
เปิดเบื้องลึก Blue Tree Phuket ทำไม “ยุติกิจการ” รู้จัก “เจ้าของตัวจริง” แล้วจะหนาว !
วันที่ 23 มิถุนายน 2567 หลายคนตกใจกับการออกแถลงการณ์ประกาศของ “เพจ Blue Tree Phuket” เพื่อปรับแผนธุรกิจและยุติการให้บริการ Blue Tree Lagoon ธุรกิจสวนน้ำ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักวานนี้ (22 มิ.ย. 67) หลังเปิดดำเนินการมาประมาณ 5 ปี
ในขณะที่สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตออกมาฟันธงชัดเจนว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดกำลังบูมสุดขีด โดยตัวเลขรายได้ ณ สิ้นปี 2567 มากกว่า 4 แสนล้านบาท หรือมากกว่า ช่วงก่อนเกิดโควิด ปี 2562 ด้วยซ้ำ
จึงเกิดคำถามมากมายสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงธุรกิจของจังหวัดภูเก็ต
“ประชาชาติธุรกิจ” ตามไปเจาะเบื้องลึกเบื้องหลัง ค้นพบข้อมูลที่ตื่นเต้นยิ่งกว่า
ยุติกิจการธุรกิจหลัก Blue Tree Lagoon
โดย Blue Tree Phuket ระบุว่า ขอเรียนแจ้งการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจครั้งสำคัญ รวมถึงการตัดสินใจยุติการให้บริการ Blue Tree Lagoon โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้การพิจารณารูปแบบการดำเนินงานอย่างรอบคอบ และความมุ่งมั่นของบริษัทที่จะตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของผู้ใช้บริการ
แม้ว่า Blue Tree จะมีวิสัยทัศน์อันแนวแน่และได้ลงทุนเป็นจำนวนไม่น้อยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต นับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการเมื่อปี 2562 แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของผู้ใช้บริการ ส่งผลให้บริษัทจำเป็นต้องตัดสินใจปรับเปลี่ยนโครงสร้างและทิศทางการดำเนินธุรกิจครั้งสำคัญ ซึ่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างนี้ทำให้เราจำเป็นต้องยุติการว่าจ้างบุคลากรกว่า 70% ของจำนวนบุคลากรปัจจุบัน
บริษัทตระหนักเป็นอย่างดีถึงผลกระทบอันรุนแรงของการตัดสินใจดังกล่าวที่จะส่งผลต่อกลุ่มบุคลากร ซึ่งล้วนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์อันน่าจดจำให้แก่ครอบครัว และนักท่องเที่ยวที่ Blue Tree Phuket ตลอดระยะเวลาการให้บริการ ด้วยเหตุนี้ บริษัทฯจึงมีความตั้งใจที่จะให้การสนับสนุนแก่พนักงานทั้งหมดอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ Blue Tree จึงเตรียมปรับรูปแบบการดำเนินงานสู่แนวคิดใหม่ที่มุ่งเน้นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับบริการด้านสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต ไปจนถึงการเชื่อมต่อทางสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งผู้อาศัยในพื้นที่และนักท่องเที่ยว
ยังเปิดบริการพื้นที่ให้เช่า
ในแถลงการณ์ชี้แจงว่า แม้ Blue Tree Lagoon จะยุติการให้บริการ แต่พื้นที่อื่น ๆ ภายใน Blue Tree Phuket จะยังคงเปิดให้บริการตามปกติ ทางบริษัทจึงใครขอเชิญชวนแขกผู้มีเกียรติทุกท่านร่วมพักผ่อน และเพลิดเพลินไปกับกิจกรรมต่าง ๆ ของเรา ตลอดจนร่วมติดตามการเปิดตัวสิ่งอำนวยความสะดวกที่ปรับโฉมภายในโซน Lifestyle Village อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในครั้งนี้
โดยเตรียมพร้อมนนำเสนอกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับครอบครัว ทั้งการชอปปิ้ง ร้านอาหาร และพื้นที่กิจกรรมอื่นๆ สำหรับทุกคนในครอบครัว ซึ่งรวมไปถึงร้านเสื้อผ้า กิจกรรมออกกำลังกายต่างๆ อาทิ ยูโด มวยไทย พร้อมพื้นที่กลางแจ้งสำหรับจัดแสดงคอนเสิร์ต ซึ่ง Lifestyle Village นี้จะกลายเป็นจุดหมายปลายทางแห่งใหม่สำหรับทุกคน
บริษัทขอขอบคุณอย่างยิ่งต่อความเข้าใจและการสนับสนุนจากแขกผู้มีอุปการะคุณและพันธมิตรทุกท่านในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้
ย้อนรอยเปิดตัวกุมภาพันธ์ 2562
ช่วงเดือนสิงหาคม 2561 โครงการบลูทรี ภูเก็ต ดำเนินธุรกิจผ่าน “บริษัท ไพเรท เกิร์ล จำกัด” ได้ให้ข่าวกับสื่อมวลชนถึงการลงทุนมูลค่ากว่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1,200 ล้านบาท สำหรับพัฒนาโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ บนพื้นที่ 140 ไร่ใน อ.ถลาง เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์กใหม่แห่งการพักผ่อนและแหล่งความบันเทิงครบวงจรแห่งแรกในจังหวัดภูเก็ต
โดยจะเปิดให้บริการเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ตั้งเป้าในปีแรกของการเปิดให้บริการนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาใช้บริการประมาณ 5,000 คนต่อวัน หรือประมาณ 1.5 ล้านคนต่อปี
โครงการบลูทรี ภูเก็ต มีส่วนของธุรกิจหลักคือ โครงการ “บลูทรี ลากูน” มหาสมุทรสไตล์ลากูนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นสวนน้ำและศูนย์รวมความบันเทิงครบวงจรสำหรับครอบครัว โดยเฟสแรกบริษัทได้พัฒนาขึ้นบนพื้นที่รวม 70 ไร่ ประกอบด้วย 6 โซนหลัก ๆ ประกอบด้วย
1.Retail ซึ่งจะเป็นส่วนของร้านค้าต่าง ๆ หลากหลายกว่า 70 ร้านค้า รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ต และบันเทิง
2.Dining Destination เป็นโซนร้านอาหารทั้งอาหารไทยและอาหารนานาชาติจากทั่วโลก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกรวม 17 ร้านอาหาร รวมถึงโซนร้านอาหารที่เป็นฟู้ดทรักและสตรีตฟู้ดอีกจำนวนหนึ่งด้วย
3.Beach Club เป็นโซนที่สามารถเชื่อมต่อกับโซนร้านค้าและร้านอาหารได้ โซนนี้เป็นอาคาร 4 ชั้น ประกอบด้วยร้านอาหาร เครื่องดื่ม บริการตลาดทั้งวัน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมบันเทิงได้
4.Blue Tree Lagoon ซึ่งเป็นส่วนตรงกลางของโครงการ เป็นสวนน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นมาบนพื้นที่ 17,000 ตารางเมตร และเป็นศูนย์รวมที่ทุกคนในครอบครัวมาร่วมสนุกสนาน
5.Lagoon Activities ส่วนของสวนน้ำและความบันเทิงที่มากกว่าสวนน้ำทั่วไป มีสไลเดอร์ความสูงตั้งแต่ 1-10 เมตร และมีโซนสำหรับเด็ก รวมถึงสลิปฟลาย สแปลชโซน รวมถึงกิจกรรมทางบกอีกหลากหลายชนิด
และ 6.Fitness สำหรับเป็นฟิตเนสเซ็นเตอร์สำหรับคนรักสุขภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถรองรับกลุ่มลูกค้าได้ทุกกลุ่มอย่างแท้จริง
5 ปีจะปิดถาวร-เปลี่ยนมือ-หรือไปต่อ
หลังจากเพจ Blue Tree Phuket ออกประกาศแถลงการณ์ว่า เพื่อปรับแผนธุรกิจและยุติการให้บริการ Blue Tree Lagoon ธุรกิจสวนน้ำ ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก
คนนอกวงการอาจจะมองสิ่งแรกว่า “ธุรกิจคงมีปัญหาเรื่องเงินทุนแน่ ๆ” แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้น !
แหล่งข่าวในจังหวัดภูเก็ตหลายคนให้ข้อมูลกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ตรงกันว่า เบื้องหลังกลุ่มทุน “ไพเรท เกิร์ล”เจ้าของโครงการบลูทรี ภูเก็ต คือ ลูกสาวเจ้าของนาฬิกาแบรนด์ดังที่แพงที่สุดในโลก “Patek Philippe หรือ ปาเต็ก ฟิลิปป์ นั่นเอง ! ดังนั้นเรื่องปัญหาขาดสภาพคล่องตัดทิ้งไป !
“เท่าที่ทราบโครงการนี้เกิดจากการที่ลูกสาวของนาฬิกาแบรนด์ดังมาเที่ยวจังหวัดภูเก็ตแล้วชอบจึงบอกคนขับรถว่า อยากซื้อที่ดินลงทุน เงินลงทุน 1,200 ล้านบาท แค่ขายนาฬิกาไม่กี่เรือนก็ได้เงินมาลงทุน” แหล่งข่าวกล่าวและว่า
สำหรับเหตุผลการปิดกิจการ ยังไม่ทราบชัดเจน แต่เท่าที่ทราบ Blue Tree ออกอาการส่อว่ามี “ปัญหาการบริหารงานภายใน” มาอย่างต่อเนื่อง จากการเปลี่ยนตัวผู้บริหารชุดใหม่มาหลายครั้ง และต้องเติมเม็ดเงินเข้ามาเรื่อย ๆ ทั้งที่มีคนเข้ามาใช้บริการมากมาย ซึ่งเจ้าของตัวจริงคงมีกิจการมากมาย ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง ดังนั้น การปิดกิจการครั้งนี้จึงยังไม่รู้ว่า จะขายกิจการ หรือจะหาผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาดำเนินงานต่อ
“ตอนนี้ยังไม่ทราบว่า กลุ่มไพเรท เกิร์ล จะเดินหน้าทำธุรกิจต่อในภูเก็ต หรือยุติถาวร คนรวยระดับโลก ไม่ได้โง่นะ เวลาเขาดีดลูกคิดทำอะไร ต้องคุ้มกับเม็ดที่ลงไป แต่ลง 1,200 ล้านบาท แล้วยังต้องเติมเงินอีกกเรื่อย ๆ คงไม่ไหวนะ แต่หากขายกิจการตอนนี้ ก็ได้กำไรมหาศาล เฉพาะที่ดินราคาพุ่งขึ้นหลายเท่าตัว ที่ดิน 140 ไร่วันนี้ขายได้หลายพันล้านบาท เพราะตอนนี้ที่ดินละแวกนั้นขายกันราคาประมาณ 30-40 ล้านบาทต่อไร่” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวอีกฝากหนึ่งให้ข้อมูลว่า มีข่าวว่า อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงการลงทุนไปทำธุรกิจโรงแรม หรือกิจการอย่างอื่น คงต้องติดตามกันต่อไป แต่พนักงาน 300 คนคงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะตอนนี้หลายธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยวภายในจังหวัดภูเก็ตยังขาดบุคลากร ที่พร้อมรับเข้าทำงาน