เร่งตัดยอดน้ำป้องกรุงเทพ 9 นิคมอุตฯ งัดแผนรับน้ำท่วม

สถานการณ์น้ำในประเทศไทยยังคงเผชิญกับอิทธิพลของพายุหลายลูกในช่วงกลางฤดูฝน โดยพายุลูกล่าสุดที่ส่งอิทธิพลถึงไทยก็คือ พายุหมาอ๊อน (MA-ON) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ซึ่งเคลื่อนขึ้นฝั่งที่มณฑลกวางตุ้งไปแล้ว ได้ก่อให้เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำและส่งอิทธิพลมาถึงร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือของประเทศและ สปป.ลาวตอนบน ทำให้เกิดฝนตกหนักในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมถึงกรุงเทพฯและปริมณฑล

ขณะที่สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์ ปรากฏปริมาตรน้ำใช้การได้รวมกัน 6,613 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 36 มีน้ำไหลลงอ่าง 116.53 ล้าน ลบ.ม. (ณ วันที่ 30 ส.ค.) ปริมาณน้ำระบาย 64.63 ล้าน ลบ.ม.

โดยเขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำในอ่าง 6,906 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 (น้ำเข้า 49.84 ล้าน ลบ.ม.) เขื่อนสิริกิติ์ 5,298 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 56 (น้ำเข้า 31.82 ล้าน ลบ.ม.) รวมกัน 2 เขื่อน ปริมาตรน้ำ 12,205 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 53 มีปริมาณน้ำไหลเข้ารวมกัน 81.66 ล้าน ลบ.ม. น้ำระบาย 4.10 ล้าน ลบ.ม.

เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปริมาตรน้ำ 744 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 79 (น้ำเข้า 18.59 ล้าน ลบ.ม.) และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 360 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 38 (น้ำเข้า 16.27 ล้าน ลบ.ม.) ทั้ง 4 เขื่อนจะเห็นได้ว่า เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนรับน้ำไปแล้วเกินกว่าครึ่งหนึ่งของความจุอ่าง ทำให้ต้องเร่งระบายน้ำออกมาถึงวันละ 24.19 ล้าน ลบ.ม.

นิคม

สำหรับปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา (สถานี C13) อยู่ที่ 1,618 ลบ.ม./วินาที แต่มีการตัดน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตก-ออก เหนือเขื่อน รวมกัน 194 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงจังหวัดสิงห์บุรี-พระนครศรีอยุธยา อยู่ระหว่าง 1,694-1,718 ลบ.ม./วินาที

แผนการระบายน้ำในช่วงนี้จะระบายไปฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงคลองโผงเผง 561 ลบ.ม./วินาที กับคลองบางบาล 79 ลบ.ม./วินาที แต่ยังมีปริมาณน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (วันละ 36-37 ลบ.ม./วินาที) ผ่านเขื่อนพระรามหก รวมกันกับน้ำฝั่งตะวันออก ปริมาณ 533 ลบ.ม./วินาที

ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงไหลผ่าน อ.บางไทร (สถานี C29A) ณ วันที่ 30 ส.ค. เพิ่มปริมาณขึ้นเป็น 1,600 ลบ.ม./วินาที โดยปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นเริ่มส่งผลกระทบกับพื้นที่ทุ่งรับน้ำริมฝั่งเจ้าพระยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางฝั่งตะวันตก ที่มีการระบายน้ำผ่านคลองสำคัญ 2 คลองคือ คลองโผงเผง กับคลองบางบาล

ทำให้ผู้ประกอบการและบ้านเรือนราษฎรเร่งเตรียมการที่จะต้องเผชิญกับ “น้ำท่วม” หากยังมีพายุขนาดใหญ่พัดผ่านเข้ามาในประเทศในช่วง 2 เดือนข้างหน้านี้ด้วย

การนิคมเตรียมรับมือ

ด้าน นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงแผนการรับมือปัญหาอุทกภัยในพื้นที่หลายจังหวัดว่า ขณะนี้ให้ผู้อำนวยการการนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 3 นิคม (นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน-นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) และนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง (หรือสหรัตนนครเดิม) เฝ้าระวังและเตรียม “แผนรับมือ” ปัญหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งการขุดลอกคลอง การเตรียมระบบระบายน้ำ และตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานเครื่องสูบน้ำ

โดยส่วนของการก่อสร้าง “คันกั้นน้ำ” เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 นั้น เท่าที่ติดตามตรวจสอบยังเหลือในส่วนของนิคมนครหลวง หรือนิคมสหรัตนนครเดิม เท่านั้นที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างและการตรวจรับมอบ

“เท่าที่รับทราบข้อมูลรายงานสถานการณ์น้ำ ผมยังประเมินว่า ปีนี้ไม่น่ากังวลเท่ากับน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งตอนนั้นหลายเขื่อนประสบปัญหารับน้ำมากเกินความสามารถและยังมีเรื่องแผนบริหารจัดการน้ำอีก ส่วนปีนี้ (2565) ช่วงต้นปียังมีการประเมินกันอยู่ว่า ปริมาณน้ำน้อยอาจจะเสี่ยงเกิดภัยแล้งด้วยซ้ำ แต่พอมีพายุเข้ามาทำให้สถานการณ์มีปรับเปลี่ยนไป” นายวีริศกล่าว

เฉพาะการดำเนินการของนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เตรียมแผนไว้แล้ว ประกอบไปด้วย ในช่วงฤดูฝนให้ 1) สำรวจติดตามข้อมูลอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด 2) ประเมินและคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ 3) ตรวจสอบ ซ่อมบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำ คันป้องกันน้ำท่วม ที่มีอยู่ให้มีสภาพพร้อมใช้งานได้ 100 เปอร์เซ็นต์ พร้อมทั้งจัดเตรียมระบบไฟฟ้าสำรองและน้ำมันเชื้อเพลิง 4) สูบระบายพร่องน้ำภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด และจัดให้มีพื้นที่ “แก้มลิง” รองรับน้ำให้มากที่สุด

5) ให้ประสานจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่สำรองจากภายนอก เข้าสนับสนุนหากมีการร้องขอ 6) ให้มีการประเมินสถานการณ์ พร้อมมีการสื่อสารให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมและผู้เกี่ยวข้องทราบอย่างต่อเนื่อง 7) กำหนดให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมมีการซ้อมแผนฉุกเฉินรองรับอุทกภัยเป็นประจำ 8) กรณีมีความเสี่ยงเกิดอุทกภัย เช่น ปริมาณน้ำฝนในนิคมอุตสาหกรรมมากกว่า 120 มิลลิเมตร ให้รีบรายงานผู้บริหาร กนอ./ผวก. ทราบอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะยุติ และ 9) กนอ.มีการเฝ้าระวังในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง

เร่งระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เข้ามาว่า ได้สั่งการให้มีการประสานความร่วมมือในการระบายน้ำ “เหนือ” เขื่อนเจ้าพระยาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้มีการระบายน้ำออกทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก

รวมถึงท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเชื่อมโยงทางผ่านน้ำที่มีในแต่ละจังหวัดออกไปสู่ทะเล และป้องกันระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนกระทบกับประชาชน โดยการเร่งระบายน้ำดังกล่าว ผู้เกี่ยวข้องคาดการณ์ว่า เพื่อลดปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทรลง ไม่ให้เพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลได้

ส่วนสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้รายงานพื้นที่น้ำท่วมใน 4 ลุ่มน้ำหลัก (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ลุ่มน้ำน่าน-ลุ่มน้ำป่าสัก-ลุ่มน้ำบางปะกง) จากข้อมูลดาวเทียม Sentinel-1 ณ วันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่ามีพื้นที่ถูกน้ำท่วมไปแล้ว 844,799 ไร่


ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าว 266,024 ไร่ และมีบ้านเรือนราษฎรได้รับความเดือดร้อนกว่า 1,700 หลังคาเรือน ประกอบไปด้วย จังหวัดสุโขทัย 189,337 ไร่, พิจิตร 156,222 ไร่, นครสวรรค์ 122,233 ไร่, พิษณุโลก 91,382 ไร่, อุตรดิตถ์ 88,633 ไร่, สุพรรณบุรี 70,033 ไร่, เพชรบูรณ์ 41,035 ไร่, ปราจีนบุรี 23,641 ไร่, ชัยนาท 17,721 ไร่, อ่างทอง 9,344 ไร่, พระนครศรีอยุธยา 9,269 ไร่, พะเยา 7,662 ไร่, แพร่ 5,767 ไร่, นครนายก 5,763 ไร่, น่าน 2,738 ไร่, ลพบุรี 2,353 ไร่, ฉะเชิงเทรา 1,508 ไร่ และสระบุรี 167 ไร่