สรท.คาดส่งออกไทย ปี 2566 ขยายตัว 3% ไร้แรงหนุน

การส่งออก ส่งออกไทย
Photo by Paul Teysen on Unsplash

สรท.คาดส่งออกไทย ปี 2566 ขยายตัว 3% หรือมีมูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังไร้แรงสนับสนุน ส่งผลให้ส่งออกชะลอตัว ขณะที่ ส่งออกปี 2565 ขยายตัว 7-8% พร้อมกันนี้ จับมือ ตั้งศูนย์ระงับข้อพิพาทด้านโลจิสติกส์

วันที่ 6 ธันวาคม 2565 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. คาดการณ์การส่งออกรวมปี 2565 ขยายตัวที่ 7-8% หรือมีมูลค่า 290,000-293,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ การส่งออกปี 2566 ขยายตัวที่ 2-3% หรือมีมูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวได้ คือ จีนผ่อนคลายโควิด-19 สินค่าการส่งออกที่ยังเติบโต การส่งออกอาหาร สินค้าเกษตร เป็นต้น

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้ว่าธนาคารกลางได้ออกมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เศรษฐกิจของตลาดหลักเริ่มมีการชะลอตัวลง ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ และวัตถุดิบที่มีราคายังคงมีผันผวน ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน ปุ๋ย เป็นต้น โดยจะส่งผลต่อเนื่องไปยังปีหน้า

อย่างไรก็ดี สรท. มีข้อเสนอแนะที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาติดตามและสนับสนุนในการส่งออก โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนเร็วเกินไปซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขอให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้า (FT) ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือน แบบค่อยเป็นค่อยไป

ขอให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการยกระดับการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สอคคล้องกับนโยบาย BCG ของรัฐบาล และเร่งดำเนินการความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่สำคัญ อาทิ Thai-EU, Thai–UK, Thai-Turkey, RCEP (อินเดีย) และ FTAAP

นายชัยชาญ กล่าวอีกว่า สรท.ยังได้จัดทำ White Paper 2022: CLMVT Connectivity Multimodal Transportation in the Next Normal หรือ “รุกรวดเร็ว รถ-เรือ-ราง-ลิ้งค์” เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและแนวทางการเตรียมความพร้อมโอกาสของโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อใช้ประโยชน์ในการขนส่งสินค้ากระจายสินค้าไปยังเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจของไทยและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMVT โดยใช้การเชื่อมโยงเครือข่ายสำคัญภายในประเทศในลักษณะการขนส่งแบบ Multimodal Transport

อีกทั้งเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจในอนาคต อย่างไรก็ดี White Paper ฉบับนี้จึงได้รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์รายละเอียด เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบต้นทุนในการขนส่งไว้เป็นทางเลือกในการกำหนดรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ทั้งระบบทางราง ทางถนน (บก) และทางน้ำ วิเคราะห์ความท้าทาย โอกาส อุปสรรค ในแต่ละรูปแบบของการขนส่งทางเลือก เพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต

ขณะเดียวกัน สรท.จับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยหน่วยงาน สถาบันอนุญาโตตุลาการ และกรรมการศูนย์ฯ สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย สมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาตไทย และกรรมการศูนย์ฯ จับมือแถลงข่าวการเปิดตัว “ศูนย์ระงับข้อพิพาทด้านโลจิสติกส์ (Thailand Logistics ADR Center: TLAC)” ภายใต้สถาบันอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้บริการระงับข้อพิพาทในกิจกรรมโลจิสติกส์การค้าทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ทั้งในรูปแบบการประนอมข้อพิพาทและการอนุญาโตตุลาการ

โดยคาดว่าในปี 2566 จะสามารถแก้ไขข้อพิพาทระหว่างภาคเอกชนโดยการประนอมและการอนุญาโตตุลาการมูลค่าไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท และช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ส่งออกนำเข้าและผู้ให้บริการโลจิสติกส์ให้มีความต่อเนื่อง ลดต้นทุนและระยะเวลาในการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างกันให้น้อยลง เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น

TLAC จัดตั้งขึ้นภายใต้ ที เอช เอ ซี สถาบันอนุญาโตตุลาการ มีวิสัยทัศน์ คือ “ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์ระงับข้อพิพาททางเลือกชั้นนำด้านโลจิสติกส์ทั้งในและระหว่างประเทศ” ภายใต้พันธกิจสำคัญ ได้แก่

  1. ผลักดันและส่งเสริมให้ธุรกิจโลจสติกส์ของประเทศไทยมีมาตรการที่เป็นมิตรต่อการระงับข้อพิพาททางเลือก
  2. สร้างความรับรู้เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางเลือกและการให้บริการของ TLAC

ให้บริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก ที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ตามระเบียบของการระงับข้อพิพาททางเลือกของ THAC

และมีบริการ 2 ส่วน ได้แก่

  1. การให้บริการด้านคดี อาทิ 1.1) การระงับข้อพิพาทด้วยการประนอม 1.2) การระงับข้อพิพาทด้วยการอนุญาโตตุลาการ 1.3) การระงับข้อพิพาทด้วยช่องทาง Online หรือที่เรียกว่า Talk DD
  2. การให้บริการทางด้านจัดฝึกอบรมและจัดการประชุมสัมมนา อาทิ หลักสูตรอบรมอนุญาโตตุลาการ หลักสูตรอบรมผู้ประนอม หลักสูตรบริหารจัดการความขัดแย้ง เป็นต้น

ทั้งนี้ กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ของ THAC และ TLAC คือ “กระบวนการระงับข้อพิพาทที่คู่กรณีตกลงกันเลือกบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด ข้อพิพาท โดยคู่พิพาทตกลงที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าวนั้น” โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการศาล ซึ่งมีข้อดีที่สำคัญประกอบด้วย

  1. คู่สัญญาเป็นคนเลือกอนุญาโตตุลาการ
  2. อนุญาโตตุลาการจะมีความเชี่ยวชาญที่ตรงกับประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้น
  3. ระยะเวลาในการพิจารณาคดีน้อยกว่า
  4. คู่สัญญามีอำนาจในการกำหนดกระบวนพิจารณาคดีอนุญาโตตุลาการ
  5. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนการต่ำกว่า

กล่าวได้ว่า การใช้บริการระงับข้อพิพาทด้านโลจิสติกส์ภายใต้ TLAC จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ เนื่องจาก

  1. สะดวก รวดเร็ว คุ้มค่า
  2. ให้บริการครบวงจรโดยมืออาชีพ
  3. อิสระและมีมาตรฐานสากล

TLAC ถือเป็นก้าวสำคัญของ THAC ในการให้บริการสำหรับข้อพิพาทด้านโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์การประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2550 ประกอบด้วย

  1. ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการประนอมข้อพิพาทและอนุญาโตตุลาการ
  2. ดําเนินกิจการเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยวิธีประนอมข้อพิพาทและอนุญาโตตุลาการ
  3. ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการประนอมข้อพิพาทและอนุญาโตตุลาการรวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถติดต่อใช้บริการประนอมข้อพิพาท การอนุญาโตตุลาการ ฝึกอบรม และประชุมสัมมนาได้ที่สถาบันอนุญาโตตุลาการ เลขที่ 689 อาคารภิรัชทาวเวอร์ ชั้น 26 ห้างเอ็มควอเทียร์ แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110 หรือติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ อีเมล์. [email protected] โทร. +66(0)2018 1615 เวปไซต์ https://thac.or.th