนั้น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพและคณะทำงานได้คัดเลือกพื้นที่พัฒนาเป็นเขตระเบียงเศรษฐกิจจำนวนสองบริเวณ ประกอบด้วย เขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดพะเยา และจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดพิษณุโลก

สำหรับการจัดประชุมเปิดระเบียงเศรษฐกิจเวลเวลเนสภาคเหนือในวันนี้ ดำเนินการโดยโครงการพัฒนาเขตส่งเสริมสุขภาพวิถีใหม่เพื่อพลิกฟื้นประเทศไทยหลังโควิด-19 โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ สมาคมการผังเมืองไทย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยในเครือข่าย มีวัตถุประสงค์ในการประกาศเจตนารมณ์และความพร้อมต่อสาธารณะในการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสของภาคเหนือ

และการระดมความคิดและรับฟังข้อเสนอแนะจากหน่วยงานและองค์กรด้านสุขภาพหรือเวลเนสในพื้นที่ เพื่อจัดทำเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตระเบียงเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการศูนย์กลางการแพทย์และคณะกรรมการ wellness hub เพื่อขออนุมัติการดำเนินพัฒนาต่อคณะรัฐมนตรี โดยคาดหวังให้บรรลุค่าเป้าหมาย 5 ด้าน คือ

ด้านแรก การสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะและหน่วยงานระดับพื้นที่ในการพัฒนาฐานทรัพยากร วัฒนธรรม และนวัตกรรมที่มีอยู่เพื่อยกระดับเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสที่สามารถสร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่และพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ด้านที่สอง การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอการพัฒนาทางกายภาพ โครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล อาคารเพื่อสุขภาพ และการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมของเมืองให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจเวลเนสตามความต้องการของทุกภาคส่วน

ด้านที่สาม ประเมินความพร้อมด้านการวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี จากสถาบันการศึกษาในพื้นที่และกิจการโรงแรม โรงพยาบาล พร้อมทั้งสถานพยาบาลและหน่วยการฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อวางแผนในการลงทุนด้านนวัตกรรมสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถให้สูงสุดต่อไป

ด้านที่สี่ การพัฒนาเครือข่ายซับพลายเชนในอุตสาหกรรมเวลเนสในพื้นที่ระเบียงและพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพกิจการเวลเนสที่ได้มาตรฐาน มีขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวและเป็นหัวจักรในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก

ด้านที่ห้า การประกาศเจตนารมณ์ในการพัฒนามาตรฐานเวลเนสไทย หรือ Thai Wellness Standard ของกฎบัตรไทย ที่จะร่วมมือกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง