วิกฤตน้ำท่วมติดกับดักผังเมือง จังหวัดเศรษฐกิจเร่งวางแผนรับมือ

แก้น้ำท่วมด้วยผังเมือง
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามากเป็นประวัติการณ์เกินกว่า 100-200 กว่ามิลลิเมตร ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายวัน ตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ได้เห็นภาพหลายเมืองใหญ่ทั้ง กทม. ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่อย่างจังหวัดภูเก็ต ระยอง ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี เกิดน้ำท่วมสูงฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมกลางเมือง ส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดจากการขยายตัวของชุมชนเมือง โดยไม่มีการวางผังเมือง และระบบบริหารจัดการน้ำ

ภูเก็ตทุ่ม 2 พันล้านแก้วิกฤต

ที่จังหวัดภูเก็ตเหตุการณ์ฝนตกหนักมากกว่า 250 มิลลิเมตร เมื่อเช้าวันที่ 2 กันยายน 2565 ภายในเวลาเพียง 3 ชั่วโมงเกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่อำเภอถลาง โดยมีพื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลเทพกระษัตรี ตำบลไม้ขาว ตำบลสาคู ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลสาคูเป็นพื้นที่แอ่งกระทะ ที่สำคัญทำให้อาคารดับเพลิงและกู้ภัย ท่าอากาศยานภูเก็ตและอาคารผู้โดยสารส่วนบุคคล (private jet terminal) และชุมชนข้างเคียงได้รับผลกระทบ

นายสมมิตร์ สมบูรณ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต ระบุว่า การพัฒนาเมืองและชุมชนที่ขยายออกทำให้พื้นที่เปลี่ยนไป จากเดิมบางพื้นที่เคยเป็นลำรางสาธารณะ แต่วันหนึ่งลำรางกลายไปอยู่ในพื้นที่เอกสารสิทธิ พื้นที่แก้มลิงที่ลุ่มต่าง ๆ หรือรางระบายน้ำผ่านที่เอกสารสิทธิ เมื่อเจ้าของที่ดินพัฒนาต้องหาทางเปลี่ยนทิศทางระบายน้ำใหม่ กรณีน้ำท่วมที่ตำบลสาคู อำเภอถลางล่าสุดในอดีตไม่เคยเกิดน้ำท่วม แต่มีสิ่งก่อสร้างมากขึ้น ปิดเส้นทางระบายน้ำ ฝนที่ตกลงมา 200 กว่า มม. ระบายไม่ทัน

ดังนั้น ทางโยธาธิการฯจังหวัดภูเก็ตกำลังเตรียมข้อมูลที่จะส่งให้เรื่องให้ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษามาศึกษาต่อเพื่อจะแก้ปัญหาทั้งระบบ อย่างไรก็ตาม ในอดีตในตัวเมืองภูเก็ตเคยเกิดปัญหาน้ำท่วม แต่ได้มีการดำเนินโครงการศึกษาและอยู่ระหว่างก่อสร้างหลายโครงการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รวมมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท

ระยองชงอีอีซีทำแผนป้องน้ำ

ระยองหนึ่งในจังหวัดเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ประสบปัญหาน้ำท่วมฉับพลันในระดับที่สูง น้ำป่าไหลหลากตลอดช่วงหลายวันที่ผ่านมาในพื้นที่หลายอำเภอ ทั้งเทศบาลตำบลทับมา เทศบาลตำบลแกลงกะเฉด เทศบาลตำบลเนินพระ อ.เมืองระยอง อ.บ้านค่าย อ.แกลง ส่งผลกระทบต่อการจราจร และการขนส่งอย่างมาก โดยเฉพาะการท่วมพื้นที่ซ้ำซากบริเวณเทศบาลตำบลทับมา ส่งผลกระทบต่อการสัญจรของทางหลวงหมายเลข 36 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเส้นเลือดหลักของจังหวัดระยอง

นายฉัตรนุชัย สมบัติศรี ปลัดเทศบาลนครระยอง เล่าว่า น้ำท่วมครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมากในรอบ 30-40 ปี ที่ผ่านมาไม่เคยหนักขนาดนี้ สาเหตุหลักจากเมืองขยายออกไป ยกตัวอย่างเทศบาลเมืองระยองก่อตั้งมา 80 ปีแล้ว โครงสร้างพื้นฐานที่ทำไว้เริ่มชำรุด ไม่สามารถรองรับการเจริญเติบโตของเมืองได้ และไม่ได้มีการวางผังเมือง มีการตั้งบ้านเรือนอาคารในเขตพื้นที่รับน้ำขวางทางน้ำ พื้นที่แก้มลิงธรรมชาติหายไป

“ดังนั้น ต้องวางแผน ต้องมองอนาคตข้างหน้า รับมือกับภาวะอุทกภัย ซึ่งระยองใช้ผังเมืองรวมของอีอีซีค่อนข้างกว้างครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ส่วนผังเฉพาะเมืองกำลังทำอยู่ยังไม่เสร็จ ดังนั้น การวางผังเมืองตัวใหม่ต้องคำนึงเรื่องน้ำท่วม โดยต้องจำลองสถานการณ์หากอีก 10-20 ปีข้างหน้าเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ขึ้น จะมีทางเบี่ยงน้ำ หรือจะตัดคลองเพิ่ม หรือจะตัดเบี่ยงน้ำจากทางเหนือของเมืองไม่ให้เข้ามาท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ”

ด้าน นายวุฒิชัย นรสิงห์ ผอ.โครงการชลประทาน จ.จันทบุรี กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วม จ.จันทบุรี ว่า มวลน้ำจากด้านเขาคิชฌกูฏ มีคลองภักดีรำไพที่จะรองรับได้ไม่เกิน 700 ลบ.ม./วินาที และมีประตูเปิดเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล แต่ยังมีพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงคือ ฝั่งตะวันตก ด้านคลองน้ำใส แคบ คดเคี้ยว เมื่อมีน้ำทะเลหนุน ปริมาณน้ำฝนมากน้ำจะท่วม และพื้นที่ด้านนี้จะมีการขยายเมือง อยู่ในพื้นที่หลายท้องถิ่น เช่น อบต.ท่าช้าง เทศบาลเนินวง มีตลาด ชุมชน การก่อสร้างรีสอร์ต ที่พัก

พัทยาแก้ปัญหาผิดจุด

นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชลบุรี เปิดเผยว่า พัทยาอยู่ในพื้นที่ต่ำสุดเป็นท้องกระทะ เมื่อฝนตกทุกเทศบาลบริเวณใกล้เคียงจะระบายลงมาที่พัทยา การแก้ไขปัญหาในปัจจุบันคือ การทำระบบระบายเพิ่ม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา กรมโยธาธิการและผังเมืองได้สำรวจและทำแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยา ถ้าทำตามแผนถึงแม้จะใช้ระยะเวลานานแต่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง

นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา กล่าวเช่นเดียวกันว่า ที่ผ่านมากรมโยธาธิการและผังเมืองและคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ได้เสนอการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของเมืองพัทยาและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ซึ่งการสำรวจพบว่าต้องใช้งบประมาณถึง 26,000 ล้านบาท แต่ปัญหาคือ ครม.อนุมัติโครงการแล้ว แต่ไม่มีงบประมาณให้ โดยให้ทางเมืองพัทยากู้เงินทำโครงการเองทั้งหมด เมืองพัทยาจึงเลือกแก้ไขปัญหาด้วยการเพิ่มเส้นทางการระบายน้ำตามแนวที่เหมาะสม

อยุธยาป้อง 5 นิคมไม่กระทบ

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และหนักขึ้นในส่วนของบ้านเรือนราษฎร เนื่องจากเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมหลัก 5 แห่ง ประกอบด้วย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 3 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 2.นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) 3.นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง (เดิมคือ นิคมสหรัตนนคร) ส่วนของเอกชนมี 2 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และ 2.นิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์วังน้อย มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ 2,134 โรงงาน

นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า น้ำท่วมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีสาเหตุหลักจากทำเลที่ตั้งซึ่งรองรับมวลน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง ขณะที่การขยายตัวของเมืองเป็นอีกหนึ่งปัจจัยแต่ไม่ใช่สาเหตุหลัก เพราะเมื่อมีโครงการสร้างถนนและปรับปรุงในแต่ละปีจะทำให้ถนนสูงขึ้นทุกปี เหมือนเป็นคันกั้นน้ำ สร้างบ้านปัจจุบันก็ถมที่ดินให้สูงขึ้น บีบให้น้ำไหลไปตามท่อและมีพื้นที่น้ำไหลแคบลงโดยเฉพาะในตัวเมืองทำให้ระบายไม่ทัน

ปัจจุบันน้ำเริ่มลดลงเรื่อย ๆ พื้นที่เศรษฐกิจหรือนิคมอุตสาหกรรมยืนยันว่าในปี 2565 ยังไม่มีน้ำท่วม 100% เส้นทางการสัญจรก็ยังเดินทางได้สะดวก การท่องเที่ยวในเกาะเมืองก็ยังปกติ ซึ่งส่วนใหญ่จะผันน้ำลงทุ่งนา