Sun ปั้นที่พันไร่ “สมาร์ทฟาร์มมิ่ง” แตกไลน์ทำโรงแรม

ซันสวีท

“ซันสวีท” กางแผน 5 ปี ปั้น “ไร่ตะวันหวาน” 1,074 ไร่ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ วางแผนขยายพื้นที่ปลูก “ข้าวโพดหวาน-ถั่วลายเสือ” เหตุแนวโน้มดีมานด์ตลาดโลกเพิ่ม หวั่นผลผลิตจากพื้นที่ 1 แสนไร่ไม่พอ พร้อมแตกไลน์ปลูก “ผักสลัด” ส่งร้านซิซซ์เล่อร์ กลุ่มไมเนอร์ ฟู้ด-เซเว่นอีเลฟเว่น-ซูเปอร์มาร์เก็ต ตั้งเป้าเชื่อมโยงทำ “ท่องเที่ยวเชิงเกษตร-เชิงกีฬา” เล็งสร้างโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ดันให้เป็น “แลนด์มาร์ก” จังหวัดเชียงใหม่ภายใน 5 ปี

นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจข้าวโพดหวานอย่างเต็มระบบ โดยเร่งพัฒนาไร่ตะวันหวาน (Sun Valley) บนพื้นที่ 1,074 ไร่ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเงินลงทุนซื้อที่ดินผืนนี้ราว 134 ล้านบาท

ตั้งเป้าให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการเกษตรสมัยใหม่ครบวงจรด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ในการผลิตข้าวโพดหวานและพืชผักปลอดภัย นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ตอบโจทย์เทรนด์อาหารอนาคตของคนทั่วโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเป้าหมายเชื่อมโยงพื้นที่ Sun Valley สู่ภาคการท่องเที่ยว พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และท่องเที่ยวเชิงกีฬา โดยจะพัฒนาให้เป็นรูปธรรมภายใน 5 ปี ผลักดันให้เป็นแลนด์มาร์กของจังหวัดเชียงใหม่

ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ใช้เงินลงทุนราว 20 ล้านบาท ได้แก่ การทำระบบน้ำเพื่อการเกษตร และนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเพาะปลูกอย่างแม่นยำ เช่น drone, เทคโนโลยี lOT sensor, รถปลูกและรถเก็บเกี่ยว และ application ทางการเกษตร เป็นต้น

ซันสวีท

นายองอาจกล่าวว่า แผนการพัฒนาพื้นที่ Sun Valley ในระยะ 5 ปี ประกอบด้วย1.การวางโซนนิ่งปลูกข้าวโพดหวานบนพื้นที่ 400-600 ไร่ รองรับผลผลิตช่วง low season ที่หาวัตถุดิบได้ยาก ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวโพดหวานในภาคเหนือตอนบน มีเกษตรกรในเขตภาคเหนือตอนบนเข้าร่วมโครงการเกษตรพันธสัญญา (contract farming) กับ SUN กว่า 20,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ปลูกราว 100,000 ไร่

ซึ่งผลผลิตอาจไม่เพียงพอกับดีมานด์ข้าวโพดหวานในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น บริษัทจึงต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดหวานเอง 400-600 ไร่ ใน Sun Valley ดังกล่าว เพื่อเติมวัตถุดิบเข้าโรงงานในอนาคต

2.โซนนิ่งปลูกถั่วลายเสือและกลุ่มผักสลัดปลอดภัย บนพื้นที่ 100-300 ไร่ โดยถั่วลายเสือจะป้อนโรงงาน ready to eat เป็นสินค้าขายดี ที่ต้องเตรียมวัตถุดิบให้เพียงพอกับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มผักสลัด รวมถึงมะเขือเทศเชอรี่ เป็นการแตก segment ธุรกิจ เพื่อป้อนผักสดให้กับกลุ่มร้านอาหาร

อาทิ ร้านซิซซ์เล่อร์ของกลุ่มไมเนอร์ ฟู้ด, ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และซูเปอร์มาร์เก็ต ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนนำผักสลัดเข้าสู่ไลน์การผลิต ready to eat “สลัดผัก” บรรจุกล่องพร้อมรับประทาน เป็นสินค้ากลุ่ม healthy food ที่ตอบโจทย์เทรนด์คนรักสุขภาพ

3.โซนนิ่งการท่องเที่ยวเชิงเกษตร Ecotourism Wellness Center และ Sport Tourism ที่จะเชื่อมโยงทั้งระบบเข้าด้วยกันในพื้นที่ Sun Valley กล่าวคือเมื่อโครงการพัฒนาอย่างเต็มระบบ จะเปิดเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ทางการเกษตร

และอบรมบ่มเพาะด้านการเกษตร เป็นศูนย์กลางในการให้บริการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร

ซันสวีท

นอกจากนี้ พื้นที่ Sun Valley ที่ล้อมรอบด้วยผืนป่า โอบล้อมด้วยภูเขา ระบบนิเวศยังคงความอุดมสมบูรณ์ และมีวัดเก่าแก่คือ วัดพระธาตุดอยอุตรพันธ์ ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของ Sun Valley สามารถต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ecotourism) ที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรชุมชน

ขณะเดียวกันก็จะพัฒนาให้เป็น Wellness Center เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พร้อมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (sport tourism) โดยจะสร้างเส้นทางวิ่ง เส้นทางเทรล เส้นทางจักรยาน รองรับเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงกีฬาที่เริ่มขยายตัวมากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทยังมีแผนลงทุนสร้างโรงแรม ลานแคมปิ้ง ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ภายในโครงการด้วย เป็นต้น

นายองอาจกล่าวต่อว่า ในปี 2566 บริษัทตั้งเป้าผลผลิตข้าวโพดหวานเข้าสู่โรงงาน 200,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีผลผลิตอยู่ที่ 120,000 ตัน และตั้งเป้ารายได้ปี 2566 เติบโตเพิ่มขึ้น 10% จากปี 2565 ที่มีรายได้อยู่ที่ราว 2,000 ล้านบาท ขณะที่สินค้ากลุ่ม ready to eat ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าราว 14 ไอเท็ม มีกำลังการผลิตราว 100,000 ชิ้นต่อวัน กล่าวคือในช่วงระยะเวลา 3 ปี มีอัตราการเติบโตของยอดขายสูงถึง 300%

นอกจากนี้ ในปี 2566 บริษัทได้ลงทุนเพิ่ม 125 ล้านบาท เพื่อซื้อหม้อฆ่าเชื้อแบบหมุน (rotary retort) นำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส เป็นหม้อฆ่าเชื้อภายใต้ความดันที่ภายในมีกลไกการหมุนบรรจุภัณฑ์ที่ปิดผนึกสนิท เพื่อเร่งการถ่ายเทความร้อน ทำให้มีการเคลื่อนที่ของอาหารภายในบรรจุภัณฑ์ระหว่างการฆ่าเชื้อ ช่วยลดเวลาในการฆ่าเชื้อ ทำให้อาหารมีคุณภาพดีขึ้น เป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น