“ไข้หวัดนก” ชายแดนจันทบุรี-ตราด เฝ้าระวังเข้ม หลังกัมพูชาพบผู้เสียชีวิต

ปกเรื่อง ด่านชายแดน

ด่านชายแดน “จันทบุรี-ตราด” เฝ้าระวังไข้หวัดนกเข้ม ทั้งคนข้ามแดน-ฟาร์มเลี้ยงไก่-สุกร เผยสถานการณ์จังหวัดเปรยแวง กัมพูชายังตรึงเครียด เหตุกำลังรอดูคนใกล้ชิดเด็กหญิงที่ตาย อาจพบติดไข้หวัดนกเพิ่มอีก 4-5 ราย สธ.เชื่อระบบของไทยที่วางไว้สามารถคัดกรองและป้องกันได้

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 แหล่งข่าวจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 (ชลบุรี) ประจำจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข่าวการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก (H5N1) ในกัมพูชา ที่สามารถแพร่เชื้อจากสัตว์ปีกสู่คนได้นั้น ถือเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีมาตรการควบคุมโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ด่านถาวรบ้านหาดเล็กไม่มีการนำเข้าสินค้าสัตว์ปีก และสุกร ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล

ทั้งนี้ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง จ.เกาะกงที่มีชายแดนติดกับไทย ตอนนี้ทางเกาะกงเองเพิ่มความเข้มงวดกับผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดเปรยแวง ซึ่งมีเด็กติดเชื้อไข้หวัดนก โดยคนที่เดินทางมาจะถูกตรวจอย่างเข้มข้น แม้จะไม่พบเชื้อ แต่จะส่งต่อข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยรับทราบถึงประวัติของคนที่เดินทางมาจากจังหวัดเปรยแวง เพื่อให้ตรวจอย่างเข้มข้นอีกครั้ง หากจะเดินทางข้ามมาฝั่งไทย อย่างไรก็ตาม จังหวัดเปรยแวง ถือว่าอยู่ห่างประเทศไทย เพราะเป็นจังหวัดชายแดนที่ติดกับทางประเทศเวียดนาม

ทางด้าน นสพ.ชาติชาย ยิ้มเครือ ปศุสัตว์ จ.จันทบุรี กล่าวเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดจันทบุรีมีด่าน 2 แห่งที่ติดกับประเทศกัมพูชา คือ ด่านบ้านแหลมและด่านบ้านผักกาด อ.โป่งน้ำร้อน ที่ผ่านมาไม่มีการนำเข้าสัตว์ปีกและสุกรเช่นกัน แต่ได้มีการเฝ้าระวังในพื้นที่ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ และสุกรทำฟาร์มอย่างมีมาตรฐาน

โดยเฉพาะฟาร์มไก่ขนาดใหญ่มีการทำระบบมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (Good Agricultural Practice-) GAP ประมาณ 80% และฟาร์มรายย่อยมีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management-GFM) 20% และมีมาตรการพ่นยาฆ่าเชื้อในสนามตีไก่ตามแนวชายแดน และเก็บตัวอย่างเชื้อจากสัตว์ปีกที่จะเคลื่อนย้ายก่อน 10 วัน ถ้ามีผลเป็นบวกหรือตรวจพบตายผิดปกติจะทำลายไม่ให้แพร่เชื้ออกไป หรือการเก็บตัวอย่างซากนกที่บินข้ามพื้นที่ชายแดนมาตรวจทุกเดือน

“ทางฝั่งกัมพูชาจะมีฟาร์มตะวันออกที่เลี้ยงไก่ เป็นระบบมาตรฐานเพื่อบริโภคเองไม่ได้ข้ามมาซื้อขายฝั่งไทย แต่ต้องเฝ้าระวังเรื่องการติดเชื้อมากับภาชนะ รถบรรทุก แต่สถานการณ์ทั่วไปจันทบุรียังอยู่ในสภาวะปกติ ด้วยความสำคัญของไก่เนื้อที่ไทยส่งออกประมาณ 100,000 ล้านบาท จึงมีมาตรการเข้มข้นในการเฝ้าระวังตลอด โดยเฉพาะช่วงรอยต่ออากาศเปลี่ยนแปลง ถ้าไข้หวัดนกมีการติดต่อสู่คนจะต้องถูกทำลายทั้งฟาร์ม โดยเจ้าของไม่ได้เงินชดเชย” ปศุสัตว์ จ.จันทบุรีกล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากชายแดนทางด้านกัมพูชา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดเปรยแวงที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนก ยังมีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนในครอบครัวของผู้เสียชีวิต อาจจะมีคนติดเชื้อไข้หวัดนกเพิ่มขึ้นอีก 4-5 รายที่อยู่ใกล้ชิดกัน

วันเดียวกัน ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีมีรายงานพบเด็กชาวกัมพูชาเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนก ว่า สำหรับรายงานข่าวพบผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 ที่ประเทศกัมพูชา เป็นเด็กหญิงอายุ 11 ขวบ อาศัยอยู่ในจังหวัดไพรแวง ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกัมพูชา โดยอาการมีไข้ เจ็บคอ อาการทางเดินหายใจ พบป่วยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ และเสียชีวิตในช่วง 2 วันที่ผ่านมา

ล่าสุดเมื่อเช้านี้พบว่า บิดาของเด็กหญิงรายนี้ติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการ จึงต้องติดตามอาการต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม กัมพูชาได้แจ้งกับองค์การอนามัยโลกว่าขณะนี้พบผู้ป่วยไข้หวัดนก 2 ราย และแจ้งต่อประเทศอื่น ๆ แล้ว ที่ผ่านมามีรายงานในประเทศอื่นเช่นกัน อย่างปลายปี 2565 ประเทศเวียดนาม พบเด็กเสียชีวิตจากไข้หวัดนก 1 ราย ซึ่งจากการติดตามการระบาดของโรคพบว่า ส่วนใหญ่ติดมาจากสัตว์ปีกที่มีเชื้อไข้หวัดนกมาก่อน ซึ่งความเสี่ยงยังพบในกลุ่มเด็ก เพราะมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ปีกโดยไม่ได้ระมัดระวัง

“ประเทศไทยไม่เจอไข้หวัดนกมาตั้งแต่ปี 2549 หรือ 16 ปีแล้ว คนส่วนใหญ่รู้จักโรคนี้ และด้วยประสบการณ์ของเรา ระบบที่เราวางไว้ก็จะสามารถคัดกรอง ป้องกันได้ ซึ่งโรงพยาบาลต่าง ๆ ก็ยังคงมีระบบเฝ้าระวังเช่นเดิม สิ่งที่เป็นความเสี่ยง คือ การลักลอบนำเข้าสัตว์ปีกตามชายแดน ขอประชาชนงดนำสัตว์ปีกเข้ามาในไทย ซึ่งมีกฎหมายควบคุมอยู่” นพ.โสภณกล่าว และว่า


ส่วนคนที่กลับมาจากประเทศที่มีการพบโรคมีการระบาด ขอให้สังเกตอาการตัวเอง หากมีไข้ หรืออาการทางเดินหายใจ เจ็บคอ มีน้ำมูกให้พบแพทย์ รวมทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือก็ยังช่วยป้องกันได้