จันท์ฟูดส์ & ฟรุตวัลเลย์ คืบ ผนึกรัฐอัดงบวิจัย-ดันตั้งโรงงาน เพิ่มมูลค่า

ทุเรียน

สภาอุตฯจันท์ Food Valley หลัง จ.จันทบุรี-อบจ.จันทบุรี-สถาบันการศึกษา-สกว.อัดงบฯเบื้องต้นกว่า 17 ล้านบาท มุ่งสู่การวิจัยนวัตกรรม-เทคโนโลยี เพิ่มมูลค่า ปีหน้า จ.จันทบุรี อัดงบฯ 7 ล้านบาท จัดงาน “เกษตรแฟร์ที่จันทบุรี” ปี 2568 ดันจัดงาน เกษตร Expo กลุ่มภาคตะวันออก

นายธิติ เอกบุญยืน เจ้าของบริษัท แกรนด์ฟูดโปรเซสซิ่ง ประเทศไทย จำกัด ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ โครงการ Eastern Thailand Food Valley ครอบคลุมภาคตะวันออกทั้ง 8 จังหวัด (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว)

ซึ่งได้เลือกจังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดนำร่อง และเลือกทุเรียนเป็นผลไม้นำร่อง มีความก้าวหน้าไปมาก โดยเริ่มการขับเคลื่อนแผนระยะสั้นปี 2566-2567 ได้รับงบประมาณสนับสนุนประมาณ 17 ล้านบาท จากจังหวัดจันทบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี

และสถาบันการศึกษาที่มีงบประมาณทำงานวิจัยนวัตกรรม เทคโนโลยี โดยมีมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี เป็นแม่ข่าย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก จันทบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทุเรียน มุ่งสู่การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

โดยเดือนกันยายน 2565 จังหวัดจันทบุรีได้สนับสนุนงบประมาณ 1.3 ล้านบาท ให้คณะทำงานขับเคลื่อนไปดูงานต้นแบบ Northern Thailand Food Valley ที่เชียงใหม่ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เห็นชอบให้ทำข้อตกลงร่วมมือกับจังหวัดเชียงใหม่

เพื่อใช้เป็นโมเดลการพัฒนามีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากร และมีงบประมาณ 3 ล้านบาท ต่อยอดนวัตกรรม BCG และ ZERO Waste และปี 2566 จังหวัดจันทบุรีได้ตั้งงบประมาณ 7 ล้านบาท เตรียมจัดงานเกษตรแฟร์ที่จันทบุรี จะนำผลงาน Eastern Thailand Food Valley 8 จังหวัดภาคตะวันออกมาแสดง และปี 2568 จะของบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 2 จัดงาน เกษตร Expo

กลุ่มภาคตะวันออก ต่อไปจะมีทั้งทุเรียนสด ทุเรียนแช่แข็ง จะเห็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ทุเรียนเป็นอาหารมากขึ้น ทั้งเส้นก๋วยเตี๋ยว ครัวซองต์ สอดคล้องที่จะพัฒนาจันทบุรีเป็นเมืองแห่งอาหาร

“การเลือกจังหวัดจันทบุรี และผลไม้ทุเรียนนำร่อง เพื่อส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางการแปรรูปสินค้าเกษตร เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ที่สร้างรายได้ให้จังหวัดจันทบุรี และภาคตะวันออกจำนวนมากเกือบแสนล้านบาท และในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ปริมาณผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1 ล้านตัน จะเน้นการพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์ทุเรียนให้เป็นอาหารเพิ่มมูลค่ามากขึ้นไปอีก” นายธิติกล่าวและว่า

โครงการ “Eastern Thailand Food Valley” ได้กำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.การพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์เกษตร 2.การพัฒนามาตรฐานกระบวนการผลิต 3.การยกระดับมาตรฐานการผลิต และ 4.การพัฒนาบุคลากรและสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อน พัฒนาขีดความสามารถในการผลิต และพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกให้เป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืน

นายธิติกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้จะมีการส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ได้แก่ พืชผัก สมุนไพร ประมง และปศุสัตว์ โดยตั้งเป้าหมายสำคัญคือ การแปรรูปวัตถุดิบในพื้นที่ และต้องพัฒนาตั้งแต่ต้นทาง คือ กระบวนการผลิต กลางทาง คือ การพัฒนาพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมแปรรูป และปลายทาง เป็นเรื่องการทำตลาด จะมีการจับคู่ทางธุรกิจ

ซึ่งในระยะแรกมีการเตรียมพื้นที่ก่อตั้งโรงงานห้องเย็น บริเวณอำเภอสอยดาว อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี อยู่บริเวณชายแดนสะดวกในเรื่องทรัพยากร และแรงงาน ที่สำคัญ ประเภทของโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งเป็นการแปรรูปสินค้าเกษตร จะไม่กระทบกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ซึ่งทางจังหวัดกำลังดำเนินการแก้ไขผังเมืองอยู่ ซึ่งการขอเปลี่ยนสีผังเมือง เพื่อกำหนดโซนนิ่งเป็นพื้นที่สีม่วง ต้องทำเรื่องเสนอมาที่กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการพอสมควร เพราะผังเมืองเดิมไม่ได้รองรับการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสัญจรสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ได้มีการนำเสนอความคืบหน้าโครงการ Eastern Thailand Food Valley ให้ที่ประชุมทราบ