บริบูรณ์ฟาร์ม รุกทำวิจัย ต่อยอด อะโวคาโด สู่ คอสเมติก

ฐิติรัตน์ ศักดาปรีชา-บริบูรณ์ ศักดาปรีชา
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

การแปรรูปผลผลิตจากการเกษตร เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับเกษตรกรสามารถต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์สู่ตลาดได้หลากหลาย ซึ่งปัจจุบันมักมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุนผ่านโครงการต่าง ๆ

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “ฐิติรัตน์ ศักดาปรีชา” กรรมการผู้จัดการบริษัท บริบูรณ์ฟาร์ม จำกัด อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา อดีตพยาบาลที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการแปรรูป “อะโวคาโด” โดยนำมาสกัดเป็น “น้ำมันซอฟต์เจล” จนได้รับมาตรฐานเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย

เล็งส่งน้ำมันไปมาเลย์

“ฐิติรัตน์” บอกว่าบริบูรณ์ฟาร์มเป็นบริษัทเดียว และบริษัทแรกของประเทศไทย ที่สามารถสกัดและได้ผ่านมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้

ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นในประเทศไทยอีกจำนวนมากยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ส่วนน้ำมันอะโวคาโดที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจจะไม่มีข้อมูลที่แน่นอนว่ามีส่วนผสมหรือสิ่งเจือปนอย่างไรบ้าง สกัดจากสายพันธุ์อะไร

สินค้าของบริบูรณ์ฟาร์มผลิตเอง โดยปลูกและตั้งโรงงานแปรรูปบนเนื้อที่ 10 ไร่ เป็น SMEs ขนาดเล็ก ผลผลิตที่ได้ไม่เพียงพอ ต้องรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรรายอื่นด้วย เช่น อ.พบพระ จ.ตาก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ

ที่ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด แล้วหันมาปลูกอะโวคาโดแทน แต่การปลูกต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของบริบูรณ์ฟาร์ม เพื่อให้ได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ตัวอย่างใน อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ให้ผลผลิตแล้วกว่า 30 ไร่ จากแผนการปลูก 1,000 ไร่

เบื้องต้นผลผลิต 1 ต้นได้สูงสุดถึง 300 กก. หากเหลือจากการขายให้บริบูรณ์ฟาร์ม มีห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัลมารับซื้อต่อ ภายใน 1 ปี บริบูรณ์ฟาร์มใช้ผลอะโวคาโดไม่เกิน 3 ตัน แต่ในอนาคตหากกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น หรือสามารถขยายตลาดได้อีก สามารถเก็บผลผลิตมาสกัดน้ำมันได้ตลอดทั้งปี

บริบูรณ์ ฟาร์ม

ด้านการขายส่วนใหญ่ผ่านออนไลน์กว่า 80% ขายหน้าร้านในงานจัดแสดงสินค้าอีก 20% รายได้รวมเฉลี่ยประมาณ 8-9 แสนบาท/ปี ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2566 จะเติบโตเพิ่ม 30% เพราะกำลังทำตลาดต่างประเทศในเร็ว ๆ นี้ กับลูกค้าชาวมาเลเซียที่พูดคุยกันเบื้องต้นแล้ว โดยมีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้ประสานงานให้ ขณะนี้กำลังรอประเมินมาตรฐานผลิตภัณฑ์ฮาลาล คาดว่าจะส่งออกได้ในปลายปี 2566

รุกตลาด “คอสเมติกส์”

“ฐิติรัตน์” เล่าว่า ที่มาของการทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอะโวคาโด เริ่มต้นมาจากตนเองเคยรับราชการมาก่อน และลาออกช่วงอายุ 45 ปี เพราะมีปัญหาสุขภาพต้องตัดมดลูก ต้องให้ยาเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) นานกว่า 15 ปี จากปกติควรใช้ไม่เกิน 5 ปี ทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

หลังจากนั้นจึงพยายามหาสารอาหารทดแทน ลองผิดลองถูกด้วยการทานผักผลไม้หลายชนิด กระทั่ง 6 ปีก่อนถึงปัจจุบันที่อายุครบ 58 ปี พบว่าอะโวคาโดตอบโจทย์และการสร้างฮอร์โมนทดแทนจึงเริ่มปลูกไว้กินเอง

อะโวคาโดที่ปลูกครั้งแรกรวม 120 ต้น บนเนื้อที่ 10 ไร่ ต้นพันธุ์ราคาประมาณ 500 บาท/ต้น ถือว่าเป็นเจ้าแรกใน อ.วังน้ำเขียว ที่ได้คัดสายพันธุ์แฮสส์ (Hass) มาปลูก เพราะทดลองเปรียบเทียบจากทุกสายพันธุ์ รวมถึงอ่านงานวิจัยจากต่างประเทศแล้วว่าเป็นสายพันธุ์ที่ดีที่สุด ปลูกเป็นกิ่งเสียบยอด ใช้เวลา 3 ปี ให้ผลผลิตสายพันธุ์แท้ ขายทั้งผลสดและแปรรูปได้เพียง 2 เดือน

ช่วงฤดูเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ขณะที่เกษตรกรรายอื่น ๆ มักจะปลูกคละสายพันธุ์ปะปนกันไปขายและไม่มีการแปรรูป

อย่างไรก็ตาม บริบูรณ์ฟาร์มประสบกับปัญหาน้ำท่วมต่อเนื่องในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ได้รับความเสียหายไปกว่า 70 ต้น ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นฟื้นฟูด้วยการปลูกเพิ่มทดแทนส่วนที่เสียหาย และเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีก ตอนนี้ต้นพันธุ์ราคาอยู่ที่ 150 บาท/ต้น ค่อนข้างถูกกว่าในอดีต ขณะเดียวกัน คิดหาวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมในอนาคตด้วยการจัดระบบแบบใหม่ด้วย

“ตอนแรกเราเริ่มปลูกกินเองและขายผลสด แต่เจอปัญหาผลผลิตล้นตลาดขายไม่ออก ถูกกดราคาจากคนพ่อค้าคนกลาง แม้ผลผลิตของเราจะปลอดสารพิษ มีกรดไขมันดี และสารอาหารสูง ฉะนั้น จึงเข้าสู่โครงงานวิจัยสกัดน้ำมันอะโวคาโด

เพื่อเพิ่มมูลค่าการขาย ด้วยการสกัดเป็นน้ำมันซอฟต์เจล และนำมาใช้ในอุตสาหกรรมคอสเมติก แบ่งสัดส่วนการทำเป็นซอฟต์เจลอยู่ที่ 80% ใช้ในอุตสาหกรรมคอสเมติกทำเป็นสบู่สำหรับล้างหน้า 20%”

บริบูรณ์ฟาร์มกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีก โดยใช้น้ำมันอะโวคาโดเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น ครีมกันแดด ครีมบำรุงผิว ลิปปาล์ม แชมพู ครีมนวดผม เป็นต้น

คาดว่าจะได้เห็นปลายปี 2566 นี้ นอกจากนี้ กำลังพัฒนาและวิจัยสกัดสารยับยั้งเซลล์มะเร็งจากเปลือกและเมล็ด เพื่อเพิ่มมูลค่า แทนที่จะนำเปลือกไปทำปุ๋ย พยายามให้กระบวนการทั้งหมดเป็น zero waste และเพิ่มมูลค่าให้มากกว่านี้

แนะต่อยอดผลผลิตพื้นถิ่น

กว่าผลิตภัณฑ์หนึ่งตัวจะสำเร็จออกมาวางขายในตลาดได้อย่างมีมาตรฐาน “ฐิติรัตน์” เล่าว่า ต้องผ่านการวิจัยจากมหาวิทยาลัยกว่า 5 แห่ง เริ่มตั้งแต่

1.โครงการวิจัยสกัดน้ำมันกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน

2.วิจัยต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ซอฟต์เจล กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

3.วิเคราะห์หาคุณประโยชน์ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) 4.วิเคราะห์หาสารต้านเซลล์มะเร็งที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ 5.นำไปตรวจสอบอายุการใช้งานของน้ำมันที่มีคุณภาพกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น

“ฐิติรัตน์” บอกว่า การวิจัยจะส่งไปตามความถนัดของแต่ละมหาวิทยาลัย และทุนสนับสนุนในแต่ละโครงการ จนประสบความสำเร็จเป็นโปรดักต์ที่สามารถขายได้ในปี 2564 และได้รับรางวัลสุดยอดผู้ประกอบการตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภายใต้โครงการพัฒนาผู้ส่งออกรุ่นใหม่ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รางวัล Best Of The Best นักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมของโครงการ จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รวมทั้งรอประกาศผลสุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards (เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์) หลังจากผ่านเข้ารอบเป็น 1 ใน 10 ในปี 2565 ด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของผู้ประกอบการไทยที่พบมากที่สุดคือเรื่องการตลาด อยากแนะนำผู้ประกอบการรุ่นใหม่ว่า ให้ดูเรื่องการแปรรูปสินค้าหรือผลผลิตที่รู้จักดีที่สุด และเป็นผลผลิตในพื้นถิ่นตนเอง พัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างมั่นคง เพราะมักจะมีจุดเด่นที่เราสามารถแข่งขันในตลาดได้ อย่าตามกระแสตลาดที่ไปเร็วมาเร็ว