กลุ่มมิตรผล จัด Isan BCG Expo 2022 ที่ขอนแก่น ยกระดับภาคเกษตร

วีระเจตน์ ว่องกุศลกิจ
วีระเจตน์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจน้ำตาลประเทศไทย พลังงาน และธุรกิจใหม่ กลุ่มมิตรผล

“กลุ่มมิตรผล” ผนึกพันธมิตรภาครัฐ-เอกชน จัดงาน “Isan BCG Expo 2022” งานมหกรรมนวัตกรรมยั่งยืนใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน 9-12 ธ.ค.65 ที่ ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ ผลักดันอีสานศูนย์กลางสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ภูมิภาคอาเซียน หวังยกระดับเทคโนโลยีทางการเกษตรและอาหาร ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

วันที่ 6 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ระหว่างวันที่ 9-12 ธันวาคม 2565 กลุ่มมิตรผล และบริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด (KKIC) ได้ร่วมมือกับองค์กรเอกชน และภาครัฐ เดินหน้าผลักดัน ‘อีสาน’ ให้เป็นศูนย์กลางสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ภูมิภาคอาเซียน

ผ่านการร่วมจัดงาน “Isan BCG Expo 2022” ภายใต้แนวคิด Collaboration |“ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” งานมหกรรมนวัตกรรมยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอีสานและครั้งแรกในประเทศไทย ณ Khon Kaen Innovation Center จังหวัดขอนแก่น และบริเวณโดยรอบ อาทิ ย่านศรีจันทร์, เทศบาลเมืองนครขอนแก่น, ศาลหลักเมือง, สถานีรถไฟขอนแก่น และถนนไก่ย่าง

การจัดงานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ผ่านโซนต่าง ๆ อาทิ Creative, Innovative และ Green ซึ่งมีเป้าหมายหลักที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอีสาน

ประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีหมุนเวียน และเทคโนโลยีสีเขียว เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ยกระดับเทคโนโลยีทางการเกษตรและอาหาร ตลอดจนการท่องเที่ยวและเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์

นายวีระเจตน์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจน้ำตาลประเทศไทย พลังงาน และธุรกิจใหม่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 65 ปี กลุ่มมิตรผลมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจ ไปพร้อมกับการยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

โดยพัฒนาการทำไร่อ้อยให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืน สนับสนุนปัจจัยการผลิต พัฒนาวิธีการปลูกอ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อีกทั้งมีการก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผล และสถาบันการเรียนรู้มิตรผลฯ เพื่อทำหน้าที่ในการพัฒนาเทคโนโลยี วิธีการบริหารจัดการไร่อ้อยแบบสมัยใหม่ (Mitr Phol Modern Farm) อบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร

โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ทายาทชาวไร่อ้อยให้เป็น Smart Farmer ตลอดจนสร้าง New S-Curve ให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนต่อไป”

ชู SDGs ปั้นเป้าหมายยกระดับชุมชนครัวเรือน

โดยในระดับชุมชนและครัวเรือน กลุ่มมิตรผลได้ดำเนินการพัฒนาชุมชนผ่านตำบลมิตรผลร่วมพัฒนา 21 ตำบล ใน 7 จังหวัด โดยมีกรอบเป้าหมายการทำงานที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) มาโดยตลอด โดยมีเป้าหมายหลัก ได้แก่

1.การจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน มุ่งส่งเสริมและปรับเปลี่ยนวิธีคิด นำไปสู่การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน โดยเน้นการเปิดโอกาสให้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผนการพัฒนาชุมชนจากจุดแข็งและทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ ผ่านการขับเคลื่อนของกลไกคณะกรรมการตำบล รวมถึงมีการจ้างงานผู้พิการในชุมชน เพื่อสนับสนุนโอกาสในการสร้างอาชีพ สร้างคุณค่า ความเท่าเทียม และความภาคภูมิใจให้แก่ผู้

2.การพัฒนาระบบเกษตรชุมชนและอาหารปลอดภัย ที่ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตของชุมชนในหลายด้าน ทั้งการปลูกอยู่ปลูกกิน การแบ่งพื้นที่ทำเกษตรผสมผสาน ลดการพึ่งพิงจากภายนอก มีอาหารที่ปลอดภัยบริโภค รวมถึงสนับสนุนให้ชุมชนมีรายได้เสริมจากการผลิตพืชผักปลอดภัยขายอีกด้วย

3.การพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน ที่ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าบนพื้นฐานของความถนัด ความสามารถ และทรัพยากรของชุมชนที่มีอยู่ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และเงินหมุนเวียน
ในชุมชนอย่างยั่งยืน

4.การพัฒนาด้านการศึกษา โดยเน้นหลักสูตรให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มุ่งเน้นการบ่มเพาะทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self-Learning) และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) เน้นการลงมือทำเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินผ่านโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) จำนวน 8 แห่ง ใน 6 จังหวัด และโครงการพัฒนาวิชาชีพอาชีวศึกษาทวิภาคี จำนวน 4 วิทยาลัย

โดยได้มีการนำแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน เริ่มตั้งแต่การถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล 7 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้ามาใช้บริการในการเรียนรู้และปฏิบัติแล้วกว่า 10,000 คน

รวมไปจนถึงมีการส่งเสริมให้นำแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ อาทิ การสนับสนุนกลุ่มปลูกผัก ซึ่งมีสมาชิก 250 ครัวเรือน มีแหล่งปลูกผัก 19 แห่ง ผ่านการรับรองมาตรฐานผักปลอดภัย (GAP) มีการใช้ปุ๋ยชีวภาพ เตาเผาถ่านน้ำส้มควันไม้เพื่อใช้ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และอยู่ระหว่างพัฒนาสู่มาตรฐานผักอินทรีย์ (PGS)

อีกทั้งได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนโดยใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานรากจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

ตลอดจนพัฒนากระบวนการปลูกผักในโรงเรือนอัจฉริยะเพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต ลดการใช้แรงงานคน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และได้มีการจัดตั้งบริษัท ปลูกเพาะสุข จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้มีตลาดรับซื้อที่มั่นคง

โดยมีการกระจายสินค้าทั้งช่องทางออนไลน์และซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของไทย สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนนับล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ด้วยการสนับสนุนการนำเศษผ้าที่เหลือทิ้งมาเย็บขึ้นรูปใหม่เพื่อขายให้โรงงานใช้ทำความสะอาดเครื่องจักร ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชนรักษาสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบจากปัญหาขยะ ผ่านโครงการกล่องวิเศษ โดยนำกล่องนมมาแปรรูปเป็นหลังคา เพื่อลดปริมาณขยะในโรงเรียน สู่การพัฒนาโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป


“การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ไม่เพียงแต่จะใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมสมัยใหม่ต่าง ๆ เข้ามาช่วยเสริม แต่จะต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือของคนในชุมชนเองที่เรียนรู้การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของชุมชน เพื่อนำมาพัฒนาให้เกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ซึ่งกลุ่มมิตรผลมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนตามหลักสากล รวมถึงเป็นองค์กรต้นแบบที่ดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรม การกำกับดูแลกิจการที่ดี ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” นายวีระเจตน์ กล่าวเสริม