ผู้ส่งออกทุเรียนไทยระส่ำหวั่นมาร์เก็ตแชร์ “จีน” ต่ำกว่า 50%

ส่งออกทุเรียน

เพียง 1 ปีครึ่งที่รัฐบาลจีนอนุญาตให้เวียดนามส่งทุเรียนผลสดเข้าไปขายได้ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 จากที่ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่ส่งทุเรียนผลสดเข้าไปขายได้ วันนี้ภาพที่ปรากฏชัด ปี 2566 ประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกทุเรียนไปตลาดจีนเพิ่มขึ้น 88% มูลค่าเพิ่มขึ้น 81% เพราะภาพรวมจีนมีการนำเข้าทุเรียนผลสดเพิ่มขึ้น

แต่อย่าดีใจไป ! เพราะหากพิจารณาส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ทุเรียนไทยในตลาดจีนจากปี 2565 อยู่ที่ 95% แต่ปี 2566 ลดเหลือ 65% และผู้ส่งออกหลายคนกังวลว่า ทุเรียนไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนต่ำกว่า 50% เพราะในเวลาอันใกล้นี้มาเลเซีย และกัมพูชา กำลังเร่งปลูกทุเรียนเพื่อส่งออกไปตลาดจีน ขณะที่เกษตรกรไทยกำลังปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเช่นกัน

สถิติศุลกากรแห่งชาติจีนปี 2566 มีปริมาณนำเข้าทุเรียนสด 1,425,923 ตัน คิดเป็นมูลค่า 6,716 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้น 72.87% (ปี 2565 ปริมาณนำเข้า 824,871 ตัน) และมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้น 65.56% จากการอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสด จาก 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ อันดับที่ 1 ไทย ปริมาณนำเข้า 928,976 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4,566 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 65.15% ของปริมาณนำเข้าทุเรียนสดทั้งหมดของจีนโดยปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้น 18.49% (ปี 2565 ปริมาณนำเข้า 784,010 ตัน)

อันดับที่ 2 เวียดนาม ปริมาณนำเข้า 493,183 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,137 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 34.59% ของปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดทั้งหมดของจีน โดยปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้น 1,107% (ปี 2565 ปริมาณนำเข้า 40,861 ตัน โดยมีการนำเข้าตั้งแต่เดือนกันยายน 2565)

และอันดับที่ 3 ฟิลิปปินส์ ปริมาณนำเข้า 3,763 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 13 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 0.26% ของปริมาณนำเข้าทุเรียนสดทั้งหมดของจีน

ปี’66 มาร์เก็ตแชร์ในจีน 65%

นายภานุศักดิ์ สายพานิช ประธานที่ปรึกษาสมาคมทุเรียนไทยและอดีตนายกสมาคมทุเรียนไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเสียส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ทุเรียนไทยในตลาดจีน จาก 95% เหลือ 65% ในปี 2566 เพราะคู่แข่งขันเพิ่มขึ้น

จากนี้ไปต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอย่างเข้มข้น ไม่เช่นนั้นอาจจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่า 50% คาดว่าปี 2567 ทุเรียนผลสดของมาเลเซียจะนำเข้าจีนได้ ซึ่งไทยต้องแข่งขันกับทุเรียนพันธุ์มูซังคิง, โอวฉี่ (หนามดำ) จากที่ต้องแข่งกับพันธุ์หมอนทอง รีเสา (Ri6) ของเวียดนามแล้ว และจะตามมาด้วยทุเรียนกัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว ที่คาดว่าจะมีการนำเข้าเป็นลำดับต่อไป

“ส่วนแบ่งการตลาดทุเรียนไทยในจีนโอกาสต่ำกว่า 50% ถ้าดูสัดส่วนทุเรียนเวียดนามปี 2565 ที่มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 5% เพิ่มขึ้นเป็น 35% ในปี 2566 ไทยลดลงจาก 95% เหลือ 65% ถ้าทุเรียนไทยจะอยู่ในตลาดจีนให้ได้อย่างยั่งยืน ไม่ให้เหมือนกับที่เวียดนามชนะการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกไป สิ่งที่ต้องเร่งทำไม่ใช่เฉพาะทุเรียน เป็นผลไม้รวมอื่น ๆ ด้วย เช่น ลำไย มังคุด คือ 1) ทำคุณภาพ มาตรฐาน เพื่อรักษาตลาดจีนที่เป็นตลาดหลักและความพึงพอใจของลูกค้าต่อไป

2) การจัดการระบบการขนส่งที่สะดวก การตรวจปิดตู้รวดเร็วไม่ให้ของเสียหาย และเคลียร์ด่านปลายทางไม่ให้กระจุกตัว โดยเฉพาะช่วงที่มีผลผลิตมาก และ 3) การรักษาภาพลักษณ์ แบรนด์ทุเรียนไทย ต้องทำประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้น” นายภานุศักดิ์กล่าว

จี้รัฐอัดงบฯ PR เจาะตลาดจีน

นายภานุศักดิ์กล่าวต่อไปว่า หากเทียบมูลค่าทุเรียนไทยยอดขายกว่าแสนล้านบาท แต่การทำการตลาดน้อยมาก ลำพังภาคเอกชนไม่มีเงินลงทุนจำนวนมาก หน่วยงานภาครัฐควรแบ่งงบประมาณมาช่วยโปรโมตทุเรียนไทยเหมือนการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ดูรัฐบาลมาเลเซียโปรโมตมูซังคิง สร้างกระแสขึ้นอันดับ 1 ได้ จีนเป็นตลาดหลักสำคัญของไทยส่งออก 95-98% ต้องรักษาไว้

อย่างไรก็ดี ปี 2566 ส่วนแบ่งตลาดลดลง แต่ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 88% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 81% ที่ผ่านมาการหาตลาดใหม่มีไม่ถึง 1% การโปรโมตต้องเน้นคุณภาพ เพื่อให้ได้ราคาสูง เพราะต้นทุนไทยสูงกว่าเวียดนามแข่งขันราคาไม่ได้ เมื่อทุเรียนไทยมีคุณภาพรสชาติอร่อย เป็นของดีต้องสร้างการรับรู้ ไม่เช่นนั้น คนจะรู้จักมูซังคิงมากกว่า

“ปี 2567 ควรเร่งทำตลาดดึงคนจีนมาบริโภคทุเรียนไทย ที่ผ่านมาการทำอีเวนต์เป็นกลุ่มเดิม ๆ หรือการจับคู่ธุรกิจ ที่คำนึงถึง KPI บางครั้งเป็นการคาดการณ์ตัวเลข ไม่ใช่จุดที่จะทำตลาดได้จริง การทำตลาดจำเป็นต้องเข้าถึงเป้าหมายกลุ่มใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ 70-80%

ไม่ใช่แค่ทำคอนเทนต์ ต้องสร้างกระแสสร้างอิมแพ็กต์ในโลกโซเชียลให้เป็นไวรัล ต้องให้มืออาชีพมาทำลงเว็บโซเชียลอันดับ 1 ของจีน เช่น เวยป๋อ (Weibo) ที่ใช้กันมาก ใช้อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ที่มีคนติดตามจำนวนมาก มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมาโปรโมต ทำให้คนอยากเข้าไปดู หรือจ้างดารา เน็ตไอดอลที่ชอบทานทุเรียน เช่น ลิซ่า (ลลิษา มโนบาล) หรือแจ็กสัน หวัง เพื่อสร้างกระแสการบริโภคทุเรียนไทยฟีเวอร์”

ราคาดี 240-290 บาท/กก.

นายณัฐกฤษฎ์ โฮฬารหิรัญรักษ์ รองนายกสมาคมการค้าธุรกิจไทยจีน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2567 คาดว่าการแข่งขันในการรับซื้อผลผลิตทุเรียนจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ใน จ.จันทบุรี ที่มีอยู่ 800 กว่าแห่ง เพิ่มขึ้นอีก 400 แห่ง รวมเป็น 1,200 แห่ง

โดยฤดูทุเรียนภาคตะวันออกปีนี้เริ่มประมาณเดือนมีนาคม 2567 เนื่องจากผลผลิตออกช้า แต่ปัจจุบันที่มีการประกาศราคารับซื้อทุเรียนสูงถึง กก.ละ 240-290 บาท เป็นทุเรียนหลงฤดูของภาคตะวันออก และทุเรียนนอกฤดูทางภาคใต้ (หรือ “ทุเรียนทวาย”) ซึ่งมีปริมาณน้อย

ขณะที่ทุเรียนเวียดนามตอนนี้มีปริมาณน้อยเช่นเดียวกัน แต่ตลาดยังมีความต้องการส่งออกวันละ 10 กว่าตู้ ประกอบกับเป็นช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน ทำให้ราคาพุ่งขึ้นไปสูงมาก แต่คาดว่าราคาจะไม่สูงต่อเนื่องถึงเดือนมีนาคม ส่วนแนวโน้มราคาทุเรียนปี 2567 ดีแน่นอน เพราะผลผลิตไม่มาก และสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ยังคาดการณ์ผลผลิตไม่ได้

“ในฐานะผู้ซื้อที่มีล้งอยู่ในจันทบุรี 5 แห่ง รับรองว่าไม่มีการฮั้วราคากันอย่างแน่นอน เพราะต้องแย่งกันซื้อ ตลาดจีนยังมีความสำคัญ การหาตลาดใหม่ยาก ต้องรักษาตลาดจีนไว้ ขอให้ชาวสวนทำทุเรียนคุณภาพ เพราะเวียดนามหายใจรดต้นคอไทยแล้ว ปีนี้คาดว่าทุเรียนจะมีกระจุกตัวช่วงเดือนพฤษภาคม หน่วยงานภาครัฐควรเตรียมเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ ในช่วงที่ทุเรียนส่งออกมาก เพื่อให้การตรวจปล่อยตู้ขนส่งได้รวดเร็ว รวมทั้งปัญหาใบรับรอง GAP ให้เพียงพอ”

“ล้ง” ทำราคาที่ดินชุมพรพุ่ง

นายดำรงศักดิ์ สินศักดิ์ เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวน จ.ชุมพร และอุปนายกสมาคมไม้ผล จ.ชุมพร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาทุเรียนภาคใต้สูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2567 สูงสุด หมอนทองหนามเขียว AB จากราคา 203 บาท/กก. ตอนนี้ 270-290 บาท/กก. ราคาหน้าสวน สูงถึง 220 บาท/กก.

คาดว่าราคาจะดีไปถึงต้นเดือนเมษายน เพราะทุเรียนภาคตะวันออกยังไม่ออก คาดว่าปี 2567 มีแนวโน้มในทางที่ดี เดิมชุมพรมีล้งคนจีนอยู่ 500 กว่าแห่ง คนไทยมี 100 แห่ง

“ราคาทุเรียนที่สูงถึง 270-290 บาท/กก. ต้องมีปริมาณ 10 ตันขึ้นไป หรือประมาณ 3,000 ลูก เพื่อให้เพียงพอบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ได้ ถ้ามีเพียง 1,000 ลูก ราคาลดลง 240-250 บาท ตอนนี้ทุเรียนเหลือน้อย 3-5% คาดทุเรียนภาคใต้ปี 2567 มีแนวโน้มที่ดี จากการเข้ามาลงทุนของล้งในจังหวัดชุมพร เพิ่มขึ้นอีก 30-40 ล้ง เป็นล้งคนจีน ทำให้วงการซื้อ-ขายที่ดินเป็นไปอย่าคึกคัก ราคาพุ่งจาก 1-2 ล้านบาท/ไร่ ขึ้นไป 4-5 ล้าน/ไร่ และคนจีนเข้ามาหาที่ดินทำสวนทุเรียน 100-200 ไร่”