ลุ้นส่งออกทุเรียนล้านตันทางบก ทะลุลาวไปจีน

ทุเรียน

หวั่นทุเรียนภาคตะวันออกไทยส่งไปจีนล้านตันต้นปีหน้า ติดด่านกักกันพืชโมฮานของจีน เลื่อนเปิดไม่มีกำหนด ลุ้นขนส่งทางบก 2 เส้นทางใหม่ เชื่อม 4 ประเทศไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน เสร็จพร้อมกันปี 2566 ทางด่วนห้วยทราย-บ่อเต็น รัฐบาลจีนทุ่มทุนสร้างเชื่อมด่านเชียงของ-จีน และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 รถไฟจีน-ลาว 10 เดือนขนสินค้า 10 ล้านตัน

3 เส้นทางไทย-จีนร่นระยะทาง

นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาคมพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา การขนส่งทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวยังไม่สะดวก เช่น การขนส่งทุเรียนของไทยไม่สามารถใช้รถไฟขนส่งเข้าสู่ประเทศจีนได้

ต้องขนถ่ายตู้ทุเรียนจากรถไฟไปขึ้นรถบรรทุกวิ่งผ่านด่านบ่อเต็น สปป.ลาว ที่เป็นรอยต่อกับด่านตรวจพืชโมฮาน ประเทศจีน หากสินค้าผ่านการตรวจจากด่านจีน ต้องใช้รถบรรทุกวิ่งเข้าไปส่งสินค้าที่เมืองกว่างโจว ประเทศจีน ซึ่งใช้เวลา มีค่าใช้จ่ายสูง และมีความไม่แน่นอน

เนื่องจากติดปัญหาด่านกักกันพืชของจีนที่สถานีโมฮาน ยังไม่เปิดให้บริการ ดีเลย์ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ตั้งเป้าจะเปิดให้บริการเดือนมิถุนายน 2565 แต่ยังไม่ได้เปิด เป็นอุปสรรคทำให้ผู้ส่งออกผลไม้ของไทยไม่สามารถใช้เส้นทางนี้ได้ ต้องรอจนกว่าจะเปิดให้บริการ ถ้าใช้การขนส่งทางรถไฟจีน-ลาวได้ จะช่วยระบายทุเรียนในอัตราการบรรทุกได้วันละ 300-350 ตู้

“ล่าสุดการขนส่งบริเวณชายแดนบ่อเต็น สปป.ลาวกับโมฮานของจีน ไม่มีปัญหาการทำพิธีการศุลกากรหน้าด่าน ไม่มีปัญหาจราจรที่เคยติดขัดหน้าด่าน ช่องทางระบายสินค้าจากบ่อเต็นไปโมฮานของจีนทางถนนสะดวกยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ทางการจีนกำลังลงทุนสร้างทางด่วนลาว-จีน จากเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม อ.เชียงของ จ.เชียงราย ไปยังชายแดนลาว-จีน ที่บ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ซึ่งฝั่งตรงข้ามคือด่านโมฮานของจีน หากทางด่วนเส้นนี้แล้วเสร็จภายในปี 2566 จะช่วยย่นระยะทางจากไทย-จีน เหลือเพียง 100 กว่า กม.

เพราะปัจจุบันใช้ถนนเส้น R3A ระยะทางจากด่านห้วยทราย-ด่านบ่อเต็น รวม 240 กม. เพราะฉะนั้นเส้นทางจากเชียงของ (ไทย)-บ่อเต็น (ลาว)-โมฮาน (จีน) การเดินทางทางบก จะสะดวกมากยิ่งขึ้น เวลาน้อยลง

สำหรับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) เป็นเส้นทางใหม่ตามแผนจะแล้วเสร็จปี 2566 เส้นทางนี้เชื่อมไปจีนจะสั้นกว่าที่จะใช้เส้นทางมุกดาหาร R9 กับเส้นทางนครพนม R12 ถ้าเชื่อมระหว่าง 3 ประเทศไปเวียดนาม อนาคตเส้นทางการขนส่งจากไทยไปจีน

จะมีทั้ง 1.การขนส่งทางรถไฟจีน-ลาว 2.ทางด่วนห้วยทราย-บ่อเต็น เปิดได้ปี 2566 เส้นทางจากเชียงของไปจีนจะสะดวกมากยิ่งขึ้น 3.สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) เป็นเส้นทางใหม่ตามแผนจะแล้วเสร็จปี 2566 เช่นกัน 3 เส้นทางนี้ ทำให้ไทยได้เปรียบในการแข่งขันด้านการขนส่งทางถนน ต้นทุนค่าขนส่งจะถูกลง มีทางเลือกมากยิ่งขึ้น”

สะพานแห่งที่ 5 บูมค้าผ่านแดน

นายบุญเพ็ง ลามคำ ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 มีความคืบหน้าแล้วกว่า 60-70% แล้ว คาดว่าจะเปิดใช้งานได้เต็มรูปแบบขนส่งสินค้าผ่านด่านได้ต้นปี 2567 และหากเปิดใช้งานจะสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดทันที เพราะจังหวัดบึงกาฬจะเป็นด่านเชื่อมเส้นทาง 4 ประเทศด้วยระยะทางที่สั้นที่สุด คือ ไทย-ลาว-เวียดนาม และจีนตอนใต้

หากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ในจังหวัดบึงกาฬแล้วเสร็จ ผู้ประกอบการจะหันกลับมาใช้ด่านบึงกาฬมากขึ้น เพราะใกล้กับ สปป.ลาวตอนกลางและเวียดนามตอนกลางมากที่สุด คาดว่ามูลค่าการนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่านแดนจาก 4,000 ล้านบาท/ปี จะพุ่งไปแตะหลักหมื่นล้านบาทในไม่ช้า

เจรจารถไฟไปจีนก่อนทุเรียนออก

นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เปิดเผย “ประชาชาชาติธุรกิจ” ว่า เชิงภูมิศาสตร์การขนส่งทางรถไฟจีน-ลาว ดีมาก แต่ในทางปฏิบัติยังติดปัญหา ตั้งแต่เปิดทดลองใช้เดือนเมษายน-พฤกษภาคม 2565 การขนส่งผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนแทบจะเป็นศูนย์ ปัญหาหลัก 2 ข้อ คือ ค่าขนส่งสูงมาก ประมาณตู้ละ 700-800 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 26,000-30,000 บาท สูงกว่าทางเรือ 2 เท่า หรือ 100%

ตั้งแต่ค่าเหยียบแผ่นดินใน สปป.ลาว ต้องยกตู้ขึ้น-ลงรถไฟถึง 3 ครั้ง เริ่มจากสถานีรถไฟหนองคาย-สถานีท่านาแล้ง ต้องยกตู้ลงใส่รถบรรทุกไปขึ้นสถานีรถไฟเวียงจันทน์ใต้ของ สปป.ลาว เมื่อรถไฟไปถึงสถานีนาเตย ต้องยกตู้จากรถไฟขึ้นรถบรรทุกไปที่ด่านบ่อเต็น เพื่อผ่านพิธีการศุลกากร และการตรวจสุขอนามัยพืช และใช้รถบรรทุกวิ่งไปข้ามด่านโมฮานไปขึ้นตู้รถไฟจีนไปคุนหมิง

“ผู้ประกอบการต้องหาวิธีขนส่งกันเองในปี 2566 ปริมาณทุเรียนภาคตะวันออกจะเพิ่มถึง 1 ล้านตัน และเจอกับทุเรียนสดของเวียดนามที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ต้องหาวิธีการขนส่งที่สะดวก ต้องพิจารณาทางเลือกการขนส่งทางทางที่เร็วและต้นทุนถูก ราคาสมเหตุสมผล ดังนั้นทางบก หรือทางรถยนต์จะเป็นทางเลือกแรก และทางเรือ ทางรถไฟขนส่งได้รวดเร็วที่สุดใช้เวลาไม่เกิน 30 ชั่วโมง รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการเจรจาให้ทันฤดูกาลปี 2566” นายสัญชัยกล่าว

ทางด้านนายภานุศักดิ์ สายพานิช ประธานที่ปรึกษาสมาคมทุเรียนไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาการขนส่งรถไฟจีน-ลาว ยังมีปัญหาเรื่องการใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 หนองคาย-เวียงจันทน์ ที่ต้องสร้างระบบรางให้เชื่อมต่อกันได้ เพื่อแก้ปัญหาการรถติดคอขวดบนสะพาน คงต้องใช้ระยะเวลาเจรจาตกลงร่วมกันในการก่อสร้างระหว่างรัฐบาลไทย-ลาว

หนทางที่รวดเร็วพอจะรองรับได้ทันในฤดูกาลขนส่งผลไม้ปี 2566 ควรมีการพิจารณาร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสำนักศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ให้เปิดด่านตรวจผลไม้ทางรถไฟ เพื่อให้รถผ่านสถานีรถไฟด่านโมฮานเข้าไปในตลาดปลายทางจีนได้

10 เดือนขนสินค้า 10 ล้านตัน

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า บริษัท การรถไฟแห่งประเทศจีน จำกัด สาขานครคุนหมิง รายงานปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางรถไฟจีน-ลาว สูงเกิน 10 ล้านตันแล้ว เมื่อนับถึงวันจันทร์ที่ 7 พ.ย. 65)

สวี่ เจี๋ยเฟิง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำสถานีรถไฟคุนหมิงตะวันออก เผยว่า รถไฟสินค้าระหว่างประเทศของทางรถไฟจีน-ลาว ช่วยให้การขนส่งทางโลจิสติกส์ระหว่างสองประเทศรวดเร็วและควบคุมต้นทุนได้

สินค้าที่ขนส่งทางรถไฟจีน-ลาว ยังขยายตัวเป็นมากกว่า 1,200 รายการ ครอบคลุมปุ๋ยเคมี ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ และผลไม้ที่ขนส่งผ่านห่วงโซ่ความเย็น