อบจ.ชง “อุโมงค์ยักษ์-ฟลัดเวย์” ทุ่มหลายพันล้าน แก้น้ำท่วม “ระยอง”

น้ำท่วม

“ระยอง” หนึ่งในจังหวัดเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่เมืองซ้ำซากและเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้นในปีนี้

ปัญหาที่เกิดขึ้น นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.) ได้มอบให้ นายประสานต์ พฤกษาชาติ รองนายก อบจ. ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดระยอง เชิญหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนมาระดมสมองหาแนวทางแก้ไข

ชง “อุโมงค์ยักษ์” ดันน้ำลงทะเล

นายประสานต์ พฤกษาชาติ รองนายก อบจ.ระยอง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดระยองที่ผ่านมามีปัญหาน้ำท่วม 3-4 จุด แต่ปีนี้ปริมาณน้ำมากกว่าทุกปี ทำให้ต้องมาทบทวนแผนกันใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะบริเวณคลองทับมา ในปี 2558 เคยเกิดน้ำท่วมหนักได้แก้ปัญหากันไปแล้วส่วนหนึ่ง

แต่ตอนนั้นปริมาณน้ำในคลองทับมาที่จุดวัดน้ำตรงวัดเขาโบสถ์ วัดได้สูงสุด 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตอนนั้นตนอยู่ชลประทานจังหวัด จึงตั้งโจทย์ปริมาณน้ำสูงสุดที่ 70 ลบ.ม./วินาที ในการแก้ไขปัญหา จากปกติคลองทับมารับน้ำบริเวณต้นคลองได้ 40 ลบ.ม./วินาที มีความลึกคลอง 2.5 เมตร จึงคิดแผนตัดยอดน้ำที่เหลือ 30 ลบ.ม./วินาที

แต่เหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ได้เกิดฝนตกหนักบริเวณลุ่มน้ำย่อยของคลองทับมา ทำให้วัดระดับน้ำได้สูงสุด 3.60 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านคลองทับมาสูงสุด 135 ลบ.ม./วินาที สูงกว่าปี 2558 เป็นเท่าตัว ทำให้น้ำไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เขต ต.ทับมา ต.เนินพระ เทศบาลนครระยอง ซึ่งมีหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมาก

และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดระยอง ทำให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก ดังนั้น แผนที่เคยศึกษาไว้ต้องแก้ไขใหม่ทั้งหมด เพราะรองรับไม่ได้แล้ว และในอนาคตต้องคิดแผนรองรับปริมาณน้ำสูงสุดที่ผ่านคลองทับมา 200 ลบ.ม./วินาที จะต้องวางแผนตัดยอดน้ำส่วนที่เกินออกไปไม่ให้ไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่

ล่าสุดจากการหารือเบื้องต้นได้มีการเสนอแผนระยะสั้นให้ยกสะพานข้ามคลอง 5 แห่งให้สูงขึ้น โดย อบจ.ระยอง รับผิดชอบ 3 สะพาน คือ 1.สะพานแตง 2.สะพานในหมู่บ้านโมเดิร์นซิตี้ 3.สะพานในหมู่บ้านกรุงไทย 4.สะพานข้างวัดทับมา ให้กรมชลประทานรับผิดชอบ และ 5.สะพานคลองกิ่ว ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้รับผิดชอบ

ส่วนแผนระยะกลางมีการเสนอให้ “จัดหาทางน้ำหลาก (flood way)” ผันน้ำ โดยใช้ร่องกลางถนนหมายเลข 36 ของกรมทางหลวง ช่วยระบายน้ำไปลงคลองทับมา บริเวณสี่แยกเกาะลอย และหมู่บ้านระเบียงเมือง

และแผนระยะยาว มีการเสนอให้สร้าง “อุโมงค์ผันน้ำขนาดใหญ่” เส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 5 เมตร มูลค่าหลายพันล้านบาท คล้ายกับอุโมงค์ยักษ์ที่กรุงเทพมหานครทำ โดยเจาะใต้ถนนไปตามถนนทับมา-หนองสนม

ตรงไปผ่านสี่แยก PMY ไปถนนท่าบรรทุก ระบายลงทะเลที่สามแยกนางยักษ์ ระยะทาง 6-7 กม. เพื่อตัดยอดน้ำจากคลองทับมาลงทะเลให้เร็ว

“หลายคนคุยกันการแก้ปัญหาระยะยาวให้ได้ผลดีที่สุดควรทำอุโมงค์ขนาดใหญ่ผลักดันน้ำออกทะเลให้เร็วที่สุด แม้ใช้เงินหลายพันล้านบาท แต่เมื่อเทียบเศรษฐกิจระยองเป็น EEC มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) มูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาท อยู่ลำดับ 3 ของประเทศ”

ตั้งกำแพงคลองกะแมงบ้านค่าย

การขยายตัวของชุมชนเมือง ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่เศรษฐกิจนายประสานต์กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่เศรษฐกิจระยองส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ มีการสร้างหมู่บ้านจัดสรรในระยองหลายแห่งไปถมที่ดินตั้งในพื้นที่ลุ่มต่ำ

ยกตัวอย่าง จุดปัญหาน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบริเวณหมู่บ้านจัดสรรต่าง ๆ หลังห้างเซ็นทรัล ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งอยู่ติดกับคลองทับมา ระยะทางยาวประมาณ 2 กม. เวลาน้ำท่วมหนัก รถเล็กผ่านไม่ได้

บทเรียนน้ำท่วมในเขตอำเภอเมืองระยอง ซึ่งชุมชนขยายตัวเต็มที่แล้ว ทำให้ขยับแผนต่าง ๆ ไม่ได้มากนัก ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา ตนได้ของบประมาณมาศึกษาเรื่องแผนป้องกันน้ำท่วมในเขตอำเภอบ้านค่าย อยู่ห่างจาก อ.เมืองระยอง ระยะทาง 11 กม.

ปัจจุบันชุมชนเริ่มขยายตัวออกไป อนาคตบ้านจัดสรรจะเกิดขึ้น ก่อนจะซ้ำรอยความเจริญเหมือนกรณีคลองทับมา ที่ไม่มีทางไหลไป จึงต้องเร่งหาทางป้องกัน โดยปีนี้บ้านค่ายถูกน้ำท่วมแต่ยังไม่มาก เพราะพื้นที่ลุ่มต่ำที่เป็นแหล่งเก็บน้ำยังถูกถมไม่หมด

ทาง อบจ.จะนำผลการศึกษาไปให้ชลประทานจังหวัดระยอง และโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดระยอง บูรณาการกันไปของบประมาณมาดำเนินการร่วมกันทำ “กำแพงป้องกันตลิ่งที่คลองกะแมง” เพื่อบังคับน้ำให้อยู่ในกำแพง คล้ายคลองทับมา

ตอนนี้คลองกะแมงยังไม่ถูกบุกรุก มีความกว้าง จำเป็นต้องรีบทำรองรับไปก่อน ปลายสุดคลองจะไหลลงแม่น้ำระยอง เช่นเดียวกับคลองทับมา ด้านปลายต้องมีสถานีสูบน้ำ ทั้งนี้ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน คาดว่าปี 2566 จะตั้งงบประมาณออกแบบ ปี 2567 จะดำเนินก่อสร้างบางส่วนได้

นอกจากนี้ ได้หารือถึงแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ อ.แกลง ซึ่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน โดยเฉพาะพื้นที่ ต.ห้วยยาง ต.วังหว้า อ.แกลง และ ต.สำนักทอง ต.กะเฉด อ.เมืองระยอง คิดว่าต้องตัดยอดน้ำบริเวณโรงเรียนวัดกระเฉดไปลงคลองกะแมง อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ตอนนี้อยู่ระหว่าง อบจ.ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาดำเนินการศึกษา

อย่างไรก็ตาม แผนระยะยาวกรมชลประทานมีแผนสร้าง “อ่างเก็บน้ำคลองน้ำเขียว” อยู่แล้ว คาดว่าปี 2568 จะเริ่มการก่อสร้างได้ แต่จุดนี้ได้ประสานกับนายอำเภอแกลง และผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วว่า จะต้องทำหนังสือถึงกรมชลประทานให้เร่งรัดการดำเนินการก่อสร้างก่อน

เพราะเก็บน้ำได้ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าสร้างอ่างเก็บน้ำคลองน้ำเขียวแล้วเสร็จ มวลน้ำใหญ่จากบนภูเขาจะไม่ไหลลงมาพื้นล่างอย่างเหตุการณ์รถรับส่งนักเรียนที่ถูกกระแสน้ำพัดพาอย่างที่เป็นข่าว

หอการค้าชงทำ “ฟลัดเวย์”

นายบุญยืน เลาหวิทยะรัตน์ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดระยอง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดระยอง (กรอ.จังหวัดระยอง) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้หารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองระยอง

ปัญหาต้นเหตุส่วนหนึ่งมาจากมีมวลน้ำที่ตกบริเวณเขาจอมแห-เขานั่งยอง อำเภอนิคมพัฒนา ถ้าจะแก้ไขปัญหาระยะยาว ทางกรมชลประทานจะต้องเร่งผลักดันให้รีบสร้าง หลังจากที่เกิดน้ำท่วมในปี 2558

และบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดระยอง มาหลายปีแล้ว แต่กรมชลประทาน ยังไม่จัดสรรงบประมาณมาดำเนินการ ทั้งที่มีมติ ครม.สัญจร คราวที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาประชุมที่จังหวัดระยอง รองรับให้เร่งดำเนินการ

นอกจากนี้ เสนอให้ทำการศึกษาสำรวจการทำฟลัดเวย์ โดยใช้เกาะกลางถนนสาย 36 ผันน้ำจากแยกทับมาตัดน้ำไปลงคลองใหญ่ได้ ไม่ต้องไปเวนคืน เป็นเรื่องที่ต้องลงทุนระยะยาว ให้นำมาปัดฝุ่นแก้ปัญหาน้ำท่วม รวมถึงให้ลงทุนซื้อเครื่องผลักดันน้ำในคลองทับมา เป็นของจังหวัดเอง จากปัจจุบันต้องยืมเครื่องของกรมชลประทานมาใช้ การมีเครื่องผลักดันน้ำของจังหวัดเองจะได้พร่องน้ำไว้รอ จะได้ไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเช่นปัจจุบัน