ทุเรียนเวียดนามเบียดแซงไทย จ่อร้อง DSI บี้ขบวนการสวมสิทธิ

ทุเรียนเวียดนาม

ทุเรียนเวียดนามเบียดราคาแซงทุเรียนภาคใต้ คนจีนนิยมบริโภค ส่งผลล้งจีนในเมืองจันทบุรีแห่ย้ายไปเวียดนาม แต่บริษัทที่ได้รับอนุญาตส่งทุเรียนเข้าจีนได้แค่ 5 บริษัท แต่ความต้องการทุเรียนสูง สุดท้ายขอซื้อใบ GAP ไทยสวมสิทธิ ด้านสมาคมทุเรียนเตรียมยื่นร้อง DSI ตรวจสอบย้าย “มือปราบเล็บเหยี่ยว”

นางสาวลิลพัชร์ ทองโสภา เจ้าของบริษัท เดอะลิส อินเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หนึ่งในผู้ส่งออกทุเรียนจันทบุรีที่ขยายกิจการไปยังประเทศเวียดนาม กล่าวว่า หลังจากที่จีนอนุญาตให้เวียดนามส่งทุเรียนผลสดเข้าไปได้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าทุเรียนเวียดนามเป็นที่นิยมของคนจีนอย่างมาก เนื่องจากมีการตัดผลแก่จัด “ทำให้ได้รสชาติดี” และขนส่งถึงตลาดจีนภายในไม่กี่ชั่วโมง ส่งผลให้ราคาทุเรียนเวียดนาม “แพงกว่า” ทุเรียนจากภาคใต้ของประเทศไทยแล้ว

โดยก่อนหน้านี้บริษัท เดอะลิสฯได้ส่งทุเรียนสดจากเวียดนามไปยังจีนแล้วจำนวน 19 ตู้ สามารถจำหน่ายได้หมดก่อนทุเรียนไทย โดยขายในราคากล่องละ 900 หยวน ขณะที่ทุเรียนไทยส่งไป 3 ตู้ ราคากล่องละ 800 หยวน เนื่องจากทุเรียนภาคใต้ของไทยมีคุณภาพสู้ทุเรียนภาคตะวันออกไม่ได้

“ตอนนี้เถ้าแก่จีนย้ายจากภาคตะวันออกของไทยไปตั้งโกดังรับซื้อทุเรียนที่เวียดนามกันมากขึ้นและยังไม่กลับมาไทย เพราะทุเรียนภาคตะวันออกของไทยยังไม่ออก สำหรับเรื่องการสวมสิทธิ ตอนนี้จีนอนุญาตให้เวียดนามส่งทุเรียนผลสดเข้าไปจำหน่ายได้แล้ว ดังนั้นน่าจะเลยจุดที่เวียดนามจะนำใบ GAP ของไทยไปสวมสิทธิแล้ว อย่างไรก็ตาม ตลาดจีนยังคงต้องการทุเรียนปริมาณมาก ยังไม่พอขาย อนาคตถ้าทุเรียนเวียดนามมีคุณภาพดี ตลาดจีนต้องการ เถ้าแก่คนจีนอาจจะย้ายไปปักหลักที่เวียดนาม ส่วนกิจการในเมืองไทยจะส่งเงินให้โรงแพ็กทำหน้าที่รับซื้อแทน ราคาตลาดทุเรียนอาจจะตกต่ำ ถึงเวลานั้นไทยอาจจะเสียแชมป์ส่งออกทุเรียนไปจีน” นางสาวลิลพัชร์กล่าว

ล้งจีนย้ายฐานไปเวียดนาม

ด้าน นายไพบูลย์ วงศ์โชติสถิต ผู้จัดการบริษัท โอพี ฟรุตส์ จำกัด และนายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย กล่าวว่า ตอนนี้คนจีนเข้าไปตั้ง “ล้ง” ในเวียดนามทำทั้งทุเรียนสดและแช่แข็ง หลังจากเวียดนามได้รับอนุญาตส่งออกทุเรียนผลสดได้แล้ว เท่ากับว่า “เวียดนามคือคู่แข่งตัวจริงของทุเรียนไทย” เพราะได้เปรียบระยะทางขนส่งใกล้กว่า ทำให้สามารถตัดทุเรียนแก่จัดประมาณ 34-38% ของเนื้อแป้ง ขณะที่ทุเรียนไทยตัดที่ 32% ของเนื้อแป้ง รสชาติก็จะสู้ไม่ได้ และผู้ส่งออกซื้อทุเรียนเวียดนามได้ราคาต่ำกว่าทุเรียนไทย ด้วยต้นทุนการปลูกที่ต่ำกว่า โดยราคาทุเรียนเวียดนามไม่เกิน 100 บาท/กก. ราคาทุเรียนไทย 150 บาท/กก.

ทั้งนี้ทุเรียนเวียดนามผลผลิตออกช่วงเดือนเมษายนจะชนกับทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรี ระยอง และภาคใต้ คาดว่า ปี 2566 ทุเรียนไทยอาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเวียดนามเพิ่งเริ่มส่งออก แต่หากทุเรียนไทยไม่มีคุณภาพ ตัดอ่อน สู้เวียดนามไม่ได้ ปีต่อไปผู้ส่งออกจีนจะกดราคาซื้อถูกและย้ายฐานไปเวียดนามกันหมด

“4-5 ปีที่ผ่านมา พ่อค้าทุเรียนในไทยซื้อทุเรียนไปขายขาดทุนในตลาดจีนเกือบทุกปี เพราะราคาทุเรียนไทยสูง เมื่อไปถึงปลายทางจีนผลผลิตเสียหาย 20% ทำให้ถูกกดราคา ส่งผลให้พ่อค้าขาดทุนตั้งแต่ระดับ 10-1,000 ล้านบาท ระดับกลาง 400-500 ล้านบาท โดยเฉลี่ยขาดทุนตู้ละ 500,000-1,500,000 บาท ดังนั้นที่ผ่านมาพ่อค้าต้องหาผลไม้อย่างอื่นส่งออกไปด้วยเพื่อถัวเฉลี่ยและลดปริมาณการส่งออกทุเรียนลง คาดว่า ปี 2566 จะซื้อทุเรียนไทยลดลงต่อไปหรือหันไปทำทุเรียนที่เวียดนามแทน” นายไพบูลย์กล่าว

ส่วนเรื่องการสวมสิทธิใบ GAP ของทุเรียนเวียดนามนั้น แหล่งข่าวจากผู้ที่อยู่ในวงการทุเรียนกล่าวว่า แม้เวียดนามได้รับอนุญาตให้นำทุเรียนผลสดเข้าตลาดจีนได้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 แต่ยังพบการ “สวมสิทธิ” ใบ GAP ของไทยอยู่ เพราะบริษัทส่งออกในเวียดนามเพิ่งได้รับอนุมัติให้ส่งทุเรียนผลสดได้เพียง 25 บริษัท และสามารถส่งออกได้จริงเพียง 5-6 บริษัท ที่ผ่านมาใบรับรอง GAP อยู่ที่ชิปปิ้ง มาระยะหลังโรงคัดบรรจุต้องใช้แสดงใบรับรองกับเจ้าหน้าที่ด้วย จึงมีการซื้อ-ขายใบ GAP ในราคา 100,000-1,500,000 บาทต่อใบ ดังนั้นปัญหาใบรับรอง GAP ของไทยต้องบริหารจัดการไม่ให้มีการสวมสิทธิให้ได้

ลุ้น GAP 8 หมื่นใบส่งจีนทันปีหน้า

นายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา นายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยไม่ควรวิตกกังวลเรื่องทุเรียนเวียดนามที่เข้าไปแย่งตลาดจีน เพราะเป็นเรื่องปกติที่ชาวจีนรู้จักทุเรียนไทยมา 30-40 ปีย่อมต้องการทดลองชิมทุเรียนเวียดนาม คัดเกรด AB เป็นทุเรียนตัดผลแก่จัดรสชาติอร่อย ราคาถูกกว่าทุเรียนไทย ขนส่งใช้เวลาเพียง 3 วัน แต่เชื่อว่า “ทุเรียนหมอนทอง” ของไทยยังมีรสชาติดีกว่า ดังนั้นผู้ประกอบการทุเรียนภาคตะวันออกต้องตั้งรับคือ ไม่ตัดทุเรียนอ่อน ไม่ทำทุเรียนสวมสิทธิ และต้องมีใบรับรอง GAP ชัดเจน

“เหลือเวลาเพียง 6 เดือนผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกก็จะเริ่มออกมา (คาดการณ์ผลผลิต 800,000 ตัน) แล้ว การเปลี่ยนแปลงรหัสรับรอง GAP จำนวน 80,000 ฉบับ เซ็นรับรองโดย ผอ.สวพ.6 ส่งให้สำนักศุลกากรจีน (GACC) ประกาศให้ทันเดือนมีนาคม 2566 เกษตรกรต้องป้องกันรักษาสิทธิใบรับรอง GAP ของตัวเองและป้องกันการถูกนำไปสวมสิทธิ ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา จังหวัดจันทบุรีได้เริ่มต้นวางรากฐานทุเรียนทั้ง 3 เรื่องกำลังเดินไปได้ดีมีกฎเกณฑ์ ระเบียบ ประกาศออกมาคุมเข้ม เรื่องเปอร์เซ็นต์เนื้อแป้ง มาตรฐาน GPA และ GMP ทำให้ราคาทุเรียนภาคตะวันออกราคาไม่ตก และเตรียมผลักดันมาตรฐานทุเรียนอ่อน บังคับใช้ในโรงคัดบรรจุในปี 2567” นายสัญชัยกล่าว

อดีตเล็บเหยี่ยวแฉเบื้องหลังสวมสิทธิทุเรียน

ด้าน นายชลธี นุ่มหนู ผอ.สวพ.6 อดีตหัวหน้าทีมเล็บเหยี่ยว กรมวิชาการเกษตร มือปราบทุเรียนอ่อน ทุเรียนสวมสิทธิ ที่ถูกย้ายและตัดสินใจยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 65 กล่าวถึง ขบวนการทำลายทุเรียนไทยและการสวมสิทธิว่า การส่งออกทุเรียนอ่อนมีทั้งที่เป็นกลุ่มเจตนาและไม่เจตนา ทุเรียนอ่อนล้งใหญ่ ๆ เจตนาทำเพื่อส่งออกไปตลาดปลายทางจีนให้ราคาตกเรียกว่า “ทุบราคาชาวสวน” ส่วนที่ไม่เจตนาคือ ดูทุเรียนไม่เป็น มอบหน้าที่ให้คนตัดและคนคัดทุเรียนรู้กันดำเนินการจัดหาทุเรียนส่งออกไปให้

ส่วนการสวมสิทธิมีกระบวนการทำเป็นเครือข่าย หลายล้งร่วมมือกับผู้ส่งออกและเจ้าหน้าที่ทุจริตต่อหน้าที่ ด่านตรวจพืชมุกดาหารเคยจับทุเรียนสวมสิทธิ 2 ตู้ที่คลองนารายณ์ จ.จันทบุรี คดีไม่คืบ ยกเลิกใบอนุญาตก็เปลี่ยนชื่อกลับมาเปิดซื้อเหมือนเดิมและที่ด่านตรวจพืชมุกดาหารกับด่านนครพนมจับได้ ที่ จ.ชุมพร 2 ตู้เป็นเครือข่ายเดียวกัน กระบวนการจะเตรียมทุเรียนไว้เป็นตู้รอใบรับรองสุขอนามัยพืชจากด่านชายแดนสวมและเปลี่ยนตู้และวิ่งวนกลับมา ทำซ้ำ 2-3 รอบ ซึ่ง สวพ.6 ได้ขึ้นทะเบียนแบล็กลิสต์ไว้แล้วคาดว่า ปี 2567 จะมีมาตรการควบคุมทุเรียนอ่อนออกมาเป็น พ.ร.บ. ใช้บังคับกับโรงคัดบรรจุ ส่วนใบ GAP ที่มีการสวมสิทธิกันนั้น กำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงจำนวน 80,000 ใบ เป็น GAP ของทุเรียน 25,000 ใบ ปี 2566 ใช้ระบบ e-Phyto ยื่นขอในระบบอิเล็กทรอนิกส์ตัดยอดอัตโนมัติป้องกันการนำไปสวมสิทธิหรือใช้ซ้ำ จัดเตรียมส่งไปขึ้นทะเบียนที่สำนักศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ให้ทันเดือนมีนาคม 2566

จ่อร้อง DSI สอบหาขบวนการ

นายสัญชัย บุรณคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมเตรียมประสานเพื่อยื่นคำร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดำเนินการตรวจสอบขบวนการสวมสิทธิทุเรียนไทย เพราะหลังจากที่มีการโยกย้าย นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 6 จ.จันทบุรีไปแล้วนั้น ปรากฏยังไม่สามารถตรวจสอบเอาผิดกับขบวนการที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ได้ทั้งหมด ทำให้ยังมีการติดต่อขอซื้อใบอนุญาตผู้ส่งออกทุเรียนไทยในงานแสดงสินค้าอาหาร World Food ที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยให้ราคาถึงใบละ 500,000 บาท

“เรื่องนี้ได้สร้างความเสียหายต่อประเทศอย่างมาก เพราะขบวนการนี้ซื้อขายใบอนุญาตกันใบละ 500,000 บาท และไม่ได้ซื้อกันแค่ 1-2 ใบ แต่ซื้อเป็นจำนวนมหาศาลเป็นตู้ ๆ และหลังจากที่สมาคมร่วมกับ 16 องค์กรแล้ว ก็ยังพบว่ามีการติดต่อขอซื้ออีก จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า แท้จริงแล้วการโยกย้าย ผอ.ชลธี เป็นเพียงการตัดไม้ข่มนาม ทำให้ต่อไปจะไม่มีใครกล้าคัดค้านการกระทำของขบวนการสวมสิทธิอีก ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่เป็นผลจากการออกคำสั่งของอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเสมือนเป็นการโฟกัสผิดจุด” นายสัญชัยกล่าว