อสรพิษคุกคามคนกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น จากปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง

  • เจมส์ วิลสัน
  • ผู้สื่อข่าวพิเศษ บีบีซีไทย

ผู้เชี่ยวชาญด้านงูเผย ปี 2565 พบเหตุงูเข้าบ้านคนถึง 30,000 เหตุแล้ว และจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงที่เกิดน้ำท่วมใน กทม. เพิ่มขึ้น

ฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลานานในปีนี้ ทำให้หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครมีน้ำท่วมขัง กระทบต่อประชาชนที่ลำบาก เพราะที่อยู่อาศัยถูกน้ำท่วม ทรัพย์สินเสียหาย หรือการเดินทางไม่สะดวกเท่านั้น

ไม่เพียงเท่านั้น ภัยร้ายที่แฝงตัวมาพร้อมกับน้ำรอการระบาย คือ งูหลากชนิด และสัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ ที่คืบคลานเข้าไปในบ้านประชาชน

พวกมันเข้าไปในบ้านมนุษย์เพื่อหลบภัย เนื่องจากแหล่งอาศัยของพวกมันก็ถูกน้ำท่วมไม่ต่างจากคน

โดยงูส่วนใหญ่ที่เจ้าหน้าที่พบ เวลาที่ประชาชนแจ้งเหตุอสรพิษเข้าบ้าน มักจะเป็นงูเหลือม ขณะที่งูมีพิษ เช่น งูเห่า นั้นพบได้เป็นครั้งคราว

“เดือน ก.ย. นี้ (2565) เราได้รับรายงานว่ามีการพบงูทั่วกรุงเทพฯ เกือบ 30,000 เหตุ และคาดว่าจำนวนจะใกล้ถึง 40,000 เหตุภายในสิ้นปีนี้” จ.ส.ต. ภิญโญ พุกภิญโญ นักดับเพลิงและผู้เชี่ยวชาญเรื่องงูวัย 52 ปี กล่าว

James Wilson/Thai News Pix

ที่มาของภาพ, James Wilson/Thai News Pix

เหตุผลงูเข้าบ้านคน

“งูเหล่านี้ส่วนมากอาศัยอยู่ในโพรงใต้ดินหรือบนยอดไม้ แม้จะสามารถอยู่ในน้ำได้ แต่พอระยะเวลานานไป พวกมันก็จะหาที่หลบภัยที่ไหนสักแห่งเพื่อหนีน้ำท่วม” จ.ส.ต. ภิญโญ เสริม

อีกเหตุผลหนึ่งที่งูเข้าบ้านคนก็เพื่อหาอาหาร เพราะมีทั้งบรรดาสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กบหรือหนูที่อาศัยอยู่ในบ้าน หรือพวกสัตว์เลี้ยงที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น แมว นก หรือไก่

สภาพบ้านเรือนที่รกไปด้วยสิ่งของก็เป็นที่ดึงดูดสำหรับงูน้อยใหญ่เช่นกัน

จ.ส.ต.ภิญโญ พุกภิญโญ นักดับเพลิงและผู้เชี่ยวชาญเรื่องงูวัย 52 ปี

ที่มาของภาพ, James Wilson/Thai News Pix

“เมื่อเราไปถึงที่เกิดเหตุ เรามักจะพบกับบ้านที่ค่อนข้างรก หรือมีที่รกร้าง ซึ่งเป็นจุดซ่อนตัวที่ดีสำหรับหนูซึ่งจะดึงดูดงูเข้ามา และด้วยสภาพแวดล้อมแบบนี้ จึงทำให้จับพวกมันยากขึ้น เพราะในขณะที่เรากำลังเคลื่อนย้ายสิ่งของไปรอบ ๆ บ้าน มันก็อาจจะหนีได้”

ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงอยากเตือนประชาชนให้ดูแลบ้านให้เรียบร้อย โดยเฉพาะบ้านที่มีแนวโน้มว่าอาจจะมีงู “เข้ามาเยี่ยม” เพราะการที่บ้านเป็นระเบียบ จะทำให้มองเห็นตัวและจับงูได้ง่ายขึ้น

งูเลื้อยเข้าบ้าน ปัญหาที่คนกรุงฯ พบบ่อย ๆ

ที่มาของภาพ, James Wilson/Thai News Pix

บางครั้งงูพิษก็เข้ามาในบ้าน

ที่มาของภาพ, James Wilson/Thai News Pix

"พวกมันก็จะหาที่หลบภัยที่ไหนสักแห่งเพื่อหนีน้ำท่วม”

ที่มาของภาพ, James Wilson/Thai News Pix

จ.ส.ต. ภิญโญ ไม่เพียงทำหน้าที่ช่วยจับงูจากบ้านเรือนประชาชนเท่านั้น แต่เมื่อจับมาแล้ว เขายังดูแลพวกมันต่อ และใช้พวกมันเพื่อสอนคนอื่นทั้งบรรดานักดับเพลิง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และประชาชนทั่วไป ว่า ควรทำอย่างไรเมื่อเผชิญหน้ากับงู เช่น การใช้ถังครอบ หรือล่องูใส่ขวดน้ำ เป็นต้น

“ผมเริ่มเก็บงู เพราะการจับงูเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ และเป็นการดีที่สุดที่เรารู้จักพวกมันดีขึ้นและสอนให้ผู้คนได้รับรู้ ข้อมูลที่ถูกต้องและรู้ว่าต้องทำอย่างไร” ภิญโญ กล่าว


นอกจากงูที่เลี้ยงไว้ศึกษาและนำมาสอนคนอื่น งูที่เหลือ จ.ส.ต. ภิญโญ จะนำไปมอบให้สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เพื่อนำไปผลิตวัคซีนและเซรุ่มสำหรับป้องกันและรักษาพิษงู และบางส่วนจะส่งต่อให้กรมป่าไม้เพื่อนำไปปล่อยกลับคืนสู่ป่าอีกครั้ง

Thai News Pix

ที่มาของภาพ, James Wilson/Thai News Pix

โทรศัพท์แจ้งเหตุได้ที่ 199 หรือ 1555

ที่มาของภาพ, James Wilson/Thai News Pix

งูเพิ่ม หรือแค่เราเจอบ่อยขึ้น

นายนิรุทธิ์ ชมงาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสรพิษวิทยา และเจ้าของเพจ Nick Wildlife โพสต์เชิงวิเคราะห์ถึง “วิกฤตงูล้นเมือง เราจะอยู่กับมันได้อย่างไร” จากการพบงูเพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯ

“งูไม่ได้มีเยอะกว่าเดิม เพียงแต่ปัจจัยต่าง ๆ ทำให้เราพบงูบ่อยขึ้น เช่น การเอาพื้นที่รกร้างมาใช้ประโยชน์ จนงูต้องออกหาที่อยู่ใหม่ หรือภาวะน้ำท่วมที่ทำให้งูต้องหลบภัยเข้าบ้านคน หรือปัจจัยเรื่องฤดูกาลที่ทำให้งูออกมาหาอาหารที่มีอยู่มากมาย”

หากเป็นแบบนั้นแล้วเราจะรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ยังไง คำตอบของ นิรุทธิ์ คือ “ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน”

“แทนที่จะทำลาย เราหันกลับมารู้วิธีการที่จะอยู่กับพวกสัตว์เหล่านี้อย่างปลอดภัย และไม่ประมาทดีกว่า”

งู

ที่มาของภาพ, James Wilson/Thai News Pix

ด้านนายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เคยกล่าวถึงกรณีขณะนี้หลายพื้นที่มีฝนตกและมีน้ำท่วม จึงอาจมีงู หรือสัตว์มีพิษหนีน้ำมาอาศัยตามบ้านเรือนประชาชนว่า จากสถิติการบริการจับงูในปี 2565 ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. พบ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนบริเวณพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ทำให้งูไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่ในแหล่งที่อยู่เดิมได้ ประกอบกับงูเป็นสัตว์เลือดเย็นต้องปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อม จึงเลื้อยเข้ามาหลบซ่อนตัวอยู่ในรองเท้า บริเวณชั้นวางรองเท้า กองเสื้อผ้า และกองวัสดุต่าง ๆ ทำให้พบเห็นงูในบ้านเรือนประชาชนบ่อยขึ้น

ทั้งนี้ ประชาชนที่พบงูหรือสัตว์มีพิษเข้าบ้านสามารถขอความช่วยเหลือ โดยโทรศัพท์แจ้งเหตุได้ที่ 199 หรือ 1555

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว