
“เอลนีโญ” ทำราคาข้าวเปลือกภาคใต้พุ่ง 10,000 บาทต่อตัน ขณะที่ข้าวพันธุ์พื้นเมืองสังข์หยดทะลุ 15,000-16,000 บาท/ตัน เหตุภัยแล้ง น้ำเค็มหนุนทะเลสาบสงขลา กระทบการปลูกทั้งข้าวนาปรัง-นาปี ชี้ปริมาณผลผลิตข้าวน้อย แนวโน้มราคาจะดีต่อเนื่องถึงปีหน้า
นายนัด อ่อนแก้ว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ชาวนาในพื้นที่มีความกังวลเรื่องน้ำแล้ง จากภาวะเอลนีโญ ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ ทำให้ช่วงนี้แม้จะเป็นฤดูข้าวนาปี โดยปกติจะลงหว่านข้าวประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการหว่านข้าวทำนา เพราะกำลังรอดูสถานการณ์น้ำ
- พระราชทานอภัยโทษ คดีทักษิณ ที่มาวาระอันเป็นมงคล วโรกาสสำคัญ
- หมอธีระวัฒน์ ชี้ งานวิจัยระบุ ชอบกินเนื้อสัตว์เสี่ยงตาย ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกาย ไม่ช่วย
- พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี
โดยหลายคนเกรงว่าหากหว่านข้าวลงไปแล้วจะได้รับความเสียหายและขาดทุน ดังนั้นทิศทางการทำนาปี 2566 ในพื้นที่ อ.ควนขนุน ตั้งแต่ ต.ทะเลน้อย ต.พนางตุง ต.ปันแต น่าจะมีปริมาณผลผลิตน้อย จะส่งผลให้แนวโน้มราคาข้าวขาวน่าจะปรับตัวถึง 10,000 บาทต่อตัน และคาดว่าราคาข้าวจะดีต่อเนื่องไปถึงปี 2567
“ตอนนี้มีฝนตกอยู่บ้าง แต่น้ำยังไม่พอในการทำนา และน้ำในทะเลน้อยแห้งเมื่อฝนตกลงมาน้อย เส้นทางน้ำในคลองส่งน้ำแห้งขอด เพราะส่งน้ำจากทะเลสาบสงขลาเข้ามาทะเลน้อยไม่ได้ ยกเว้นฝนตกลมพัดแรงน้ำจากทะเลหลวง ทะเลสาบสงขลา จะหนุนเข้ามาทะเลน้อย แล้วดันน้ำเข้าคลอง และทางส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่ทำนา”
นายนัดกล่าวต่อไปว่า ชาวนาในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง ทำนาทั้งนาปรังและนาปี ปี 2566 มองดูภาวะข้าวราคาค่อนข้างดี และจะดีไปถึงปี 2567 โดยข้าวนาปรังช่วงต้นฤดูราคาประมาณ 7,000 บาทต่อตัน และล่าสุดทยอยปรับขึ้นมาอยู่ที่ 9,000 บาทต่อตัน
ส่วนข้าวพื้นเมือง เช่น ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ช่วงต้นฤดูราคาประมาณ 12,000 บาทต่อตัน ตอนนี้ปรับขึ้นมาที่ประมาณ 15,000-16,000 บาทต่อตัน เนื่องจากช่วงหลังปริมาณข้าวเหลือน้อย ราคาจึงปรับตัวขึ้นมา จึงเป็นเรื่องปกติของการค้า”
นายสมปอง เกตุนิ่ม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ ข้าว ต.ควนขนุน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ทางกลุ่มเฝ้าระวังปัญหาภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญ โดยวางแผนรองรับในการบริหารจัดการน้ำ โดยลดพื้นที่การทำนาลงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ จากพื้นที่ของสมาชิกทั้งหมดในกลุ่ม 691 ไร่ และจัดสรรน้ำเป็นไปตามคิว โดยเฉพาะพื้นที่นาดอน ส่วนพื้นที่นาลุ่มไม่น่าจะมีอุปสรรค
ทั้งนี้ ชาวนาในกลุ่มเริ่มทำนาปี โดยลงหว่านกล้ามาประมาณ 2 เดือน โดยปลูกข้าวหอมสายพันธุ์ อาร์เจ. 22 ซึ่งเป็นข้าวหอมเมล็ดยาวเนื้อนุ่ม โดยตั้งราคาอยู่ที่ 9,000 บาท/ตัน จากเดิมตั้งอยู่ที่ 8,500 บาท และทิศทางราคาจะปรับตัวขึ้นถึง 10,000 บาท/ตัน เพราะจากปริมาณข้าวน้อย อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ในตลาดมีความต้องการข้าวสูง ทั้งข้าว กข. 79 กข. 49 และ กข. 55
แหล่งข่าวจากกลุ่มทำการค้าพืชผลทางการเกษตรเปิดเผยว่า ขณะนี้ทางโรงสีข้าวที่เป็นคู่ค้าแจ้งว่าราคาข้าวได้ปรับตัวขึ้นมาประมาณ 2 เดือนแล้วจากภาวะแนวโน้มเอลนีโญ จะทำให้ชาวนาบางพื้นที่ขาดแคลนน้ำไม่สามารถปลูกข้าวได้ เมื่อผลผลิตข้าวลดลงมีแนวโน้มราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากโรงสีจะมีการแข่งขันแย่งกันซื้อข้าวเปลือก
นายสมศักดิ์ พานิช ประธานชมรมโรงสีข้าวระโนด และเจ้าของโรงสีข้าวทิพย์พานิช อ.ระโนด จ.สงขลา เปิดเผยว่า สถานการณ์ข้าวได้ทยอยปรับตัวขึ้นจาก 7,500 บาท/ตัน เป็น 9,500-10,000 บาท/ตัน แม้ว่าราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น แต่ปัจจัยการผลิตในการทำนาทุกตัวปรับตัวสูงขึ้นมากเช่นกัน เช่น ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช วัชพืช
และที่น่ากังวลคือภาวะเอลนีโญที่มีการพยากรณ์ว่าจะเกิดภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อการทำนาในแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อ.ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ สิงหนคร โดยน้ำทะเลจะเกิดความเค็มจนไม่สามารถทำนาได้ ซึ่งตอนนี้น้ำเค็มได้หนุนเข้ามาถึงเกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา แล้ว
ในขณะที่ข้าวนาปรังหว่านไปแล้วประมาณ 1 เดือน และใช้เวลาประมาณ 3 เดือนครึ่งจะเก็บเกี่ยว ถ้าน้ำเค็มหนุนขึ้นมาภายในเดือนสิงหาคม ข้าวที่กำลังตั้งท้อง ขาดน้ำจะสร้างความเสียหาย ประสบภาวะขาดทุนมาก ตั้งแต่ต้นทุนการเตรียมดินเพาะปลูก น้ำมัน ยา ปุ๋ย ซึ่งปีนี้คาดการณ์ว่ามีการทำนาปรังประมาณ 50,000 ไร่ จากพื้นที่ทำนากว่า 100,000 ไร่
“ส่วนข้าวนาปีก็ต้องรอสถานการณ์น้ำฝนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2566 ไปจนเดือนมกราคม 2567 ว่าฝนจะตกลงมาหนักจนทำให้น้ำเค็มเจือจางหรือไม่ แต่หากเกิดภาวะเอลนีโญฝนแล้ง ทะเลสาบสงขลาน้ำจะเค็มจัด ก็ไม่สามารถใช้น้ำทำนาปีได้”
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ทะเลสาบสงขลาระบบชลประทานดีมาก แต่พบมีอุปสรรคมากเรื่องน้ำเค็ม ต้องแก้โดยขุดลอกร่องน้ำที่ตื้นเขินให้ลึก ปัญหาน้ำเค็มทำให้ตอนนี้นาข้าว 15-20% ถูกแปรรูปไปเป็นสวนปาล์มน้ำมัน เพราะรายได้ดีกว่าทำนาข้าว และจะมีน้ำใช้ได้ตลอดปี เพราะปาล์มน้ำมันจะใช้ได้ทั้งน้ำเค็มและน้ำจืด
รายงานข่าวจากสมาคมโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ รายงานผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี 2564/65 ว่า จ.พัทลุง เนื้อที่ปลูกจำนวน 110,788.41 ไร่ จ.สงขลา จำนวน 122,070.18 ไร่ และ จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 179,333.37 ไร่