
เจ้าของโรงแรมนอกระบบ 2,000 แห่งได้เฮ ! กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ยกร่างใหม่ ไม่ต้องทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดประกาศใช้ เม.ย. 2567 คลายกฎข้อบังคับลดพื้นที่ว่างในอาคาร 30% “พัทยา-เชียงใหม่” รอต่อไป เพราะประกาศยังไม่ครบอายุ “เชียงใหม่” เร่งผลักดันแก้ไขกฎหมายผังเมือง
จากรัฐบาล คสช.มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว เป้าหมายเพื่อการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยให้กระทรวงมหาดไทยปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้ผู้ประกอบการที่นำอาคารประเภทต่าง ๆ มาทำเป็นโรงแรมที่พักแบบไม่ถูกต้อง ตาม พ.ร.บ.โรงแรม ซึ่งทำมาก่อนวันที่ 19 สิงหาคม 2559 สามารถขอใบอนุญาตให้โรงแรมดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายได้ โดยขยายระยะเวลาไปถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2568 เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายต้องใช้เวลา และเกิดสถานการณ์โควิด-19 จึงให้เวลาผู้ประกอบการปรับปรุงอาคารให้แล้วเสร็จและทันเวลา จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 18 สิงหาคม 2567 ที่จะถึงนี้
โดยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 และวันที่ 14 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติผ่อนปรนให้ที่พักบูติคและโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตที่อยู่นอกระบบ หรือไม่มีใบอนุญาต สามารถเร่งดำเนินการตามกฎหมายโรงแรมที่ออกมาใหม่ 3 ฉบับ ได้แก่ กฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ 4), กฎกระทรวงกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2566 และกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2566 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566
กฎหมายที่ใช้ประกอบกับลักษณะอาคารที่ไม่ใช่โรงแรม ซึ่งเป็นสถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักไม่เกิน 8 ห้อง และมีจำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 30 คน หากปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 สามารถขอใบอนุญาตได้นั้น แต่ที่ผ่านมา ที่พักบูติคและโรงแรมขนาดเล็กยังไม่สามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ตามกฎกระทรวงที่ผ่อนปรนให้ เนื่องจากยังติดปัญหาประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกฎหมายผังเมืองรวมของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันไป
ภูเก็ตยกร่าง สวล.ใหม่
นางวิรินทร์ตรา ปภากิจยศพัฒน์ ผู้บริหารบริษัท นิกร มารีน กรุ๊ป จำกัด ผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวรายใหญ่ของจังหวัดภูเก็ต ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เขต 11 (ภูเก็ต พังงา กระบี่) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังอยู่ระหว่างจัดทำร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่ และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ…(ฉบับใหม่)
เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กในจังหวัดภูเก็ตที่เดิมติดเงื่อนไขตามประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ ฉบับเดิม พ.ศ. 2560 ที่กำหนด ถ้าโรงแรมใดมีห้องพักเกิน 29 ห้องขึ้นไป ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โดยในร่างประกาศฉบับใหม่ได้ขยายจำนวนห้องพักเป็นเกิน 49 ห้องขึ้นไปถึงทำ IEE
รวมถึงประเด็นเดิมที่กำหนดอาคารโรงแรมต้องมีพื้นที่ว่าง 30% ของอาคารสาธารณะ โดยในร่างประกาศฉบับใหม่ได้ลดเกณฑ์เรื่องพื้นที่ว่างให้ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กไปปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2566 ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ได้ผ่อนปรนเงื่อนไขต่าง ๆ ให้กับโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตแล้ว
ทั้งนี้ ปัจจุบันร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ ฉบับดังกล่าว ได้ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างกระบวนการนำเสนอที่ประชุม ครม.เพื่อรับทราบ คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในเดือนเมษายน 2567 นี้
ต้อนบูติค 8 ห้องเข้าระบบ
นายชินวัฒน์ อุดมนิยม นายกสมาคมที่พักบูติกภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางสมาคมที่พักบูติคภูเก็ต ซึ่งส่วนใหญ่สถานที่พักไม่เกิน 8 ห้อง และจำนวนผู้พักรวมกันไม่เกิน 30 คน ได้จัดตั้งทีมงานขึ้นมาช่วยสมาชิกของสมาคมที่เหลืออยู่ประมาณ 210 แห่ง ในการปรับปรุงอาคารที่พักต่าง ๆ ให้ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายใหม่กำหนด หลังจากนั้นจะเข้าไปช่วยตรวจสอบและรับรองในเบื้องต้น ก่อนจะให้สมาชิกส่งเอกสารและวางแผนให้ทางอำเภอและทางจังหวัดจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบความปลอดภัยต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย เพื่อช่วยให้ผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากทางราชการเองมีเจ้าหน้าที่จำกัด
“ขณะนี้ในส่วนอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่พักไม่เกิน 8 ห้อง ผู้พักรวมกันไม่เกิน 30 คน ได้เร่งยื่นเอกสารผ่านระบบออนไลน์เป็นการเร่งด่วน เพื่อเข้ากระบวนการเตรียมนำเสนอขอใบอนุญาตต่อนายทะเบียนโรงแรมจังหวัด ดังนั้น ทางสมาคมเร่งให้สมาชิกรีบดำเนินการ หากมีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย จะทำให้กิจการที่พักบูติคสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสถาบันการเงินต่าง ๆ รวมถึงได้รับสิทธิต่าง ๆ ของทางราชการได้”
ทั้งนี้ ได้ประเมินกันว่าการขยายเวลาให้ปรับปรุงอาคารและยื่นใบอนุญาตทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 18 สิงหาคม 2568 อาจจะไม่ทัน เพราะเจ้าหน้าที่มีจำกัด และต้องไปตรวจโรงแรมขนาดเล็กอีกประมาณ 2,000 แห่งในจังหวัดภูเก็ต ดังนั้น เมื่อใกล้ระยะเวลาคงต้องขอขยายระยะเวลากันออกไปอีก
หลายจังหวัดยังไม่ปลดล็อก
นายมโนสิทธิ์ แจ้งจบ ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ประธานฝ่ายยุทธศาสตร์ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางจังหวัดภูเก็ตได้รับการแก้ไขประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ…(ฉบับใหม่) เนื่องจากประกาศฉบับเก่าหมดอายุลงพอดีปี 2560-2565 แต่จังหวัดอื่นยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2563 กำหนดอายุใช้บังคับ 5 ปี ซึ่งแนวทางการแก้ไขคงล้อไปตามจังหวัดภูเก็ต
ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ยังติดกฎหมายผังเมืองรวม ซึ่งต้องแก้ไขเฉพาะพื้นที่ต่างกันไป ซึ่งที่ผ่านมาพยายามผลักดันช่วยกันในทุกจังหวัดผ่านคณะกรรมการชุดต่าง ๆ รวมถึงกรรมาธิการการท่องเที่ยว
พัทยาเร่ง EIA ก่อนหมดเวลา
นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี นายกสมาพันธ์ท่องเที่ยวชลบุรีกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริบทของจังหวัดชลบุรีแตกต่างจากภูเก็ต โดยโรงแรมในจังหวัดชลบุรีที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์และได้รับใบอนุญาตโรงแรม ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมขนาดเกิน 79 ห้อง และต้องเข้าเกณฑ์ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดให้ต้องทำ IEE และ EIA ซึ่งตอนนี้เหลือระยะเวลาอีกเพียง 1 ปีจะหมดเวลายื่นขอใบอนุญาต คือ 18 สิงหาคม 2568 ขณะที่ประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ ของพื้นที่จังหวัดชลบุรีจะหมดอายุปี 2568 เช่นกัน
ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการได้รับใบอนุญาตถูกต้องคงต้องทำ IEE และ EIA ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 8 เดือน เพื่อให้ทันเวลา
“บริบทของเมืองพัทยากับภูเก็ตนั้นต่างกันมาก ภูเก็ตส่วนใหญ่จะเป็นอาคารที่ดัดแปลงมาจากตึกแถวหรืออาคารพาณิชย์มาทำเป็นที่พัก และโรงแรมขนาดเล็ก แต่เราสร้างเป็นโรงแรมโดยเฉพาะ ดังนั้น ตอนนี้ต้องเร่งทำตามกฎหมายที่ผ่อนปรนให้ก่อน ปัจจุบันจังหวัดชลบุรีมีโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายรวมทั้งหมดประมาณ 350-400 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้สามารถแยกออกมาเฉพาะ อ.บางละมุง ซึ่งรวมถึงเมืองพัทยาด้วยรวม 260 แห่ง ส่วนที่เหลือทั้งจังหวัดอีก 2 แสนห้องยังไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม”