ทุเรียนปีนี้ผลผลิตแค่ 50% ล้งจีนแย่งซื้อ ดันราคาพุ่งโลละ 280-320 บาท

ล้งทุเรียน

ล้ง-ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก คาดปีนี้อากาศแปรปรวน น้ำน้อยผลผลิตออกต่ำกว่าปกติ 50% ล้ง 1,200 รายแย่งซื้อทำสัญญาเหมาสวนล่วงหน้า ดันราคาทุเรียนกระดุมพุ่ง 320 บาท/กก. หมอนทองสูงสุด 280 บาท/กก. เผยตลาดจีนดีมานด์ยังสูงยอดขายเติบโต ติดใจรสชาติเกรด AB เนื้อดี คุณภาพสูง

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจสวนผลไม้ภาคตะวันออกเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ทุเรียนภาคตะวันออก 3 จังหวัด คือ จันทบุรี ระยอง ตราด ปี 2567 มีหลายปัจจัยที่น่าห่วงกังวล ทั้งสภาพอากาศแปรปรวน ภัยแล้ง น้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงถึง 50% สวนทางกับการประเมินของภาครัฐที่คาดว่าจะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 6.05%

ล้ง 1,000 แห่งแย่งซื้อทุเรียน

“เกษตรกรและล้งหลายคนกังวลช่วงเดือนเมษายนเกรงจะมีปัญหาน้ำไม่เพียงพอ เสี่ยงที่ผลผลิตจะเสียหายจากภาวะภัยแล้ง แต่ผลผลิตที่ลดลงจะทำให้ราคาทุเรียนสูง ยิ่งมีล้งหน้าใหม่กว่า 1,000 ราย จะทำให้เกิดการแย่งซื้อผลผลิตส่งตลาดจีน และแห่วิ่งทำสัญญาเหมาสวนให้ราคาเกรด AB แต่เวลาผลผลิตออกจริงคุณภาพไม่ได้เกรด AB บางครั้งถูกปัดตกเกรด บางรายเบี้ยวฉีกสัญญาทิ้ง ทำให้ตอนนี้ชาวสวนระมัดระวังในการทำสัญญาล่วงหน้า” แหล่งข่าวระบุ

อย่างไรก็ตาม สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 (สสก.3) ประเมินว่า ทุเรียนจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยมีการประเมินรอบแรก 7 ธันวาคม 2566 ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น 15% จากเนื้อที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และจากการประเมินรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 คาดว่าปี 2567 ปริมาณผลผลิตรวม 823,898 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 776,914 ตัน เพิ่มขึ้น 46,984 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 6.05% และจะมีการประเมินรอบที่ 3 ในเดือนมีนาคม

โดยทุเรียนจะออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนกรกฎาคม กระจุกตัวมากที่สุดเดือนพฤษภาคม จากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตลดลง แต่มีเนื้อที่ให้ผลที่เพิ่มขึ้นทั้ง 3 จังหวัด จึงทำให้ปริมาณโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ขณะเดียวกันบรรดาชาวสวนรายใหญ่และล้ง ประเมินตรงกันข้ามกับส่วนราชการโดยระบุว่า จำนวนผลผลิตทุเรียนปีนี้น่าจะลดลง 40-50% เพราะทุเรียนที่ติดดอกเป็นผลน้อยลง และทุเรียนมีการออกผลผลิตกระจาย 3-4 รุ่นต่อต้น และผลผลิตรุ่นสุดท้ายอยู่ในช่วงเดือนเมษายนอาจจะเสียหายจากการขาดน้ำอีก

ผลผลิตน้อยราคาพุ่ง 300-320 บาท/กก.

นายณัฐกฤษฎ์ โอฬารหิรัญรักษ์ รองนายกสมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย-จีน และเจ้าของล้งทุเรียนใน จ.จันทบุรี และ จ.ชุมพร เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2567 คาดการณ์ว่าผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกอาจจะหายไปถึง 50% จากสภาพอากาศที่แปรปรวน จากเดิมในเดือนกุมภาพันธ์จะเริ่มเห็นลูกทุเรียนแล้ว แต่ล่าสุดยังไม่มีดอก

อีกทั้งตลาดทุเรียนไทยในจีนมีอัตราการเติบโตสูง ตลาดมีความต้องการมาก และได้รับความเชื่อมั่นเรื่องคุณภาพดี รสชาติอร่อย ทำให้ในปีนี้มีล้งเพิ่มมากขึ้นถึง 400 โกดัง ตอนนี้มีล้งในภาคตะวันออกกว่า 1,200 โกดัง ทั้งล้งคนจีนรุ่นใหม่ ๆ และล้งจีนเจ้าของเดิมที่ขยายสาขาเพิ่มขึ้น จึงมีการแข่งขันกันซื้อทุเรียน ส่งผลจะทำให้ราคาทุเรียนสูงขึ้น ถึงกิโลกรัมละ 300-400 บาท

“ทุเรียนภาคตะวันออกสามารถทำราคาขายได้ราคาแพง ล้งก็กล้าซื้อเพราะมีกำไร แต่ถ้าคุณภาพทุเรียนไม่ดี ล้งซื้อแล้วขาดทุน ทำต่อไม่ได้ ชาวสวนต้องช่วยกัน ด้วยการรณรงค์ ไม่แก่อย่าให้ตัด ให้ชาวจีนเชื่อมั่นคุณภาพทุเรียนไทยให้นานที่สุด”

นายณัฐกฤษฎ์กล่าวว่า ล้งจะทยอยเปิดรับซื้อทุเรียนรุ่น 1 ในเดือนมีนาคม แต่จะมีเปิดรับซื้อไม่กี่ล้งเพราะทุเรียนจำนวนน้อย โดยขนส่งไปทางเครื่องบิน และตู้คอนเทนเนอร์ทางบก ราคาเหมาพันธุ์กระดุม ประมาณ 300 บาท/กิโลกรัม ส่วนพันธุ์หมอนทองยังไม่เปิดราคา ปีนี้ทุเรียนออกช้า ผลผลิตที่จะออกเดือนเมษายน ต้องไปแข่งขันกับทุเรียนจากเวียดนาม

ทุเรียนออกต่ำกว่าเดิม 50%

ด้านนายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา เจ้าของเพจ “ทำสวนเอาเงิน ไม่ได้เอาเงินทำสวน” และเจ้าของสวนทุเรียนใน จ.จันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ประเมินสถานการณ์ทุเรียนยาก มีทั้งออกหลายรุ่น และที่ไม่แน่ใจว่าจะออกผลผลิตหรือไม่ ผลผลิตชาวสวนหายไปตั้งแต่ 10-50%

เจ้าของสวนรายนี้บอกว่า ข้อดีคือปริมาณทุเรียนไม่มากและทุเรียนมีกระจายถึง 4 รุ่น จากปกติมีเพียง 2 รุ่น ราคาน่าจะดีตลอดฤดูกาล สอดคล้องกับล้งที่เพิ่มขึ้นมีทั้งล้งชาวจีนที่สร้างใหม่และล้งเจ้าเดิมที่ขยายสาขาตามออร์เดอร์ ทำให้ราคาทุเรียนเพิ่มขึ้นตั้งแต่เริ่มเปิดฤดูในเดือนมีนาคม ราคาเหมาพันธุ์กระดุมกิโลกรัมละ 300 บาท หมอนทอง 220-230 บาท

“ล้งใหญ่จะไม่เร่งรีบซื้อทำสัญญาเหมา มีเพราะมีปัจจัยเสี่ยงสูง ทุเรียนมีน้อยและกระจายออกถึง 4 รุ่น มีปริมาณไม่มากพอที่จะส่งออกต่อเนื่องได้ แต่ล้งมือใหม่ก็เกรงว่าจะไม่ได้ซื้อทุเรียนไว้ในมือ จึงรีบทำสัญญาในราคาสูง โดยเฉพาะเกรด AB ซึ่งมีผลผลิตน้อย”

ชาวสวนยืนยันทุเรียนออกน้อย

ทางด้านเกษตรกรใน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ผลผลิตน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากทุเรียนไม่ค่อยออกดอก จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป จะมีผลผลิตประมาณ 50-60% ของพื้นที่ คาดว่าราคาจะดี ตอนนี้ล้งเปิดรับซื้อทุเรียนหมอนทองที่ราคา 220-250 บาท

สอดคล้องกับความเห็นของนายโกวิทย์ บุญวาที เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียน ต.อ่าวใหญ่ อ.เมืองตราด จ.ตราด ที่ระบุว่า ปีนี้ผลผลิตของสวนลดลงเล็กน้อย 10% แต่มีบางแห่งลดลงถึง 50% เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนอย่างหนักในปีนี้

“ตอนนี้มีพ่อค้ามาเหมาสวนกันแล้ว เปิดราคารับซื้อ กก.ละ 320 บาท และรุ่น 3 เป็นรุ่นเดือนมีนาคม-เมษายน ต่อด้วยพันธุ์หมอนทองที่มีปริมาณมาก พ่อค้าเริ่มเข้าดูสวนและให้ราคา กก. 280 บาท/กก.”

ทางด้านนางศรีนวล แดงตะนุ เจ้าของสวนทุเรียนอีกรายหนึ่งกล่าวเพิ่มเติมว่า “ความนิยมของตลาดจีนยังคงเป็นหมอนทอง และเชื่อมั่นทุเรียนภาคตะวันออกของไทยมาก ปีนี้ผลผลิตใน ต.อ่าวใหญ่ น่าจะลดลงถึง 50% มีน้อยแปลงที่จะได้ผลผลิต 80-100% และทุเรียนออกล่าช้าไปเป็นเดือนเมษายน

ข้อมูลประเมินทุเรียนภาคตะวันออกล่าสุด โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 (สสก.3) จังหวัดระยอง เมื่อ 23 มกราคม 2567 สรุปสถานการณ์การผลิตทุเรียน 3 จังหวัดของภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) ปี 2567 มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 685,485 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 635,984 ไร่ (เพิ่มขึ้น 49,501 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 7.78) เนื้อที่ให้ผล รวม 424,729 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 390,177 ไร่ (เพิ่มขึ้น 34,552 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8.86)

เนื่องจากมีต้นทุเรียนที่ปลูกในปี 2562 เริ่มให้ผลผลิตในปี 2567 ได้เป็นปีแรกเพิ่มขึ้น ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,940 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,991 กิโลกรัม (ลดลง 51 กิโลกรัม -2- คิดเป็นร้อยละ 2.56) ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลง เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน

สำหรับประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออก ฤดูกาล 2567 (จันทบุรี ตราด ระยอง) ทุเรียนพันธุ์กระดุม วันที่ 15 เมษายน 2567 ทุเรียนพันธุ์พวงมณี/ชะนี วันที่ 5 พฤษภาคม 2567 ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง วันที่ 20 พฤษภาคม 2567