ครม.ไฟเขียวลงนามเอ็มโอยูไทย-จีน ดันเกษตรแปรรูป-ผลไม้พรีเมี่ยมออนไลน์

ทุเรียน

ครม.ไฟเขียว ลงนาม MOU ความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ดันสินค้าเกษตรแปรรูป-ผลไม้พรีเมี่ยมไทยบุกตลาดออนไลน์จีน

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนกับกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะมีการลงนามในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและสินค้าไทยสามารถเข้าถึงตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนได้

เช่น สินค้าเกษตรแปรรูปและผลไม้พรีเมี่ยมของไทย ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในจีน เป็นต้น ปัจจุบันจีนมีตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่มาก โดยปี 2564 มีมูลค่าการค้าสูงถึง 77.55 ล้านล้านบาท มียอดผู้ซื้อออนไลน์ประมาณ 842.1 ล้านคน

น.ส.รัชดากล่าวว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและกำหนดขอบเขตความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างไทยและจีน ภายใต้ระยะเวลา 3 ปี โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันดำเนินการ ดังนี้ 1.ส่งเสริมการค้าแบบทวิภาคีของสินค้าที่มีคุณภาพสูง อาทิ สินค้าเกษตรแปรรูปหรือผลไม้พรีเมี่ยมของไทย เช่น ทุเรียน มังคุด และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจีน บนช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อขยายตลาดและเพิ่มฐานลูกค้า

น.ส.รัชดากล่าวว่า 2.ร่วมกันพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในด้านการขนส่ง การกระจายสินค้า เช่น การจัดตั้งจุดพักสินค้าของไทยในจีน และการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การจัดทำระบบชำระเงินระหว่างไทยและจีนให้ใช้ร่วมกันได้

3.ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา อาทิ การอบรมสัมมนา การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ หรือการอบรม

4.ร่วมกันร่างแผนปฏิบัติการประจำปีด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่างไทยและจีนอย่างเป็นรูปธรรม

น.ส.รัชดากล่าวว่า การสร้างความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับจีนในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าถึงตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนได้ อย่างไรก็ตาม จีนยังมีต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำกว่าไทยและผู้ประกอบการจีนมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มากกว่า

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้าของไทย ที่ประชุมเห็นควรให้กระทรวงพาณิชย์เตรียมมาตรการรองรับ เช่น เร่งถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้ประกอบการไทย การพัฒนาคุณภาพสินค้าไทยเพื่อแข่งขันกับจีนในตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกำหนดมาตรการในการควบคุมตรวจสอบผู้ประกอบการและสินค้าในตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและคุ้มครองผู้บริโภคของทั้ง 2 ประเทศ